หัวเว่ย เปิดตัว IoT Cloud Service 2.0 ยกระดับการใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรม ผสานการเชื่อมต่อ ระบบคลาวด์ และความอัจฉริยะเป็นหนึ่งเดียว
หัวเว่ย ประกาศเปิดตัว IoT Cloud Service 2.0 อย่างเป็นทางการที่งาน HUAWEI CONNECT 2018 และเผยแผนกลยุทธ์ IoT ของบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT และสร้างระบบนิเวศขึ้น ผ่านการขยายการเชื่อมต่อ บริการคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ IoT ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และเปิดทางสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัล
รายงาน Global Industry Vision (GIV) 2025 โดยหัวเว่ย ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 แสนล้านเครื่องในปี 2025 ขณะที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าสูงจะเพิ่มขึ้นมากในการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันข้อมูลที่สร้างขึ้นจากการตระหนักรู้และการรับรู้ต่อทุกสิ่งจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรม และการกระตุ้นการยกระดับอุตสาหกรรม
ข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน IoT ได้แก่ การขยายการเชื่อมต่อ เพิ่มประสิทธิภาพบริการคลาวด์ และพัฒนาขีดความสามารถของ AI หัวเว่ยตั้งเป้าที่จะทำให้ทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกันอย่างเชื่อถือได้ พร้อมสนับสนุนการเปิดตัวบริการได้อย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลกผ่านบริการคลาวด์ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของ AI สำหรับหุ้นส่วนอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้จากการใช้งาน IoT ซึ่งหัวเว่ยสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่บริษัทพัฒนาขึ้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ขยายการเชื่อมต่อ: เปิดทางทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกันอย่างเชื่อถือได้
การเชื่อมต่อถือเป็นรากฐานของ IoT ดังนั้นเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงปลอดภัย หัวเว่ยไม่เพียงตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนการเชื่อมต่อเท่านั้น แต่ยังคงแสวงหาการเชื่อมต่อที่จัดการและควบคุมได้ เพื่อสามารถบรรลุโครงข่ายการครอบคลุมที่ต่อเนื่อง วิวัฒนาการความก้าวหน้าที่ราบรื่น ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือตลอดทั้งเครือข่าย โดย NB-IoT ของหัวเว่ยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้พลังงานต่ำ ครอบคลุมที่กว้างขวาง และความจุขนาดใหญ่ ตลอดจนสนับสนุนวิวัฒนาการความก้าวหน้าสู่ระบบ 5G อย่างราบรื่น นอกจากนี้ หัวเว่ยยังสร้างระบบนิเวศแบบเปิดและพร้อมใช้งาน รวมถึงจัดหาโซลูชั่นความปลอดภัยแบบครบวงจร ครอบคลุมชิปเซ็ต/ระบบปฎิบัติการ การรับส่งข้อมูล และแพลตฟอร์ม IoT โดยจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ของหัวเว่ยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นแตะระดับ 200 ล้านเครื่องทั่วโลก ในจำนวนนี้มีอุปกรณ์ IoT ถึง 90 ล้านเครื่องที่เชื่อมต่อกับบริการ e-Surfing Cloud ของบริษัท China Telecom และอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน Smart City อีก 1 ล้านเครื่องเชื่อมต่อกันในทั่วทุกมุมโลก
ยกระดับบริการคลาวด์: หนุนให้บริการ IoT อย่างแพร่หลาย
ในอนาคต ความต้องการการเชื่อมต่อ IoT จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นกุญแจสำคัญในการยกระดับบริการคลาวด์ IoT ก็คือการทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา การผนึกกำลังกันระหว่างแพลตฟอร์ม OceanConnect IoT และ OceanConnect Edge จะมอบการเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทั่วถึง บริการที่ยืดหยุ่น การบริหารจัดการที่เป็นหนึ่งเดียว ความร่วมมือด้านบริการ และการผสานข้อมูลที่เป็นไปได้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดขยายบริการคลาวด์ IoT จากศูนย์เครือข่ายสู่เครือข่ายเอดจ์
ยกระดับขีดความสามารถ AI : แปลงโฉมคุณค่าใหม่ให้ IoT
