13 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วันสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่สืบทอดปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างว่าทำไมถึงเกิดเป็น เทศกาลสงกรานต์ อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่รู้หรือไม่ ? ในสิ่งที่เรารู้ ย่อมต้องมีสิ่งที่เราไม่รู้แฝงอยู่ด้วย วันนี้เราจะพามาดูภาพรวมกันว่า 13 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์นั้นมีอะไรกันบ้าง
คำว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปอีกราศีหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เดือน แต่ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีน เพื่อเข้าสู่ราศีเมษนั้น จะมีชื่อเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า “มหาสงกรานต์” เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ แต่เราจะเรียกกันเพียงสั้น ๆ ว่า “สงกรานต์” เท่านั้น และเมื่อนับทางสุริยคติ “วันสงกรานต์” จะอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุก ๆ ปี
โดยปกติแล้วในวันสงกรานต์สิ่งที่คนไทยมักจะทำกันเป็นกิจวัตรประจำทุกปี ได้แก่ การทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ การทำความสะอาดบ้านเรือน และการเล่นสงกรานต์สาดน้ำกันเพื่อนสร้างความชุ่มเย็นให้กับร่างกาย ดังจะเห็นได้จากตามพื้นที่ ตามจังหวัดต่างๆ แต่สงกรานต์ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีก
13 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์นั้นมีดังนี้
1. สมัยก่อน วันปีใหม่ไทย ไม่ได้ตรงกับวันสงกรานต์
ในสมัยโบราณ เราได้ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เป็น “วันปีใหม่ไทย” ก่อนที่เราจะเปลี่ยนมาถือเอาวันสงกรานต์นั้นเป็นวันปีใหม่ไทยแทน
2. ไม่ใช่แค่ชาวไทยที่มีประเพณีสงกรานต์เท่านั้น แต่ชนชาติอื่นๆ ก็ยังมีเหมือนกัน
นอกจากชาวไทยที่มีประเพณีสงกรานต์แล้ว ชนชาติอื่นอย่าง พม่า มอญ ลาว หรือแม้แต่ชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆ ที่เป็นส่วนน้อยในจีน อินเดีย ล้วนแต่ก็มีประเพณีสงกรานต์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานเช่นเดียวกัน และถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของพวกเขาด้วยเช่นกัน
3. ภาคกลางเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น วันมหาสงกรานต์
ซึ่งในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” จากนั้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้ในวันนี้เป็น “วันครอบครัว” อีกด้วย ส่วนในวันที่ 15 เมษายน คือ “วันเถลิงศก” เป็นวันเริ่มต้นจุลศักราชใหม่
4. ภาคเหนือ หรือทางล้านนาเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น วันสังขารล่อง
“วันสังขารล่อง” ผู้หลักผู้ใหญ่ทางภาคเหนือ หรือทางล้านนาได้ให้ความหมายของวันนี้ว่าเป็นวันสิ้นอายุไปอีกปี ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันที่ชาวล้านนาเชื่อกันว่าห้ามพูดจาหยาบคาย มิเช่นนั้นปากจะเน่าและชีวิตจะไม่เจริญรุ่งเรืองไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน” เป็นวันเปลี่ยนศกใหม่
5. ภาคใต้เรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น วันเจ้าเมืองเก่า หรือ วันส่งเจ้าเมืองเก่า
โดยในวันที่ 13 นี้ ชาวภาคใต้เชื่อกันว่าจะเป็นวันที่เทวดาที่คอยปกปักรักษาบ้านเมืองจะเดินทางกลับไปชุมนุมที่สวรรค์ ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ไร้ซึ่งเทวดารักษาบ้านเมือง เพราะฉะนั้นในวันนี้ชาวบ้านจะงดงานอาชีพต่างๆ เพื่อเดินทางไปทำบุญที่วัด ส่วนในวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เป็นการต้อนรับเทวดาองค์ที่ลงมาปกปักรักษาบ้านเมืองแทนเทวดาองค์เดิมที่ได้ย้ายไปประจำยังเมืองอื่นแล้ว
6. ตำนานสงกรานต์ที่ถูกจารึก
