เรื่องอะไรต้องจ่าย!! ‘ดีแทค’ ดึงเช็ง ประมูลคลื่น 900 MHz

เรื่องอะไรต้องจ่าย!! ‘ดีแทค’ ดึงเช็ง ประมูลคลื่น 900 MHzหลัง กสทช.ให้ผู้ชนะต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวนทั้งหมด

การประมูลคลื่น 900 ระลอกใหม่นี้ อาจจะเงียบเหงาก็เป็นได้ หลังจาก ดีแทค ได้เข้าร่วมการชี้แจงการประมูล และมีความกังวลต่อข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลใหม่ ภายใต้เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 16, 17และ18ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น900 MHzจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHzและ900 MHzรายอื่นด้วย

 

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ยอมรับว่า การประมูลคลื่นระลอกใหม่ในส่วนของคลื่น 1800 MHz นั้นทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ แต่กับคลื่น 900 MHz เมื่อพิจารณารายละเอียดจากทางกสทช.แล้ว ดูจะเป็นความลำบากให้ผู้ชนะการประมูลเป็นอย่างมาก

 

เหตุผลคืออะไร?

เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ16ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน850 Mhzและผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางราง

 

นอกจากนี้ เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ17กสทช. สงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง885-890/930-935MHzในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ซึ่งในกรณี จะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน900 MHzเพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรกตามเงื่อนไขข้อ16

 

ทั้งนี้ หากพิจาณาจากข้อบังคับข้อ 16, 17 และ 18 แล้วจะพบว่า ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นดังกล่าวจะต้องติดตั้งฟิลเตอร์ป้องกันคลื่นรบกวนให้กับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ครอบคลุมคลื่นหลายย่านในย่านความถี่ที่กำลังประมูล, แม้ติดตั้งแล้วหากมีการรบกวนกับระบบขนส่งทางราง ทางกสทช. สามารถปรับคลื่นความถี่ได้ รวมถึงต้องติดตตั้งเพื่อป้องกันการรบกวนระบบขนส่งทางราง ได้แก่ ระบบ Airport Rail Link, รถไฟกรุงเทพ-หนองคาย, รถไฟความเร็วสูงดอนเมือง-อู่ตะเภา, โครงการ GSM-R

 

เกมนี้ ดีแทค คงรู้ดีว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะข้อกำหนดถูกบรรจุลงในประกาศพระราชกิจจานุเบกษาไปเป็นทีเรียบร้อย แต่ก็พยายามที่จะให้ทางกสทช. ประกาศเพิ่มเติมให้ชัดเจนในบางประเด็น

 

เช่น จำนวนไซด์ทั้งหมดมีเท่าไหร่ เพื่อให้ลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะข้อมูลตอนนี้มันยังไม่เพียงพอ หรือให้ต่างคนต่างทำฟิลเตอร์เอง และมาเบิกกับกสทช.ตามจริง แต่อาจจะยุ่งยากกับกสทช.

 

หากดูจากเหตุผลที่กล่าวมา จึงมีความเป็นไปได้ที่ ดีแทค อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจาก…
หาก ดีแทค ชนะประมูล ก็ต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์ใหม่บนเทคโนโลยีคลื่น 900 MHz เพราะเดิมทีดีแทึให้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ 850 MHz

 

ต้องลงทุนติดตั้งเครื่องป้องกันการรบกวนของสัญญาณเพื่อไม่ให้ไปกวนกับคลื่นที่ ทรูมูฟ, เอไอเอส และ การรถไฟ ซึ่งทาง กสทช.จะปรับราคาขั้นต่ำลงการประมูลลง 2,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าการลงทุนติดตั้งตัวป้องกันการรบกวนของสัญญาณมันต้องมีมูลค่ามากกว่านั้น เพราะแค่ ทรูมูฟ เจ้าเดียวก็มีกว่า 13,000 ไซต์ ที่จะต้องเข้าไปติดตั้ง ไหนจะเอไอเอส และไหนจะการรถไฟที่ยังไม่ระบุพื้นที่ไซต์อย่างชัดเจนในตอนนี้ และกสทช.ก็ไม่สามารถระบุให้ทราบเบื้องต้นได้ด้วย

 

อุปกรณ์ป้องกันการรบกวนของสัญญาณเบื้องต้นมีน้ำหนักราว 60 กก. และการจะเปิดประตูเข้าไปติดตามไซต์ต่างๆ อาจไปสร้างความรบกวนแก่เจ้าของพื้นที่ได้

 

มีโอกาสถูกสลับช่วงใช้คลื่นความถี่ได้ทุกเมื่อหากยังเกิดการรบกวนอยู่ ไล่ตั้งแต่การสลับช่วงกับคลื่น 900 MHz ของการรถไฟกับคลื่นที่ประมูล จนไปถึงการนำคลื่นที่ประมูลได้ไปอยู่ในช่วงความถี่อื่นๆ ที่ยังไม่กำหนดชัดเจนในตอนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีถ้า ดีแทค เข้าร่วมและชนะประมูลคลื่น 900 MHz ก็วางแนวทางที่จะขอให้ใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าที่ใช้บริการคลื่น 850 MHz เป็นระยะเวลา 24 เดือน เพราะการจะไล่ปรับอุปกรณ์กว่า 13,000 ไซต์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงต้องการให้ผู้ให้บริการแต่ละรายทำการติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณคลื่นรบกวนของตนเองแทนด้วย

3 โอเปอเรเตอร์ ถือครองคลื่นความถี่อะไรกันอยู่บ้าง…

ปัจจุบัน เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ 900MHz และ 1800MHz แต่หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2558 เอไอเอส ก็ทำให้มีคลื่นความถี่ 900MHzคลื่น1800MHzและคลื่น2100MHzความกว้างรวมกันทั้งหมด 40MHz

ส่วน ทรูมูฟ ก็มีคลื่น850MHz (เช่ากับทาง CAT) คลื่น900MHz, คลื่น1800MHzและคลื่น2100MHzและทำให้มีแบนด์วิธคลื่นจำนวน 55MHz

ด้านดีแทค หลังจากได้นำคลื่นความถี่ 2300MHz ที่ทาง dtac และ TOT ลงนามสัญญาให้บริการ 4G LTE-TDD 2300MHzก็ทำให้เครือข่ายของตนมีแบนด์วิธที่กว้างที่สุด 60MHzและเมื่อร่วมกับคลื่นความถี่เดิมที่ดีแทคมีอยู่

 

ทั้ง850MHz, 1800MHz และ 2100MHzความกว้างรวม50MHzทำให้ดีแทคกลายเป็นเครือข่ายที่มีแบนด์วิธกว้างที่สุดถึง 110MHzเพียงแต่สถานการณ์คลื่น 850MHz, 1800MHz ที่กำลังจะหมดสัมปทานลง อาจจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า และดีแทคต้องพยายามที่จะดึงคลื่นใหม่เข้ามา เพื่อผ่อนถ่ายฐานลูกค้าที่มีอยู่ในคลื่นเดิมไปคลื่นใหม่ เพราะคลื่นที่หายไปย่อมส่งผลต่อปัญหาด้านฐานลูกค้าในมืออย่างแน่นอน หาก dtac ไม่สามารถโอนย้ายฐานลูกค้าได้ทัน แม้จะมีคลื่น 2300 MHz มาช่วยเสริมแบนด์วิธแล้วก็ตาม