ในบรรดาธุรกิจปราบเซียนมูลค่าหลายแสนล้านบาท อย่างธุรกิจร้านอาหาร ยังคงขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” เครือธุรกิจร้านอาหารที่มีแบรนด์ในเครือกว่า 10 แบรนด์ ที่แจ้งเกิดจากร้านอาหารญี่ปุ่นในชื่อ Zen Restaurant ซึ่งก่อนหน้านี้ยืนยันหนักแน่นว่าจะเจาะกลุ่มเป้าหมายร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นหลัก กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ดูเหมือน ลมจะเปลี่ยนทิศ
เพราะปัจุบัน “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป”ได้หันมาจับตลาดอาหารร้านไทยมากขึ้น จนปัจุบัน“เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” มีร้านอาหารในมือทั้งหมดถึง 13 แบรนด์ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ และร้านอาหารไทย 7 แบรนด์ มีสาขารวม 242 สาขา
ทั้งนี้ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด เปิดถึงจุดเปลี่ยนครั้งนี้ว่า
แม้ชื่อเสียงของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จะแจ้งเกิดจากร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นมีการเติบโตลงลดต่อเนื่อง จากเดิมที่มีการเติบโตราว 10% แต่ในปี 2017 มีการเติบโตเพียง 5% จากมูลค่าตลาดรวม 22,000 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกลับตลาดร้านอาหารไทยที่นับวันยิ่งขนาดใหญ่ขึ้นโดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่าแสนล้านบาท
ขณะเดียวกันเชนร้านอาหารไทยยังมีไม่มาก จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนให้เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ จากที่เคยโฟกัสในธุรกิจอาหารญี่ปุ่น สยายปีกมาสู่ร้านอาหารไทยภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าให้ครบทุก ๆ มิติทั้งกลุ่มไฮเอนด์ กลาง และล่าง
“เราไม่ใช้ One Brand ลงไปเล่นในทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดล่าง แต่เลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์การแตกแบรนด์ใหม่ เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้แบรนด์เข้าไปถึงผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ตรงและครอบคลุมทุกกลุ่ม โจทย์ใหญ่ของการทำธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การขยายสาขาให้ได้จำนวนมากเท่านั้น แต่อยู่ที่การทำให้ลูกค้ากลับมารับประทานอาหารที่ร้าน “ถี่” และ “บ่อย” ขึ้น เพราะสิ่งที่ผู้บริโภคให้น้ำหนักมากขึ้นคือ ความคาดหวัง และ การมองหาความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา”
ซึ่งหมัดเด็ดที่ถูกนำมาใช้คือ นวัตกรรมอาหารและการบริการ เป็นหมัดเด็ดในการดึงดูดลูกค้าให้กลับมารับประทานอาหารที่ร้านบ่อยขึ้น ด้วยการพัฒนาเมนูอาหารใหม่ ๆ ที่หลากหลาย แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลาและต้องถี่ขึ้น ทั้งในเรื่องเมนูอาหารและโปรโมชัน จากทุก 3-4 เดือน เป็นทุกเดือน นอกจากยังมีการพัฒนาระบบ GES (Guest Experience System) ซึ่งเป็น Real Time Survey เพื่อเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า ทำให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ในทันทีในกรณีที่ลูกค้าไม่พอใจ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดีต่อแบรนด์
มุ่งตลาดต่างประเทศ จุดโฟกัสจุดใหม่
เมื่อตลาดเมืองไทยมีจุดยืนที่มั่นคง ตลาดต่างประเทศจึงเปรียบเสมือนเค้กก้อนใหม่ที่น่าลิ้มลอง ซึ่งช่องทางใหม่ที่“เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” โฟกัสคือ ตลาดส่งออก เดลิเวอรี่ และจัดเลี้ยง โดยเฉพาะตลาดส่งออก “เราอยากจะรุกตลาดส่งออก เพราะตลาดในประเทศไม่ได้ใหญ่มาก ขณะที่ธุรกิจอาหารโดยเฉพาะแบรนด์อาหารไทยในต่างประเทศยังมี Potential อีกมาก”
สำหรับโมเดลการทำตลาดในต่างประเทศนั้นจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งการส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย รวมถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 8 สาขาแล้วในต่างประเทศ เป็นแบรนด์อาหารไทย 6 สาขา และ AKA 1 สาขาที่เมียนมา และ On the table 1 สาขาที่กัมพูชา ทั้งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจในอินโดนีเซียกับมาเลเซีย
