ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ สะท้อนตัวตนผ่านคลาสิกคาร์และเรือนเวลาสุดอมตะ

ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ได้รับการยกย่องในแวดวงไอทีบ้านเราว่า เป็นหนึ่งในนักการตลาดไอทีรุ่นใหม่ฝีมือเฉียบของวงการ ภาพที่เราคุ้นเคยสำหรับหนุ่มคนนี้ คือผู้บริหารที่มุ่งมั่นกับการทำงานในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำงานเมื่อไหร่ เขาก็ไม่ลืมที่จะพักผ่อนและใช้เวลาทั้งหมดไปกับรถ ของสะสมสุดโปรด ซึ่งเจ้าตัวออกตัวว่าขลุกอยู่กับรถได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ

แม้ว่าจะโลดแล่นและคลุกคลีอยู่ในวงการไอทีมานานกว่า 12 ปี แต่ในเรื่องของไลฟ์สไตล์กับตรงข้ามกันสุด ๆ สำหรับ ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ที่รักและหลงใหลความคลาสสิกเป็นชีวิตจิตใจ เห็นได้จากของสะสมสุดรักอย่างคลาสสิกคาร์ และนาฬิกาเรือนงามซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า

“จริง ๆ ผมเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ แต่ซีเรียสในเรื่องของการทำงานพอสมควร เวลาทำงานจะค่อนข้างจริงจังและใส่ใจในรายละเอียด แต่ถ้าเป็นช่วงรีแล็กซ์ก็จะใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับรถ เพราะผมเป็นคนชอบรถ สะสมและศึกษามาตั้งแต่เด็ก ๆ ดังนั้นเวลาว่างนอกจากไปเที่ยวก็คือสะสมรถและนาฬิกา

คำว่าสะสมของผมต่างจากคนอื่น สะสมสำหรับคนอื่นคือซื้อเก็บให้มีปริมาณเยอะขึ้น แต่คำว่าสะสมของผมคือการศึกษาสตอรี่ที่มาที่ไปของตัวรถแต่ละคัน และด้วยความชอบทำให้เราสามารถไปขลุกอยู่กับมันได้ทั้งวัน ผมสามารถเข้าไปนั่งอยู่ที่อู่ได้ทั้งวันโดยไม่มีเบื่อ เวลาผมไปต่างประเทศ ผมจะชอบเข้าไปเดินหาอะไหล่รถยนต์รุ่นเก่า ๆ เพราะเมืองไทยไม่มีขาย”

สำหรับรถที่ณัฐวุฒิเลือกสะสมคือเบนซ์ โดยคันแรกที่เข้ามาอยู่ในคอเล็กชันคือ เบนซ์ 4 ประตูรุ่น 230E ปี 1978 (W123) ซึ่งเป็นรุ่นที่ณัฐวุฒิเคยนั่งและใฝ่ฝันจะลองขับมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะหลงใหลในความแข็งแรงทนทานและดีไซน์ที่ดูเป็นอมตะ ไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา ต่างจากเบนซ์รุ่นใหม่ ๆ ที่ขาดเอกลักษณ์ตรงนี้ไป

ส่วนคันล่าสุด คือ SL55AMG (R129) ที่ลงทุนสั่งตรงมาจากเมืองนอกทั้งคัน เป็นรถยนต์ในฝันในวัยเด็กอีกคันที่เจ้าตัวตั้งใจไว้ว่าสักวันนึงเราต้องหารถรุ่นนี้มาขับให้ได้และในที่สุด เขาก็สามารถตามหาจนเจอและยังคงขับเป็นประจำอีกด้วย
จบจากรถมาต่อกันที่นาฬิกา โดย 2 แบรนด์โปรดที่ณัฐวุฒิเลือกสะสมคือ Franck Muller และ A.Lange & S?hne
ส่วนนาฬิกาเรือนแรกของณัฐวุฒิคือ Rolex ที่คุณพ่อซื้อให้ตอนสมัยเรียน เมื่อมีโอกาสไปต่างประเทศ ณัฐวุฒิมักจะหาเวลาเดินดูนาฬิการุ่นแปลก ๆ แต่เขาจะเลือกซื้อเฉพาะรุ่นที่ต้องการจะเก็บเท่านั้น ส่วนมากเป็นจะรุ่นเก่าซึ่งปัจจุบันมีสะสมกว่า 40 เรือน

