เราอาจเคยเห็นผู้ให้บริการ eProcurement Platform ล้มหายตายจากกันไป ทั้งที่ในยุคแรกมีผู้ให้บริการจำนวนมาก แล้วอะไรคือ ‘อาวุธลับ’ ที่ทำให้ ‘พันธวณิช’ ยืนหยัดอย่างแข็งแรง จนกลายเป็นผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นด้านการจัดซื้อได้ พบคำตอบได้ที่นี้
ต้องบอกว่ารายได้ธุรกิจ eProcurement มาจากค่าบริการตามจำนวน Volume ดังนั้น ถ้า Volume ในการทำ Transaction ผ่านระบบไม่มากพอ เม็ดเงินที่จะหล่อเลี้ยงบริษัทจะอยู่ได้ยาก ขณะเดียวกันหากบริษัทเหล่านั้นใช้ไลเซนส์ต่างประเทศ จะต้องแบกรับค่าไลเซนส์เพิ่มขึ้น และถึงแม้จะไม่ใช้ไลเซนส์จากต่างประเทศ แต่ก็ต้องมีคอร์สในการพัฒนาแพลตฟอร์มสูงมาก จนทำให้ผู้ให้บริการดังกล่าวต้องปิดตัวลงในท้ายที่สุด
หากไม่ใช่สำหรับ ‘พันธวณิช’ เจ้าของ eProcurement Platform สายพันธุ์ไทย เพราะปัจจุบันได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการตลาดกลางการค้าออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ กลายเป็นผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นด้านการจัดซื้อในที่สุด
eProcurement Platform คืออะไร?
คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการซื้อของผู้ซื้อ และข้อมูลสินค้า/ราคาจากผู้ขาย เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินศักยภาพผู้ขายหลายๆ บริษัท ได้พร้อมๆ กัน
เส้นทางธุรกิจ eProcurement ของ ‘พันธวณิช’
บริษัท พันธวณิช จำกัด เปิดตัวในปี 2544 โดยนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสการทำธุรกิจตลาดกลางการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มซีพี และกลุ่มเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ โดยมุ่งหวังที่จะลดต้นทุนในการจัดซื้อขายและประมูลอุปกรณ์ให้กับธุรกิจในเครือ รวมถึงให้บริการแก่ลูกค้ารายอื่น ๆ ในประเทศไทย
แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ หนทางของ “พันธวณิช” ต้องอาศัยทั้งความขยัน ต่อสู้ และอดทนเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครอธิบายเส้นทางความสำเร็จนี้ พร้อมทั้งภาพใหม่ของพันธวณิชที่จะเติบโตใหญ่กว่าเดิมได้ดีเท่า อภิสิทธิ์ คุปรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พันธวณิช จำกัด
โดย 3-4 ปีแรก ของธุรกิจ ทั้งนี้ Mission สำคัญ คือ การให้บริการกับ 5 องค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงเลือกใช้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ส่งผลให้ต้นทุนสูงมาก แต่ได้กำไรน้อย และมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่มาก
อภิสิทธิ์ อธิบายให้ฟังว่า “ในที่สุดได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิถีคิดใหม่ โดยหันมามุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง ซึ่งในช่วงแรกสามารถจะเข้าไปทดแทนในบางแพลตฟอร์มได้ จึงเดินหน้ารุกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”
จนปัจจุบันพันธวณิชกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม eProcurement Platform ที่สมบูรณ์ครอบคลุมการให้บริการแบบ End-to-End
หน่วย: ล้านบาท
ผลดำเนินงาน |
ปี 2557 |
ปี 2558 |
ปี 2559 |
ปี 2560 |
รายได้รวม | 409.76 | 451.79 | 452.32 | 551.67 |
กำไรสุทธิ | 177.38 | 195.1 | 165.21 | 188.97 |
จากตารางข้างต้น สำหรับรายได้รวมนั้นปี 60 เพิ่มขึ้นถึง 99.35 ล้านบาท หรือ 23.22% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งในระยะเวลากว่า 4 ปี รายได้รวมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากำไรสุทธิของ พันธวณิช ในปี 60 เพิ่มขึ้น 23.76 ล้านบาท หรือ 14.38% จากปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ‘พันธวณิช’ มีลูกค้าที่มีศักยภาพทั้งบริษัทประกันชีวิต และสถาบันการเงินชั้นนำของไทย อย่างไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และธนชาต รวมถึงมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบประมูลออนไลน์ จากปีแรกที่มีมูลค่าเพียง 200 ล้านบาท ขยับเพิ่มขึ้นถึง 200,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ขณะเดียวกันผู้ผลิตที่เข้ามาเสนอสินค้าปัจจุบันเพิ่มเป็น 20,000 ราย
นอกจากนี้ พันธวณิชยังได้ชื่อว่าเป็น eProcurement ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในอาเซียน ทั้งยังจัดเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสัญชาติไทยหนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัล Top 10 Procurement Tech Solution Providers 2018 จาก APAC CIOoutlook รวมถึงได้รับเลือกเป็น To Be Featured On The Cover Story Of Top 10 Procurement Tech Solution อีกด้วย
อาวุธลับที่ไม่ลับ
กุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ อภิสิทธิ์ อธิบายให้ฟังว่า มาจาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ
- การยึดความสำเร็จของลูกค้าเป็นที่ตั้ง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ Pain Point ของลูกค้าและซัพพลายเออร์ เพื่อช่วยให้ธุรกิจลูกค้าขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น
- ความโดดเด่นของระบบ eProcurement Platform ที่แตกต่างและมีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ
- การโฟกัสเฉพาะ eProcurement Platform เพียงอย่างเดียว
“ถามว่าธุรกิจนี้ยากไหม บอกเลยว่ายาก กว่าเราจะขับเคลื่อนมาถึงจุดนี้ได้ โดยช่วงแรกต้องอาศัยการบิวด์วอลุ่มขึ้นมา และการซื้อขายผ่านระบบต้องได้รับการเชื่อถือจริง ๆ”
เป้าหมายสู่ความยิ่งใหญ่
- The Best eProcurement in Asean คือ เป้าหมายของพันธวนิช
- พันธวนิชจะรุกขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยวางแผนจะเข้าไปตั้งสำนักงานสาขาในแต่ละประเทศ ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
- พัฒนาแพลตฟอร์มตัวใหม่ในชื่อ “One Planet Standard” เพื่อให้บริการกับกลุ่มองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กได้ใช้แพลตฟอร์มในราคาเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
- เป็นผู้ให้บริการ Consulting Firm เพิ่มขึ้น ด้วยการนำ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนกลยุทธ์การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“คิดว่าเราอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยีไม่มีคำว่าที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เป็นการเอาชนะความท้ายทายของตัวเอง ก็เหมือนนักมาราธอน ที่ต้องพัฒนาตัวเองให้วิ่งเร็วและไกลขึ้นตลอดเวลา” อภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม Vision และ Strategy ของ ‘พันธวณิช’ มีความชัดเจน ทั้งความพยายามในการเข้าไปช่วยลูกค้า Transform ธุรกิจจนประสบความสำเร็จ โดยใช้ดิจิทัลแบบ End-to-End และความพยายามเจาะตลาดอาเซียนในอนาคต รวมถึงการเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ ‘พันธวณิช’ เติบโตขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ตลาดของ eProcurement สำหรับองค์กรขนาดกลางและเล็ก ยังคงมีคู่แข่งจากแบรนด์ต่างชาติจำนวนมาก และการบริหารงานของพันธวณิชยังคงมีความ Conservative สูง ซึ่งอาจทำให้องค์กรเติบโตอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้