คลื่น 2300 MHz ของดีแทคเล่นเน็ตแบบลื่นหัวแตกได้จริงเหรอ

ไม่ใช่แค่การหาคลื่นใหม่ที่จะมารองรับคลื่นที่กำลังจะหมดสัมปทานไปเท่านั้น แต่การได้มาซึ่งคลื่น 2300 MHz ของดีแทค ยังน่าจะกลายเป็นจุดขายที่สำคัญของดีแทค แต่จะทำให้สามารถสร้างบริการที่ลื่นกว่าที่โฆษณาอยู่ในปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องลองติดตามกัน

คลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้เทคโนโลยี 4G LTE-TDD (Time Division Duplex) ที่ดีแทคเข้าไปเป็นพันธมิตรกับทางทีโอทีในการให้บริการในเร็วๆ นี้นั้น เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะการดาวน์โหลดข้อมูลที่สามารถขึ้นไปใช้งานระดับ Gigabit Network ได้ (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่รองรับ)

จากเดิมเทคโนโลยี 4G LTE ที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย บนคลื่น 1800 MHz และ 2100 MHz นั้นจะอยู่บนคลื่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า FDD (Frequency Division Duplex) โดยรูปแบบการทำงานของ FDD จะใช้วิธีการรับ-ส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่ที่แบ่งเป็นคนละชุด และต้องใช้งานรับ-ส่งไปพร้อมๆ กันเป็นคู่กัน เช่น คลื่น 2100 MHz ที่ให้บริการด้วยแบนด์วิดธ์ 15MHz นั่นคือจะมีคลื่นแบนด์วิดธ์ 15 MHz สำหรับรับข้อมูลหรือดาวน์โหลด และคลื่นอีกชุดที่มีแบนด์แบนด์วิดธ์ 15 MHz เช่นกันเพื่อทำการส่งข้อมูล คลื่น 2 ชุดทั้งรับและส่งจะต้องใช้งานควบคู่กันตลอดเวลา

ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ คือ มอเตอร์เวย์มีถนน อยู่ 6 เลน แบ่งเป็นขาเข้า 3 เลน และขาออก 3 เลน ใช้งานเท่ากันแบ่งแนวถนนด้วยเกาะกลางแบบชัดเจน ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นฝั่งขาเข้าเมืองอาจจะมีรถมาก และฝั่งขาออกเมืองจะมีรถน้อย ถนนก็จะไม่ถูกปรับให้เพิ่มหรือลดเลนได้ เพราะมีการกำหนดแบบตายตัวอยู่แล้ว ทำให้แม้ฝั่งหนึ่งจะเร่งรีบแค่ไหน ก็ยังไปได้ช้าเหมือนเดิม ส่วนอีกฝั่งที่มีรถน้อยกว่าก็จะไปได้แบบชิวกว่า

ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง TDD จะมีรูปแบบการรับส่งข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยจะใช้คลื่นเดียวสำหรับการรับ-ส่งข้อมูล แต่สามารถสลับช่วงเวลาในการรับ-ส่งข้อมูลแทนกันได้ ทำให้สามารถใช้งานคลื่นเดียวได้เต็มที่ด้วยการออกแบบคลื่นให้มีปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ที่ส่วนใหญ่มักจะใช้งานรูปแบบ downlink หรือการใช้งานของดูหนัง หรือโหลดเพลง อ่านคอนเทนท์ต่างๆ บนโลกโซเชียล มากกว่าการใช้งานแบบ uplink หรือถ่ายภาพอัปโหลดขึ้นเฟซบุ๊กนั่นเอง

จะอธิบายให้เข้าใจง่ายไปอีกก็คือ มอเตอร์เวย์มี 6 เลนเหมือนเดิม แต่ไม่ได้มีเกาะกลางถนนแบบมากั้นตายตัว ทำให้คราวนี้เราสามารถแบ่งเลนขาเข้าและขาออกตามปริมาณรถที่มากหรือน้อยได้ตามต้องการ อย่างเช่นช่วงเวลาเร่งด่วน มีรถเข้าเมืองมาก เราก็สามารถเพิ่มเลนได้มากตามที่ต้องการ อาจจะมากถึง 5 เลน และให้เลนขาออกนอกเมืองที่มีรถน้อยกว่าเหลือเพียง 1 เลนก็ได้ หรือจะแบ่งเป็น 4 : 2 เลนก็ได้ตามต้องการ โดยสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม

โดยบริการ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่กำลังจะเปิดให้บริการนี้ ยังเป็นแบนด์วิดธ์ที่กว้างถึง 60 MHz และที่สำคัญคือเป็นผืนเดียวติดกัน ซึ่งนอกจากไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้ใช้เทคโนโลยีตัวนี้แล้ว ความกว้างของคลื่นก็ยังมากกว่าผู้ให้บริการในประเทศอื่นๆ เพราะแม้แต่ในเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ก็ไม่มีแบนด์วิดท์บนคลื่นเดียวกันที่กว้างขนาดนี้

เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับการใช้งานวิดีโอสตรีมมิง ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมในเมืองไทยกันแบบล่วงหน้าเลยทีเดียว โดยสถิติการเติบโตของทั้ง YouTube ที่มีคนดูผ่านทางมือถือมากขึ้นถึง 90% และยอดเข้าชม LINE TV สูงกว่าปีก่อน 136% ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่นับรวมความนิยมในการดาวน์โหลดคลิปต่างๆ เข้ามาดูอีก ซึ่งทำให้การใช้งานดาต้าเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปีที่ผ่านมาอยู่ประมาณเฉลี่ยเดือนละ 2 GB กลายเป็น 5-6 GB ต่อเดือน

สิ่งที่ทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้งานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่การใช้โมบายดาต้าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และผู้ใช้งานก็เลือกที่จะเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลายและรอบด้านมากขึ้น จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันเวลาที่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถืออยู่ในมือแทบจะตลอดเวลา

ดังนั้นการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทคนั้น ถือเป็นการรองรับปริมาณแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้น จากการใช้งานส่วนใหญ่ของผู้ใช้ที่นิยมการสตรีมมิงคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ ซึ่งจะทำให้ได้ความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการดาวน์โหลดคอนเทนต์ เมื่อเทียบกับ 4G บนคลื่นแบบ FDD ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานสตรีมมิงวิดีโอคอนเทนต์  Youtube Facebook Live LINE TV และดูคลิปวิดีโอผ่านช่องทางต่างๆ ก็จะรวดเร็วขึ้น ลื่นขึ้น

ส่วนเมื่อคลื่นนี้เริ่มให้บริการนั้น ผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามือถือที่ตัวเองใช้ จะเลือกจับคลื่นใดหรือใช้เทคโนโลยีอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ปล่อยให้ผู้ให้บริการจะวางแผนเน็ตเวิร์กและจัดสรรเทคโนโลยีมาให้ใช้งานเองดีกว่า แล้วรอดูผลว่า ถ้าเล่นเน็ตได้แบบลื่นหัวแทบแตกก็ชื่นชมกันไป ส่วนถ้าไม่ไวอย่างใจหวัง นั่นก็อีกเรื่องนึง