ข้าวอิตาลีราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์!! เปิดโอกาสพลิกฟื้นตลาดส่งออกข้าวไทย

จากสถานการณ์ที่ผลผลิตข้าวของอิตาลีลดลง จากปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวหลายชนิดในอิตาลีปรับตัวขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ผลกระทบนี้เป็นโอกาสสำหรับประเทศผู้ส่งออกข้าวไปยังอิตาลีที่จะสามารถส่งออกได้ในปริมาณที่สูงขึ้น

โดยพบว่าข้อมูลของข้าวไทยที่ส่งออกไปยังอิตาลีมีการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะข้าวหอมมะลิมักจะได้รับการยอมรับอยู่แล้วจากกลุ่มผู้บริโภคในอิตาลี ว่าเป็นข้าวเกรดพรีเมียม มีคุณภาพสูง และเป็นข้าวที่ครองสัดส่วนการส่งออกมายังอิตาลีมากที่สุด ดังนั้น แนวโน้มที่อิตาลียังจะเผชิญกับปัญหานี้ไปอีกสักระยะ จะยิ่งเป็นตัวเร่งการส่งออกของไทย

ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาราคาข้าวในอิตาลีขยับตัวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดย ข้าวพันธุ์ Arborio ปรับตัวขึ้น 113% ,ข้าวพันธุ์ Carnaroli ปรับตัวขึ้น 118% และข้าวพันธุ์ Rome ปรับตัวขึ้น 94% ส่วนข้าวเมล็ดยาวในกลุ่มอินดิก้า (Indica) ซึ่งเป็นกลุ่มข้าวจากการนำเข้า ราคาปรับเพิ่มขึ้น 76%

ซึ่งสาเหตุสำคัญของราคาข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากจำนวนผลผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะการขาดแคลนอย่างต่อเนื่องของข้าวพันธุ์ที่ใช้ทำริซอตโต้ (Risotto) ซึ่งเป็นเมนูอาหารข้าวที่นิยมมากที่สุดของอิตาลีจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เนื่องจากวิกฤตภัยแล้งจากฝนขาดช่วงเป็นเวลาหลายเดือน และอุณหภูมิสูงผิดปกติในหลายเดือนที่ผ่านมา

ซึ่งในปี 2565 อิตาลีมีพื้นที่ปลูกข้าว 227,000 เฮกตาร์ โดยพื้นที่อย่างน้อย 27,000เฮกตาร์ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ข้าวสำหรับ Risotto

โดยปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต และขีดจำกัดในการสนองความต้องการของตลาดในประเทศ เห็นได้จากการที่ชาวนาส่งข้าวเปลือกสู่โรงสีเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารสู่ผู้บริโภคลดลงมากกว่า 30% (หรือประมาณ 83,000 ตัน) เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมข้าวอิตาลีกำลังเผชิญกับความยากลำบากและอุปสรรคดังต่อไปนี้

1) การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการผลิตและราคาของผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50%-70% และสูงถึง 140% จากปีที่แล้ว

2) วิกฤตภัยแล้งที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผู้ผลิตประสบกับปัญหาความผันผวนของผลผลิตที่ลดลงและมีจำกัด ทำให้ราคาอย่างเป็นทางการมีการขยับตัวขึ้นลงอย่างเอาแน่ไม่ได้ อีกทั้งความยุ่งยากในการจัดระบบชลประทานที่ยังไม่ทั่วถึงและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงสามารถพึ่งพาแหล่งน้ำจากชลประทานได้เพียงบางพื้นที่ (ใกล้แม่น้ำ)

3) ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มผิดปกติอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงตุลาคม 2565 (ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 400% แก๊สมีเทนเพิ่มขึ้น 500% น้ำมันเพิ่มขึ้น 124%) ส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิติกส์โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นสี่เท่าในปีที่แล้ว และความไม่แน่นอนสูงต่อปริมาณการผลิตในอนาคต

ซึ่งภาวะขาดแคลนนี้ทำให้การนำเข้าของอิตาลีในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 73% เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เนื่องจากการสั่งซื้อข้าวสารจากต่างประเทศมีการขยายตัวแบบทวีคูณ

โดยอิตาลีมีการนำเข้าจากเมียนมาร์ (จาก 1,200 เป็น 72,000 ตัน) ปากีสถาน (จาก 9,000 ถึง 13,800 ตัน) และไทย (จาก 2,100 ถึง 9,100 ตัน) และประเทศไทยได้ส่งออกข้าวไปยังอิตาลีเพิ่มขึ้น จากข้อมูล 9 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) จำนวน 2,354 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 2,731 ตัน (จำนวน 2,452 ตัน)

จะเห็นการส่งออกข้าวไทยไปอิตาลีปรับตัวขึ้นสูงกว่าทั้งปี 2564 (2,452 ตัน) แต่ยังห่างจากปี 2563 ที่ส่งออกได้มากถึง 4,105 ตัน แต่แนวโน้มการส่งออกข้าวกล้องของไทยมายังอิตาลีกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่ทำให้การส่งออกข้าวกล้องหดตัวลง แต่ในปี 2565 การส่งออกข้าวกล้องมายังอิตาลี มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ซึ่งน่าจะมีโอกาสอีกมากในการครองส่วนแบ่งตลาดของประเทศคู่แข่งในเอเชียอื่น ๆ

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ข้าวไทย #อิตาลี