ตำนานสงกรานต์ ก็คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีวันสงกรานต์ รวมถึงนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงในแผ่นศิลา 7 แผ่น แปะประดับไว้ที่ศาลารอบมณฑบทิศเหนือในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
7. นางสงกรานต์ คือ นางฟ้าที่กำเนิดในชั้นจตุมหาราชิกา
นางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ เป็นพี่น้องกัน กำเนิดอยู่ในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกาซึ่งเป็นชั้นต่ำที่สุด โดยทั้ง 7 ล้วนแต่บาทบริจาริกาของ “พระอินทร์” หรือถ้าในเทียบในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกับนางบำเรอของจอมเทวราช อีกทั้งทั้ง 7 ยังเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมตามตำนานอีกด้วย
8. นางสงกรานต์นามตามวันในแต่ละสัปดาห์
นาง ทุงษะเทวี ประจำ วันอาทิตย์
นาง โคราคเทวี ประจำ วันจันทร์
นาง รากษสเทวี ประจำ วันอังคาร
นาง มณฑา ประจำ วันพุธ
นาง กิริณี ประจำ วันพฤหัสบดี
นาง กิมิทา ประจำ วันศุกร์
นาง มโทร ประจำ วันเสาร์
9. นางสงกรานต์แต่ละองค์มีพาหนะคู่กายที่ไม่เหมือนกัน
พาหนะคู่กายของนางสงกรานต์จะต่างกันไปตามลำดับวันในสัปดาห์ ได้แก่ นาง ทุงษะ ขี่ครุฑ, นาง โคราค ขี่เสือ, นาง รากษสขี่หมู, นาง มณฑา ขี่ลา, นาง กิริณี ขี่ช้าง, นาง กิมิทา ขี่ควาย, นาง มโหทร ขี่นกยูง ซึ่งสัตว์ประจำนางสงกรานต์จะไม่ได้เป็นไปตามปีนักษัตรนั้นๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
10. นางสงกรานต์ประจำปี 2561
นางมโหธรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว(ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จยืน มาเหนือหลังมยุรา(นกยุง) เป็นพาหนะ คลิกอ่าน ประวัตินางสงกรานต์ทั้ง 7 ที่นี่
11. รู้หรือเปล่า ? คำว่า ดำหัว แปลว่า สระผม
ถ้าให้แปลตรงตามตัว คำว่า “ดำหัว” นั้น หมายถึง การสระผม แต่ในความหมายของทางล้านนาแล้ว การ “ดำหัว” อาจหมายถึง การเดินทางไปขออโหสิกรรมในสิ่งที่เรากระทำผิด สิ่งที่ได้ล่วงเกินในช่วงเวลาที่มา มีการขอพรเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต จากญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส หรือครูบาอาจารย์
12. ในวันสงกรานต์จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งกำเนิดขึ้น
ข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า ตัวสงกรานต์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายไส้เดือน เล็กเท่าเส้นด้ายประมาณ 2 นิ้ว มีสีสะท้อนเมื่อต้องกับแสง มีความสามารถเปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ มักอยู่รวมกันเป็นฝูง จะท้อนเป็นแสงสีสวยงาม เมื่อจับขึ้นพ้นน้ำ สีเหล่านั้นจะหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆ และเหลวละลาย ปัจจุบันเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
13. ที่มาของการก่อเจดีย์ทราย
การก่อเจดีย์ทรายมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยก่อน “พระเจ้าปเสนทิโกศล” ได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมด้วยบริวาร พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ จึงเกิดจิตศรัทธาก่อทรายขึ้นเป็นเจดีย์ทั้งสิ้น 8 หมื่น 4 พันองค์เพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา ซึ่งเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงทูลถามอานิสงส์ของการสร้งเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสรับว่า การที่มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาก่อสร้างเจดีย์ทราย 8 หมื่น 4 พันองค์ หรือแม้แต่องค์เดียวก็จะได้รับอานิสงส์มาก จะไม่ตกนรกหลายร้อยขุม หากเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ เงิน ทอง เมื่อตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ จึงเป็นที่มา
ที่มา Sanook.com