นอกจากการขยายกิจการไปในต่างประเทศแล้ว เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ยังมีเป้าหมายชัดเจนด้วยว่า ภายใน 5 ปีจากนี้ไปจะต้องปั๊มยอดขายสู่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ ธันยเชษฐ์ ยอมรับว่า จะต้องมีการเติบโตไม่น้อยกว่าปีละ 25% ทีเดียว ดังนั้นคงจะใช้วิธีการเดียวและแบบเดิม ๆ คงไม่ได้ หากต้องผสมผสานหลากกลยุทธ์เข้าด้วยกัน
สำหรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนที่ว่านี้ จะประกอบด้วย
1. การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า ผ่านการพัฒนานวัตกรรมอาหารและแบรนด์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่าง Musha ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นในเรื่องความคุ้มค่า ด้วยเมนูอาหารที่ทานง่าย ผนวกกับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับรีโนเวตร้านเพื่อสร้างบรรยากาศให้ตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าอยากจะกลับมาทานที่ร้านอีก
“จำนวนแบรนด์คงไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เราต้องการสร้างศักยภาพในแต่ละแบรนด์ โดยในปีนี้ Musha จะเป็นหัวหอกที่จะช่วยขยายการเติบโตให้เราได้อย่างรวดเร็ว เพราะด้วยจุดยืนของแบรนด์ที่มีราคาเอื้อมถึงง่าย ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการความคุ้มค่า ทั้งวัยรุ่น นิสิต นักศึกษาได้ง่าย โดยในปีนี้วางแผนจะเปิด 12 สาขา”
2. การ Diversify ไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยจากนี้ไปจะไม่ได้โฟกัสเฉพาะอาหารญี่ปุ่น แต่จะมุ่งขยายธุรกิจไปสู่ร้านอาหารไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์รีเทล ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ปลาร้า แจ่วบอง น้ำจิ้มไก่ และเส้นหมี่พร้อมทาน
3. การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนวัตกรรมอาหาร การปรับปรุงบรรยากาศร้าน และพัฒนาระบบ Guest Experience System เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจกับบริการมากยิ่งขึ้น
4. การพัฒนาบุคลากร เป็นสิ่งที่เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากคนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจอาหาร โดยจะมีการเทรนนิ่งพนักงานตลอดเวลา เพื่อให้บุคลากรมีประสิทธิภาพและอยากอยู่กับองค์กร
ทั้งหมดนี้คือ ทิศทางและเป้าหมายของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากประเมินจากภาพรวมตลาดอาหารญี่ปุ่นในปีนี้ที่จะกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น รวมถึงการมุ่งสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมอาหารและบริการที่แตกต่าง ทั้งยังเดินหน้าขยายแฟรนไชส์และนำร้านอาหารไทยบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ธันยเชษฐ์ ก็บอกด้วยความเชื่อมั่นว่า กับเป้าหมายนี้ ‘เป็นไปได้แน่’
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” มีเป้าหมายที่ชัดเจน บวกกับกลยุทธิ์ที่ตรงเป้าดูเหมือนเป็นภารกิจที่ค่อนใหญ่และผู้บริหารต้องลงแรงพอสมควร ขณะเดียว“เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” ก็กำลังจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ บุญยง ตันสกุล จากบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER)ถูกวางตัวให้เข้ามารับประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่
ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้ภายใต้การบริหารของ บุญยง ตันสกุล “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” จะเดินไปในทิศทางใด เป้าหมายและกลยุทธิ์ 5ปีที่วางไว้เป็นอย่างไร และจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายอย่างไร คงต้องติดตามและฟังคำตอบกันอีกครั้งในวันแถลงข่าวเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