สู่เวอร์ชั่นที่ดีกว่า เอสซีจีดันโปรเจ็กต์ Internal Startupพร้อมรุกธุรกิจบริการ

PASSION FOR BETTER คือแผนขับเคลื่อนองค์กรใหม่ของเอสซีจี ที่เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีกว่า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า (Customer Value Proposition)

 

ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ Digital Transformation 3 ด้าน ทั้งพัฒนานวัตกรรมจากภายใน-สร้างความร่วมมือจากภายนอก-ใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทย์ เป็นแผนงานหลัก

และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนองค์กร PASSION FOR BETTER เพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่และท้าทายเอาชนะความคุ้นชินเดิมๆไปสู่เวอร์ชั่น “ที่ดีกว่า” เอสซีจีพร้อมผลักดันโครงการ Internal Startup เปิดโอกาสพนักงานที่มีศักยภาพริเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่ ด้าน AddVentures ซึ่งมีเป้าหมายลงทุนสตาร์ทอัพทั่วอาเซียนต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริม Ecosystem ให้เติบโตยั่งยืน

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจพฤติกรรมเชิงลึก (Insight) ของลูกค้าและผู้บริโภค สามารถตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที และให้บริการลูกค้าได้แบบ One-stop service มากขึ้น โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องกับคน กระบวนการทำงาน และผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโซลูชั่นของเอสซีจี

 

“ด้วยความมุ่งมั่นของเอสซีจีที่ต้องการพัฒนาสินค้าและบริการให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น หรือ PASSION FOR BETTER เราจึงพยายามตั้งคำถามที่จะทำให้เข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์ตรงใจ และทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป” ยุทธนา กล่าว

ปัจจุบัน เอสซีจีได้ตั้งหน่วยงาน Digital Transformation ขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบใน 3 ส่วนงานหลัก ได้แก่

 

1. ส่วนงานภายใน โดยดูแลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบุคลากรภายในองค์กร เพื่อสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ผลักดันให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ในเอสซีจี และเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดกับธุรกิจหลักได้

2. ส่วนงานภายนอก โดยจัดตั้ง AddVentures เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน (Corporate Venture Capital) ของเอสซีจีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

และ 3. ส่วนงาน Core Transformation โดยนำเรื่องของ AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยทำ Data Analytics และ Digital Marketing เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดความเสี่ยงให้กับเอสซีจีและบริษัทต่างๆ ในเครือ

จากการปรับทิศทางดังกล่าว ทำให้เอสซีจีสามารถบริหารจัดการงานภายใน ทั้งด้านกระบวนการทำงานของพนักงานและด้านการผลิต ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ Industry 4.0 ขณะเดียวกันก็สามารถแก้ไขปัญหา (Pain Point) ของลูกค้าทั้งกลุ่มภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากขึ้น เพราะได้มีการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะ Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรม ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ขณะนี้ เราเริ่มมีธุรกิจกลุ่มดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการลูกค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน เช่น Home Buddy แอปฯ ให้คำปรึกษา ออกแบบ เลือกซื้อสินค้าสำหรับการสร้างบ้าน โดยคาดว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะมีธุรกิจกลุ่ม B2B for C หรือธุรกิจต่อธุรกิจเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในปัจจุบันของเรา เช่น ธุรกิจที่ตอบโจทย์ e-Logistics แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ตอบโจทย์ Omni Channel และจะมีการขยายโมเดลลักษณะนี้ไปในอาเซียนด้วย”

 

ด้าน ดร.จาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation เอสซีจี และกรรมการผู้จัดการ AddVentures โดยเอสซีจี กล่าวว่า สำหรับส่วนงานภายใน ของหน่วยงาน Digital Transformation นั้น มีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีโครงการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับพนักงานภายใน หรือ Internal Startup Program ขึ้น เพื่อให้พนักงานที่มีศักยภาพ มี Passion ในการทำธุรกิจ และอยากมีส่วนร่วมในการคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า สามารถนำเสนอโมเดลธุรกิจของตัวเองเข้ามาร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการทำงานอย่างอิสระ รวมถึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเอสซีจีโดยตรงสำหรับการดำเนินโครงการ

ขณะที่ส่วนงานภายนอกนั้น หลังจากก่อตั้ง AddVentures โดยเอสซีจี มาได้ราวปีกว่า ได้พัฒนาความร่วมมือไปในหลากหลายลักษณะ ทั้งการเข้าลงทุนผ่านกองทุนชั้นนำที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund Investment) และการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ (Direct Investment) โดยมีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือกับ GIZTIX สตาร์ทอัพด้าน Logistics Market Place, BUILK แพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีอยู่แล้วใน 5 ประเทศ และ Baania แพลตฟอร์มค้นหาอสังหาริมทรัพย์พร้อมบริการข้อมูลครบวงจร

 

“เรายังคงเปิดรับโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อใช้ความเชี่ยวชาญของเรา ผสานเข้ากับไอเดียของสตาร์ทอัพเหล่านั้น ในการตอบโจทย์ลูกค้าและส่งเสริม Ecosystem ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.จาชชัว กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน AddVentures ได้เข้าลงทุนทั้งแบบ Fund of Fund Investment และ Direct Investment แล้ว 11 ราย และสร้างความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับบริษัทภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้งที่เป็น Early stage และ Growth stage startups ทั่วโลก ซึ่งมีโครงการที่มีความคืบหน้าแล้วกว่า 70 โครงการ