กูรูคาด ภาวะถดถอยสหรัฐฯ กระทบเอเชีย ไทย-สิงคโปร์ เสี่ยงอันดับต้น ส่งออก-ท่องเที่ยว ส่อชะลอตัว

ทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทั้งค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ค่าแรงยังไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับค่าครองชีพได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนต่างเผชิญกับความยากลำบาก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นการฟื้นตัวได้แบบ 100% โดยเฉพาะในประเทศที่ถือเป็นมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐฯ’ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 335 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565 อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก Worldometer) ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับความยากลำบากนี้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์สได้ออกมาเตือนว่า ‘เอเชีย’ จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงรายงานการเติบโตของประเทศที่ติดลบถึงสองไตรมาสติดต่อกัน ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งบางคนมองว่าเป็นภาวะถดถอยทางเทคนิค แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเต็มรูปแบบเมื่อใด

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ระบุว่า สิงคโปร์และไทยน่าจะเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ หากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

สิงคโปร์

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank ระบุว่า สำหรับสิงคโปร์นั้นมีความอ่อนแอต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากการสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นจากหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OCBC Bank ที่มองว่าด้วยเศรษฐกิจเอเชียที่เปิดกว้างและต้องพึ่งพาการค้า เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้

 

1. เชื่อมต่อถึงกัน

การเติบโตของ GDP ในประเทศสิงคโปร์นั้นมีความสัมพันธ์กับธุรกิจของสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก โดยสิงคโปร์ไม่มีตลาดในประเทศมากนักและต้องพึ่งพาบริการทางการค้าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการขนส่งและการดำเนินการขนส่งสินค้า

สำหรับอัตราส่วนการค้าต่อ GDP ของประเทศสิงคโปร์สำหรับปี 2564 อยู่ที่ 338% ตามข้อมูลของธนาคารโลก โดยอัตราส่วนการค้าต่อ GDP เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไร

โดยนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank กล่าวว่า ความสัมพันธ์และการพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกของสิงคโปร์นั้นสูงมาก ซึ่งหากสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย การพึ่งพาอาศัยกันนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่สิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ยาวนานหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศของจีนอีกครั้ง เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

 

2. เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก

ข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจระบุว่าสิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ แต่ผลผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 6.4% ในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564

ขณะที่ข้อมูลจาก EDB ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ระบุว่า ผลผลิตในภาคเซมิคอนดักเตอร์ลดลง 4.1% ในขณะที่โมดูลและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ หดตัว 19.7% เนื่องจากคำสั่งซื้อส่งออกที่ลดลงจากจีนและเกาหลีใต้

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank กล่าวว่า เนื่องจากสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้จึงถือเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งออก

 

3. การท่องเที่ยว

นโยบายปลอด COVID-19 ของจีนยังขัดขวางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของสิงคโปร์นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยก่อนเกิดโรคระบาดชาวจีนประมาณ 3.6 ล้านคนเดินทางไปสิงคโปร์ในปี 2562 คิดเป็น 13% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ตามข้อมูลจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าสิงคโปร์เพียง 88,000 คน ในช่วงระหว่างเดือน มกราคม-ธันวาคม ปี 2564

 

ประเทศไทย

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนี้

 

1. การท่องเที่ยว

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 11% ของ GDP ของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนในปีนั้น และสร้างรายได้มากกว่า 60 พันล้านดอลลาร์ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ขณะที่ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 428,000 คน และเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.5% ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ช้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานของ ‘Reuters’

ตามรายงานของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank ระบุว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม อาจมีการทดแทนจากนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงการเปิดประเทศของจีนอีกครั้ง ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเต็มรูปแบบได้หรือไม่

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก DBS Bank กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้ยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ไม่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งตราบใดที่นักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมา ประเทศไทยจะต้องต่อสู้กับการเติบโตที่อ่อนแอ, อัตราเงินเฟ้อสูง และค่าเงินบาทที่ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลง 20% เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อนก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19

 

2. แรงกดดันเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อของไทยแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 7.66% ในเดือนมิถุนายน 2565 ตามข้อมูลของ ‘Refinitiv’ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2561

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยสูงมาก แน่นอนว่าการเติบโตนั้นอ่อนแอลงมาก

 

ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้น น้อยกว่าสิงคโปร์และไทย เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจภายในประเทศของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า การเติบโตของ GDP ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และไทยในช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : CNBC

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สหรัฐฯ #สหรัฐอเมริกา #ภาวะเศรษฐกิจ #เศรษฐกิจถดถอย #เศรษฐกิจไทย #เศรษฐกิจ #เงินเฟ้อ