ดีแทค พร้อมตั้งโครงข่าย 2300MHz เมื่อสัญญาทีโอทีพร้อมให้บริการได้ทันที

ทีโอทีจับมือดีแทคพร้อมให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะนำเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง 4G LTE-TDD มาให้บริการในเมืองไทย โดยทีโอทีมั่นใจว่าด้วยความร่วมมือนี้จะช่วยให้เกิดการต่อยอดไปได้มาก ทั้งในส่วนของลูกค้าดีแทคที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้งาน และในส่วนของประชาชนในที่ห่างไกล จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟไร้สายได้ครอบคลุมมากขึ้น

โดยดีแทคเตรียมที่จะลงทุนด้านการวางเครือข่ายแล้ว แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ทีโอทีก็ให้คำมั่นว่าจะทำให้ขั้นตอนการเซ็นสัญญาเร็วที่สุด เพราะคลื่นความถี่นี้จะหมดอายุลงในปี 2068 เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ภายใต้การดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และกฏเกณฑ์

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวว่าแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจโดยการพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง 4G LTE-TDD ที่มีจุดเด่นอยู่ช่องสัญญาณที่กว้างถึง 60 MHz สามารถให้บริการดาวน์โหลดได้ถึง 300 Mbps

ด้วยจุดเด่นนี้จะทำให้ผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรสัดส่วนช่วงคลื่นการรับและส่งข้อมูลตามพฤติกรรมการใช้งาน ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนิยมดาวน์โหลดข้อมูลและวิดีโอ มากกว่าอัปโหลด และด้วยเทคโนโลยี LTE-TDD นี้จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่องสัญญาณเพื่อรองรับการดาวน์โหลดให้มากกว่าช่องสัญญาณอัปโหลด ซึ่งหากผู้ใช้งานเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ผู้ให้บริการก็สามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรช่องสัญญาณได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ จากรายงานของ GSMA Intelligence ระบุว่า  LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดของเทคโนโลยี LTE-TDD จะเพิ่มขึ้นเป็น  22% ของการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี LTE ทั้งหมดทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563

“ส่วนคำถามที่ว่าคลื่นมีอายุสัมปทานถึงปี 2568 การจับมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่ ทีโอทีมั่นใจว่าการที่ดีแทคต้องลงทุนสร้างเครือข่ายและมีค่าตอบแทนให้กับทีโอที เขาต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว ใน 60% ที่นำไปใช้ ส่วนอีก 40% นั้นในจำนวนนี้ 20% ทีโอทีจะมีบริการโมบายอยู่แล้วก็จะนำมาเสริมในเรื่องนี้ ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะทำฟิกซ์ไวร์เลสบอร์ดแบรนด์ เพื่อซัพพอร์ตประชากรในพื้นที่ห่างไกล ให้คนที่อยู่ชายขอบได้ใช้งาน ในส่วนหลังนี้แม้จะไม่มีรายได้มากนัก แต่ก็สามารถสร้างอีโคโนมิคแวร์ลูได้ดี”

มนต์ชัย กล่าวว่า ส่วนการที่มีข้อกังวลว่า กสทช.จะมีการเรียกคืนคลื่นหรือไม่นั้น ต้องถามก่อนว่า กสทช.จะเรียกคืนคลื่นนี้เพราะเหตุเหตุใด ซึ่งที่ผ่านมาทีโอทีใช้คลื่นนี้กับบริการทางไกลชนบทมาก่อน ตอนนี้ขอเปลี่ยนการใช้งาน ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วประเทศให้มากขึ้น และเป็นการสนับสนุนนโยบายของกสทช. ที่จะขยายโอกาสให้ประชาชนได้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายมากขึ้น

ส่วนด้านกฏหมายมีมาตรา 46 ที่กำหนดให้ผู้ใช้งานต้องทำเอง และพรบ.ร่วมลงทุนนั้น ซึ่งในส่วนของโมเดลที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้ให้สิทธิใคร 100% เพราะแม้จะให้ดีแทคใช้ แต่ทีโอทีก็จะใช้เองด้วย รวมไปถึงอาจจะมีการให้บริการเอ็นวีเอ็นโอที่จะสามารถแบ่งให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มาเข้าร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีคนของทีโอทีกับดีแทคมานั่งร่างสัญญาร่วมกันแล้ว พอได้ร่างสัญญาก็จะให้บอร์ด และจะส่งต่อไปให้กสทช. และสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาต่อไป

มนต์ชัย กล่าวว่า ทั้งนี้กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ ทีโอที เช่าใช้งานโดย ทีโอที จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเอง และจะให้บริษัทในกลุ่มฯ ใช้บริการ และบมจ.ทีโอทีจะมีรายได้ ปีละ 4,510 ล้านบาทจากการใช้งานโครงข่ายร้อยละ 60 ของดีแทค

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า การนำคลื่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะเน็ตเวิร์กที่เราจะโรลเอาต์นี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่จะสามารถพัฒนาให้บริการในด้านอื่นๆ ได้อีกมาก  ซึ่งเมื่อดีแทคและทีโอทีสามารถบรรลุกระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจได้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยขยายโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ของประเทศ สามารถสนับสนุนแผนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมทั้งยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

“ดีแทคเริ่มทำการการโรลเอาท์เสาสัญญาณ 2300 MHz แล้ว และเมื่อสัญญาเสร็จก็จะสามารถให้บริการได้ทันที เช่นเดียวกับที่ผ่านมาที่ดีแทคได้เตรียมการด้านเครือข่ายไว้พร้อมทุกอย่างแล้วแม้ว่าคลื่น 1800 จะหมดสัมปทานในปีหน้าแต่ลูกค้าก็จะได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เมื่อเราได้คลื่นที่สร้างโอกาสให้กับเราเพิ่มก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการเพิ่มบริการที่ดีให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ”

ลาร์ส กล่าวว่า สำหรับการได้คลื่นแบบโลว์แบนด์หรือไฮแบนด์นั้น ไม่ใช่ปัญหาในการให้บริการ เพราะเราได้เตรียมพร้อมไว้ทุกรูปแบบอยู่แล้ว ซึ่งการได้คลื่น 2300 MHz นี้ดีแทคก็ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะนำดีไวซ์ที่จะมาซัพพอร์ตคลื่นนี้ไว้อยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงดีแทคโฟนที่มีไว้รองรับด้วย จึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

โดยในปีที่ผ่านมาดีแทคได้ลงทุนด้านเครือข่ายไปในปีที่แล้ว 20,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 17,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้จะเริ่มให้บริการคลื่น 2300 MHz ได้ หากการเซ็นสัญญาเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2560 นี้