หลักสูตรผู้บริหาร 6 สถาบันครั้งที่ 9 ผนึกกำลังเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ

สถาบันพระปกเกล้า โดย หลักสูตรปปร. ร่วมกับหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน จัดงานประชุมวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “ก้าวต่อไปไทยแลนด์ : Thailand’s Next” พร้อมสรุปข้อเสนอทางวิชาการของนักศึกษา 6 สถาบันในการประชุมดังกล่าว ส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นส่วนในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูงหรือ(ปปร.) หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)หลักสูตรการพัฒนาเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) จัดการประชุมวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดยผู้บริหารของทั้ง 6 สถาบัน ได้เล็งเห็นว่า ในฐานะประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีแนวทางการปฏิรูปประเทศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งจากภายใน และสามารถเชื่อมโยงประชาคมโลก เพื่อสร้างเป้าหมายรวมของชาติร่วมกัน โดยการจัดการประชุม ทางวิชาการในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปไทยแลนด์ : Thailand’s NEXT”

 

โดยในปีนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก และร่วมเวทีเสวนากับผู้แทนนักศึกษาทั้ง 6 สถาบัน

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งว่า การก้าวเดินของประเทศจะต้อง เดินหน้าไปพร้อมๆกับการก้าวเดินของคนในประเทศ โดยยึดการก้าวเดินของประชาชนเป็นหลัก และแม้ว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่รัฐบาลอยากดำเนินการให้ลุล่วงโดยเร็ว แต่ยังติดในข้อกฎหมาย เพราะการก้าวเดินของประเทศนั้น จะแตกต่างกับการก้าวเดินของคนทั่วไป

 

ทั้งนี้ หากจะมองย้อนไปถึงการก้าวเดินของประเทศไทยในอดีต จะมีลักษณะ คือการก้าวเดินอย่างไม่มั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดๆก็ตามล้วนมีการก้าวเดินอย่างมั่นใจ เนื่องจาก เมื่อมองไป ทางไหนก็จะเห็นแต่ขวากหนามและอุปสรรค เพราะต้องอาศัยทั้งกฎหมาย งบประมาณ อาศัยประชาชน และความเข้าใจของประชาชน จึงจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้

 

“ในอนาคตจากนี้ไป การก้าวเดินของรัฐบาลจะต้องเดินอย่างอย่างมั่นคงในทุกๆด้าน หนึ่งคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเรามีบทเรียนจากอดีต ที่การขาดบางอย่างก็ทำให้ขาดความเชื่อมั่น จึงไม่สามารถจะก้าวต่อไปได้ไกลนัก ส่งผลให้การก้าวเดินของรัฐบาลในอดีต เป็นการก้าวเดินแบบ “สะเปะสะปะ” หรือการเดินหน้าแบบไม่ตรงเป้าหมาย ดังนั้น กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลชุดนี้ได้วางไว้ จึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในทุกๆทาง ภายหลังจากนี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเสนอข้อคิดเห็น ตามเป้าหมายของกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี นั่นคือ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

 

โดย ห้องมั่นคง (Security Lab) นำโดย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (หลักสูตรวปอ.) และสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (หลักสูตรบ.ย.ส.) ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ การหลอมรวมหลักนิติธรรมกับพลังพัฒนาความมั่นคงมนุษย์สู่ยุทธศาสตร์ชาติ Human Security การสร้างคนในสังคมให้เป็นคนที่มี Rule of Law ในสายเลือดจะเป็นพลังพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปริญญา หอมเอนก (ประธานและผู้ก่อตั้งเอซิส โฟรเฟสชั่นนัลเซ็นเตอร์) เป็นวิทยากรหลัก

ขณะที่ ห้องมั่งคั่ง (Economy Lab) โดย สถาบันวิทยาการตลาดทุน (หลักสูตรวตท.) และสถาบันวิทยาการการค้า (หลักสูตรTEPCot) มุ่งประเด็นสำคัญ “Next Opportunities” การพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในอนาคต ด้านเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน การค้า และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนร่วมกันเพื่อแสวงหาโอกาสและกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัล

 

โดยมีวิทยากร คือ คุณสุวภา เจริญยิ่ง (อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย) คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา (กรรมการบริหาร บริษัท สลิงชอต กรุ๊ป จำกัด) น.ต.พญ.นลินี ไพบูลย์ (ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ จำกัด) ดร.สุธี โมกขะเวส (รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และคุณนิลาวัลย์ พาณิชย์รุ่งเรือง (กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นไอ.คอม จำกัด)

ส่วน ห้องยั่งยืน (Political Lab) โดย สถาบันพระปกเกล้า (หลักสูตรปปร.) และ สำนักงานกกต. (หลักสูตรพตส.) มุ่งเน้นประเด็น “ประชาธิปไตยแบบดุลอำนาจ” วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองไทย

 

ทั้งนี้ ในห้องPolitical Lab นั้น ได้ใช้รูปแบบการอภิปรายกึ่งดีเบต โดยมีผู้แทนของหลักสูตรปปร.และหลักสูตรพตส.นำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์วิพากษ์ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย (อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) คุณสรณะ เทพเนาว์ (นายกสมาคมพนักงานเทศบาลประจำประเทศไทย) ดร.วิเชียร รุจิธำรงกุล (ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง) คุณชาตรี อยู่ประเสรฐ (เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย) และดำเนินรายการคุณอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล (สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์)

ในช่วงสรุปปิดท้ายของงานประชุมวิชาการ มีผู้แทนนำเสนอรายงานผลการสัมมนากลุ่มย่อย จากทั้ง 3 ห้อง และพิธีส่งมอบธงให้เจ้าภาพปีต่อไป โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า : หลักสูตรปปร. ) ส่งมอบให้กับ คุณจรุงวิทย์ ภุมมา (เลขาธิการกกต. : หลักสูตรพตส.) ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพในปีต่อไป

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอทางวิชาการของนักศึกษา 6 สถาบันในการประชุมดังกล่าว จะส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นส่วนในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทยให้นำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรมต่อไป