ก้าวใหม่ ‘เดอะมอลล์” ฝ่าคลื่นดิจิทัล สู่โลกค้าปลีกยุคใหม่

ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายของอุตสาหกรรมค้าปลีกทั่วทั้งโลก เพราะต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง

 

รวมถึงคู่แข่งขันรายใหม่ที่เข้ามาหลากหลายรูปแบบ จนทำให้เชนยักษ์ค้าปลีกแบบดั้งเดิมต้องทยอยปิดสาขาลง ขณะที่บางรายทนแรงเหวี่ยงไม่ไหวถึงขั้นต้องปิดตัวลง สำหรับธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย แม้ปัจจุบันสัดส่วนของตลาดออนไลน์จะมีเพียง 1% และกว่าจะกินสัดส่วนถึง 10% เหมือนในบางประเทศอาจยังต้องใช้เวลา แต่เดอะมอลล์ก็ยอมรับว่ารู้สึกกลัว แต่ภายใต้ความกลัวนั้นก็ไม่คิดยอมแพ้เช่นกัน

 

นี่คือ มุมมองของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ถึงสถานการณ์ค้าปลีกของเมืองไทยในวันนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เดอะมอลล์ ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวเองสู่โลกดิจิทัลอย่างจริงจังเสียที หลังปล่อยให้บิ๊กเพลย์เยอร์อย่างเซ็นทรัลออกโรงนำร่อง จนหลายครั้งดูเหมือนว่าจะก้าวล้ำในโลกดิจิทัลหลายสเต็ปทีเดียว

 


ภาพการแข่งขันของตลาดค้าปลีกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากการใช้กลยุทธ์สร้างความหลากหลายให้กับแบรนด์สินค้าแล้ว ยังมุ่งใช้ความคุ้มค่าคุ้มราคาเป็นตัวนำ เพื่อสร้างความต่างและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าของตนเองมากที่สุด แต่โลกค้าปลีกยุคใหม่ในมุมมองของ “ศุภลักษณ์” นั้น การห้ำหั่นด้วยโปรโมชันราคาอาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ธุรกิจค้าปลีก Healthy เพราะสุดท้ายแล้วย่อมไม่ต่างไปจาก Hypermarket

 

ดังนั้น การออกสตาร์ทสู่โลกดิจิทัลในแบบเดอะมอลล์ จึงเลือกที่จะใช้ “นวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อน และนวัตกรรมที่ว่านี้ก็คือ เทคโนโนโลยีทางการเงินที่กำลังเป็นเทรนด์มาแรงอย่าง Cashless Payment นั่นเอง

 

โดยเดอะมอลล์ได้รุกผนึกกำลังกับ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ “SCB” นำระบบการชำระสินค้าในแบบ QR Payment เข้ามาให้บริการ ด้วยการติดตั้งเครื่องชำระเงินอัตโนมัติด้วยตนเอง หรือ Smart Self Check-Out Kiosk ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการชำระค่าสินค้าแบบไร้เงินสด พร้อมกับพัฒนาช่องทางการรับชำระเงินด้วย QR Code ณ จุดเคาน์เตอร์แคชเชียร์ และกว่า 500 ร้านค้าในฟู้ด ฮอลล์ รวมถึงติดตั้งเครื่อง Smart Tax Kiosk เข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำ Vat Refund สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการทำ Full Tax Invoice สำหรับผู้บริโภคชาวไทย

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “เดอะมอลล์” เลือกใช้เทคโนโลยีการเงินเป็นตัวจุดพลุในโลกดิจิทัลนั้น แม่ทัพใหญ่ของเดอะมอลล์ อธิบายให้ฟังอย่างน่าสนใจว่ามาจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ

 

1. แรงเหวี่ยงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เชนห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องทยอยลดจำนวนสาขา ขณะที่บางรายก็ตัดสินใจปิดกิจการ

2. พฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป จากข้อมูลพบว่าปริมาณการซื้อต่อบิลลดลงโดยอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อบิล แต่ความถี่ในการชอปปิงกลับบ่อยขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการของสดมากขึ้น ทั้งยังต้องการมากกว่าการมาชอปปิงทั่วไป ทำให้การเข้าคิวในการจ่ายเงิน หากแถวยาวมาก ลูกค้าอาจไม่แฮปปี้ แต่ถ้าลูกค้าสามารถชำระเงินได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องต่อคิว ย่อมสะดวกสบายและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้ายิ่งขึ้น

 

3. ความเป็นผู้นำนวัตกรรมรายแรก จะเห็นว่าตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนสาขาอาจไม่มากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่เดอะมอลล์ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาสิ่งใหม่ให้กับดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ไม่ว่าจะเป็น สวนน้ำ สวนสนุก ภูเขาไฟในศูนย์การค้า รวมถึงศูนย์การค้าสยามพารากอน เพราะเชื่อว่า นวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกให้เติบโต

 

ขณะเดียวกัน ยังได้ให้เหตุผลถึงการเลือกจับมือกับ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ในครั้งนี้ด้วยว่า เป็นเพราะความเหมือนกันหลายอย่าง ทั้งการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความเร็วในการขับเคลื่อนนวัตกรรมออกสู่ตลาด และที่สำคัญคือต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับการชอปปิงรวมทั้งประเทศไทยก้าวสู่ THAILAND 4.0 อย่างแท้จริง ให้จับต้องได้

 

สำหรับการติดตั้งเครื่องชำระเงินด้วยตนเองนั้น ได้เริ่มนำร่องให้บริการที่ “กรูเมต์ มาร์เก็ต” และ “ร้านค้าในฟู้ด ฮอลล์ และเทคโฮม” เป็นแผนกแรก เนื่องจากเป็นแผนกที่มีคนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนคนที่เข้ามาชอปปิงที่ศูนย์การค้าของเดอะมอลล์ทุกสาขารวมกันกว่า 400 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติ ทั้งชาวจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และกลุ่ม CLMV ซึ่งมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างดี

 

แม้การขับเคลื่อนของเดอะมอลล์ในครั้งนี้ จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรุกคืบสู่โลกค้าปลีกยุคใหม่ แต่ “ศุภลักษณ์” เชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้ตรงใจ โดยหลังเปิดให้บริการ นอกจากความสะดวกสบายที่ลูกค้าได้รับ ยังสามารถจะเพิ่มความถี่ในการชอปปิงของผู้บริโภค และสามารถขยายฐานไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย

 

พร้อมกันนี้ ยังมั่นใจด้วยว่า ไม่เกิน 2 ปีจากนี้ จะเห็นเดอะมอลล์ขับเคลื่อนสู่โลกชอปปิงแบบไร้เงินสดอย่างชัดเจนและเต็มรูปแบบแน่นอน !!

 

“แน่นอนว่าค้าปลีกยุคใหม่ เทคโนโลยีคือหัวใจ แต่ถ้าเรานำเทคโนโลยีมาใส่ไว้ทั้งหมด แล้วเดินเข้าไปช็อปไม่เห็นคนเลย ก็คงไม่ได้ เพราะคนเป็น Human being ยังต้องการการสัมผัส และอยากมาพบปะผู้คนอยู่ ดังนั้นเราจึงสร้างประสบการณ์ใหม่ ด้วยการลดรอยต่อประสบการณ์ชอปปิง เพื่อให้เกิด Seamless Experience ระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์ให้เกิดขึ้น”

 

นี่คือเป้าหมายของโลกค้าปลีกในอนาคตที่แม่ทัพเดอะมอลล์ต้องการจะก้าวไปให้ได้ !!

 

แน่นอนว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เส้นทางใหม่ของเดอะมอลล์ แต่สเต็ปแรกของเดอะมอลล์ในวันนี้ ก็นับว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบิ๊กเพลย์เยอร์ได้ไม่น้อยทีเดียว