แพ 500 ไร่ ต้นแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-จุดท่องเที่ยวที่น่าศึกษา – กับรางวัล Social Enterprise of The Year November 21, 2017 แพ 500 ไร่ ต้นแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-จุดท่องเที่ยวที่น่าศึกษา ที่สุดธุรกิจเพื่อสังคมแห่งปี 2017 บริษัท สุราษฎร์อินเตอร์ ทัวร์ จำกัด หรือ แพ 500 ไร่ ดำเนินธุรกิจและบริหารงานโดย อติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นยกระดับการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมกับการยกระดับความแข็งแกร่งของวิสาหกิจชุมชน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบ 4.0 อติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ เป็นนักธุรกิจหนุ่มที่มีหลักของตัวเอง คือการดำเนินธุรกิจของตนเองควบคู่ไปกับการเติบโตของชุมชน เขาอาศัย Location ที่ดี คืออาศัยอุทยานแห่งชาติเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยการเติมมูลค่าลงไปในจุดขาย ขณะเดียวกันก็เพิ่มองค์ประกอบต่าง ๆ เชื่อมต่อกับ Product บอกเล่าเรื่องราวหรือ Story จนแพ 500 ไร่ต้องมีการจองการเข้าพักล่วงหน้านานพอสมควร รวมถึงค่าห้องพักสามารถอัพเกรดราคาขายเพิ่มได้อีกหลายเท่าตัว จากที่ได้สัมผัส อติรัตน์ หรือเบิ้ล เขาบอกว่า นำความชอบส่วนตัว (การท่องเที่ยว) มาพัฒนาเป็นสินค้าจนประสบความสำเร็จ “ผมเป็นคนชอบเที่ยว หลังเรียนจบจากกรุงเทพฯ ก็กลับบ้านและตั้งใจกลับมาทำงานและเริ่มมองหาว่าสามารถทำไรอะไรได้ จึงมองว่าการท่องเที่ยวน่าจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุด” เพียง 5 ปี แหล่งท่องเที่ยวทางบกของ จ.สุราษฎร์ฯ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เป็นที่รู้จักในหมู่คนรักกิจกรรม Outdoor แต่ใส่ใจธรรมชาติ (Social Enterprise) ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจและบริการของแพ 500 ไร่ จะคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1. ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ไม่มีการทิ้งของเสียลงในเขื่อน และนำของเสียไปกำจัดอย่างถูกวิธี 2. ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ โดยเน้นการรับซื้อผลผลิตที่มีการผลิตจากชุมชนในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบ ทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อมโยงลงถึงชุมชนรากหญ้าและชาวบ้านในพื้นที่ จนเป็นแบบอย่างของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 3. เป็นประเด็นที่คัญที่สุด คือการพัฒนาบุคลากรหรือคนในพื่นที่ ตั้งแต่การเริ่มนำบุคลากรในพื้นที่มาเข้าร่วมดำเนินการในธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ และยกระดับคุณค่าของชุมชนโดยผ่านรูปแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จนี้ ผู้ประกอบการได้เริ่มขยายแนวคิดการทำธุรกิจแบบเอื้อเฟื้อ ไปสู่การทำธุรกิจแบบ Social Enterprise โดยได้ร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ในเขื่อนเชี่ยวหลาน ได้แก่ ผู้ประกอบการแพพักนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการร้านอาหาร จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเขื่อนเชี่ยวหลาน และเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ กิจการมีการดำเนินธุรกิจแบบ Social Enterprise ที่ประสบผลสำเร็จและสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งและพัฒนาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแบบบูรณาการร่วมกัน และเป็นการเอื้อต่อส่วนรวมภายใต้การรวมตัวของผู้ประกอบการในรูปแบบ “สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ทะเลสาบเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี” ซึ่งส่งผลให้มีการเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากการบริการ โดยสามารถปรับราคาห้องพักเพิ่มเดิมได้ถึง 10 เท่า มีการ Booking ล่วงหน้า 6 เดือน และมีลูกค้าชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น หากมองการเติบโตของแพ 500 ไร่ ต้องยอมรับว่า เขาขยายสู่ตลาดแมสด้วยการแตกไลน์สินค้าที่สัมพันธ์กับจุดแข็งของตัวเอง โดยสิ่งที่จะเป็นแผนเชิงรุกจากนี้ เขาบอกว่าจะพัฒนาผู้ประกอบการให้มีมาตรฐานงานบริการเพิ่มขึ้น สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยการฝึกทักษะด้านภาษาต่างประเทศ รวมถึงขยายกรอบแนวคิดเรื่อง Social Enterprise ไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาสก โดยการดึงชุมชนเข้าร่วม พร้อมทั้งมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริการให้เข้มข้นขึ้น พร้อมกับเพิ่มความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้ในงานบริการด้วย