“จริง ๆ ที่ผมชอบนาฬิกาผมมองว่าสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันคือเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผ่านแล้วผ่านเลยไม่สามารถเก็บหรือเอากลับมาได้ มันเป็นศิลปะเป็นอะไรที่ดูแล้วไม่มีเบื่อ มีความเป็นอมตะไม่เหมือนกับสินค้าแฟชั่นหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ นาฬิกายังมีฟันเฟืองเล็ก ๆ อยู่ข้างใน ผมจะชอบเปรียบเทียบว่าเวลาทำงานเราจะมีทีมงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่อยู่ในนาฬิกา ซึ่งนาฬิกาจะเดินได้ดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ฟันเฟืองเหล่านี้ ผมจะชอบคุยกับน้อง ๆ ทุกคนว่าอย่ามองว่าเราเป็นจุดเล็ก ๆ ในองค์กร เพราะจุดเล็ก ๆ นี้ถ้าเสียหรือไม่มีองค์กรก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน”

ในส่วนของการทำงานนั้นในฐานะของผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เขามองว่า ระยะเวลา 8-9 ที่ผ่านมา อินเตอร์ลิ้งค์มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด นั่นเพราะอินเตอร์ลิ้งค์มีรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งหลัก ๆ คือความคล่องตัวในการทำงาน

“ที่นี่เป็นองค์กรใหญ่ แต่ขั้นตอนการทำงานค่อนข้างเร็ว เพราะสายการบังคับบัญชาค่อนข้างสั้น และ CEO เป็นคนเปิดกว้างในการทำงาน ดังนั้นถ้าเราต้องการดันโปรเจ็กต์อะไรสักอย่าง เราสามารถ Defence กับ CEO ได้และจบ ณ ตอนนั้นได้เลย ทำให้ 8-9 ปีที่ผมอยู่ที่อินเตอร์ลิ้งค์ ทำให้องค์กรเติบโตที่ 10-20% ทุกปี”

แน่นอนว่าทุกรูปแบบของการบริหารจัดการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือสินค้าของอินเตอร์ลิ้งค์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ส่งผลให้การทำการตลาดค่อนข้างยาก หน้าที่หลักของณัฐวุฒิคือการดูแลภาพรวมในฝั่งของมาร์เก็ตติ้ง ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องตอบโจทย์ให้ได้คือจะทำยังไงให้บริษัทมียอดเติบโตสูงขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันยังมีการแข่งขันทางด้านราคาที่ค่อนสูง

“อันนี้ก็เป็นโจทย์ทุก ๆ ปีที่เราต้องวางแผน ซึ่งค่อนข้างยาก เราจะทำยังไงให้บริษัทมันโตอันนี้เป็นจุดหลัก เพราะโพรดักต์ที่เราขายเป็นโพรดักต์ IT Infrastructure เป็นสินค้าที่หลายคนมองว่าไม่จำเป็นแต่เราจะทำยังไงให้มันกลายเป็นสินค้าที่จำเป็น นี่คือโจทย์ที่เราต้องตอบ”

ดังนั้น สิ่งที่อินเตอร์ลิ้งค์พยายามทำคือสร้างแบรนด์อะแวร์เนส สร้างแบรนด์เพอร์เซฟชั่นให้ลูกค้าคิดถึง LINK เป็นแบรนด์แรกเมื่อต้องการสินค้าทั้ง Online และ Offline ทางด้านสัญญาณ ผ่านการให้ความรู้ การทำตลาด รวมถึงการทำโปรโมชันเข้ามาช่วยเพื่อเสริมให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้

“นโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาลทำให้อินเตอร์ลิ้งค์ถูกมองในแง่ของมือโปร ทำให้สามารถเติบโตได้อีกเพราะเราขายในสิ่งที่จำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สิ่งที่เราพยายามต้องทำคือต้องทำยังก็ได้ให้ยูสเซอร์ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในแบรนด์ และทำยังไงก็ได้ให้เราสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้

เพราะปณิธานหลักของอินเตอร์ลิ้งค์เลยคือ สินค้า เราต้องมีคุณภาพ ราคาถูกกว่า และบริการต้องดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นจุดที่ยากมากเพราะการที่จะทำให้ราคาถูกกว่าคนอื่นในขณะที่คุณภาพไม่ลด ซึ่งก็ต้องหันมากลับมาลดต้นทุนในส่วนอื่น รวมทั้งการบริหารจัดการภายในอื่น ๆ แทน”

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหนุ่มที่ Work Hard Play Hard ชีวิตได้อย่างลงตัวทั้งเรื่องงานและไลฟ์สไตล์ ที่มองเผิน ๆ เหมือนจะต่างกันสุดขั้วระหว่างไอที ความล้ำสมัยกับความคลาสสิกเหนือกาลเวลา แต่หนุ่มนักการตลาดคนนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนเราต้อง “บาลานซ์” ชีวิตให้เป็น