ข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับผ่านการเชื่อมต่อต้องอาศัยการวิเคราะห์อัจฉริยะเพื่อสร้างมูลค่า ระบบอัจฉริยะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการสร้างรายได้จาก IoT “ความอัจฉริยะ” เป็นอัลกอริทึมในระดับศูนย์เครือข่าย เอดจ์ และการรับรู้อุปกรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างอุปกรณ์กับระบบอัจฉริยะนั้นเปรียบเหมือนอวัยวะรับสัมผัสกับมนุษย์ กล่าวคือ ดวงตาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับมนุษย์ในการรับข้อมูล ดังนั้น ในฐานะที่เป็นดั่ง “ดวงตา” สำหรับโลกอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกัน กล้องอัจฉริยะจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการรับข้อมูลสำหรับการใช้งาน IoT เชิงอุตสาหกรรม โดยช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หัวเว่ยลงทุนอย่างมากกับชิปเซ็ต AI กล้องอัจฉริยะที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์วิดีโอแบบเอดจ์ และแพลตฟอร์ม OceanConnect AI ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของ AI ดังกล่าว หัวเว่ยจะสามารถช่วยให้หุ้นส่วนอุตสาหกรรมสร้างรายได้จากการใช้งาน IoT ในรูปแบบต่างๆ
หัวเว่ยเปิดตัว IoT Cloud Service 1.0 (DMP และ AEP) ที่งาน HUAWEI CONNECT 2017 และเพื่อให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน IoT (การเชื่อมต่อ ระบบคลาวด์ และระบบอัจฉริยะ) ของหัวเว่ยได้สะดวกยิ่งขึ้น หัวเว่ยจึงเปิดตัว IoT Cloud Service 2.0 ซึ่งมีการปรับปรุงหลักๆ สามประการด้วยกัน ได้แก่
ประการแรก สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการการพลิกโฉมธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล หัวเว่ยนำเสนอชุดซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมมาตรฐานแบบครบวงจร (pre-integrated) และแพลตฟอร์มสำหรับบริการคลาวด์ อาทิ Connected Vehicle, Intelligent Transportation, Smart City และ Smart Campus หุ้นส่วนอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็นนวัตกรรมได้อย่างยืดหยุ่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถสำรวจสถานการณ์หรือรูปแบบการใช้งานเพิ่มเติม เพื่อหาโซลูชั่นอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมีคุณค่า ด้วยการผนวกรวมความสามารถด้าน AI
ประการที่สอง เพื่อขยายการเชื่อมต่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น หัวเว่ยได้เปิดตัวบริการคลาวด์แบบ Lightweight ได้แก่ IoT Hub ซึ่งเป็นบริการด้านการจัดการอุปกรณ์น้ำหนักเบาที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ ซึ่งช่วยให้อุปกรณ์ IoT สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ในแนวทางที่คุ้มค่า
ประการที่สาม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เหล่าพันธมิตรในระบบนิเวศ หัวเว่ยได้เปิดตัว OceanConnect Market สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การจัดแสดง และการค้า โดยมาพร้อมกับเครื่องมือการพัฒนา การเปิดตัว และเครื่องมือ O&M ต่างๆ
ไมเคิล หม่า ประธาน Cloud Core Network Product Line ของหัวเว่ย กล่าวว่า “หัวเว่ยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อทำให้การใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปได้อย่างสะดวก พร้อมขยายตลาดด้วยการผนวกรวมเทคโนโลยี IoT และระบบอัจฉริยะเข้าด้วยกัน หัวเว่ยและพันธมิตรของเราสามารถมาร่วมกันเพื่อเป็นผู้สนับสนุนและผู้ขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อกันอย่างเต็มรูปแบบ”
HUAWEI CONNECT 2018 เป็นงานประชุมประจำปีสำหรับอุตสาหกรรม ICT และเป็นงานใหญ่ระดับโลกของหัวเว่ย สำหรับงานในปีนี้จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 10-12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีวัถุประสงค์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่สนับสนุนความร่วมมือและแบ่งปันระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้หารือถึงวิธีการคว้าโอกาสใหม่ๆ และสรรสร้างอนาคตที่ชาญฉลาดขึ้น