แนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลสดใส เผย 7 เดือนแรกมีโครงการยื่นขอรับลงทุน 155 โครงการ

บีโอไอเผยความสนใจลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลแนวโน้มสดใส 7 เดือน มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุดใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีบริษัทเว็บซื้อขายสินค้าออนไลน์อันดับหนึ่งจากเกาหลีลงทุนในไทย และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า

 

หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้ม การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ว่า มีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคมกรกฎาคม 2559) มีโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวนมากถึง 155 โครงการ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนโครงการลงทุนทั้งหมดใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีจำนวน 443 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่า 2,540 ล้านบาท และยังมีบริษัทในกลุ่มดิจิทัลอีกหลายรายที่เตรียมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จึงคาดว่า ภายในปี 2559 มูลค่าเงินลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลจะไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้หากดูในเรื่องเงินลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีมูลค่าเงินลงทุนไม่สูงนัก แต่เป็นกิจการที่เน้นใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมามีโครงการที่ได้อนุมัติให้ส่งเสริมลงทุนที่น่าสนใจ อาทิ การลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส (Cloud Service) โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เพื่อให้บริการดูแลระบบ บริหารจัดการ รวมถึงจัดเก็บข้อมูลผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่จะช่วยให้ลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ลดต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ขณะเดียวกันทำให้ลูกค้ามีระบบสำรองข้อมูลที่ดีและมีเครือข่ายความเร็วสูง

 

รวมทั้งได้อนุมัติส่งเสริมลงทุนแก่กิจการของผู้ประกอบธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำอันดับหนึ่งทางด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ช และร้านค้าออนไลน์ (Commerce Platform Service Provider) โดยบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการ อีคอมเมิร์ช (E-Commerce) โดยจัดทำเว็บโปรแกรมในรูปแบบการให้เช่าพื้นที่ สำหรับซื้อขายสินค้าหรือให้บริการ ผ่านทาง World Wide Web (WWW) เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องประดับ เครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น เนื่องจากบริษัทได้เข้ามาศึกษาถึงศักยภาพของตลาดออนไลน์ในประเทศไทยและพบว่ามีอัตราการขยายตัวสูง หลังจากที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในตลาดออนไลน์แล้วในหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และตุรกี


นอกจากนี้ยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ในการลงทุนกิจการเขตดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center)มูลค่าเงินลงทุนกว่า 750 ล้านบาท ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรต่างๆ ทั้งบริการรับฝากวางคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการดูแลระบบ การดูแลป้องกันและลดความเสี่ยงการเสียหายของข้อมูล ซึ่งการลงทุนของบริษัทจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงของภูมิภาค รวมถึงเป็นศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือด้านศักยภาพและบริการไอทีในอนาคต

 

หิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า บีโอไอยังให้การส่งเสริมการลงทุน แก่บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตย้อนหลังได้ถึง 30 วัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคนิคการเขียนโปรแกรม และการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรคนไทยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลของรัฐบาล