ร้านอาหารอินเดีย ในกรุงเทพฯ ที่ถูกจริตกับคนไทย มีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ จะเป็นร้านดังย่านพาหุรัด ถนนสีลม ไปถึงหลังสวนอินเดียแบบฟิวชั่น ร้านริมข้างทางบนถนนเจริญนครก็มีไว้เป็นทางเลือก ไปถึงถนนที่มีเหล่าเซเลบเดินกันขวักไขว่ ซอยทองหล่อ ไล่เรียงไปถึงร้านอาหารอินเดียบนห้างหรูโรงแรมระดับไฮเอนด์
นึกถึงอาหารอินเดีย หลับตาสูดกลิ่นเครื่องเทศอินเดีย กลิ่นของเมล็ดมัสตาร์ดสีดำ (rai) ยี่หร่า (jeera) ขมิ้นชัน (haldi, manjal) เมล็ดฟีนูกรีก (methi) ขิง (adrak, inji) ผักชี (dhania) และกระเทียม (lehsun, poondu)
ยังมีเครื่องเทศผสมที่นิยมคือ การัม มะสะล่า garam masala ผงที่มักจะมีเครื่องเทศแห้งอย่าง กระวาน อบเชย และกานพลู Goda masala เป็นเครื่องเทศผสมที่คล้ายกันเป็นที่นิยมในรัฐมหาราษฏระ ใบไม้ที่ใช้โดยทั่วไปคือ ใบกระวาน ใบผักชี ใบฟีนูกรีก และใบสะระแหน่ พบในอาหารอินเดียใต้ อาหารหวานนิยมปรุงรสด้วยกระวาน, หญ้าฝรั่น ลูกจันทน์เทศและกลิ่นกุหลาบ
นึกเพิ่มต่อไปอีกว่า หากมาพร้อมกับบรรยากาศการตกแต่งของร้านที่คลุกเคล้าเป็นส่วนผสมสำคัญที่ช่วยเพิ่มความละเมียดในการทานอาหาร ก็จะเป็นสารตั้งต้นช่วยเพิ่มอรรถรสในการลิ้มชิมรสอาหารอินเดียได้อย่างครบองค์เรื่องของอาหารอินเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น
บนชั้น 5 ของอาคารเฟรเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท ในซอยสุขุมวิท 11 ก่อนหน้าสร้างชื่อไว้กับร้าน ‘อโบฟ อีเลเว่น’ บาร์สุดชิคยอดนิยมและห้องอาหารเปรู-ญี่ปุ่น บนตึกเดียวกัน บริหารงานโดย โซโห ฮอสพิทาลิตี้ เจ้าของเดียวกันกับร้านอาหารอินเดีย ‘ชาร์โคล ทันดูร์ กริลล์ & มิกโซโลจี’ (Charcoal Tandoor Grill & Mixology)
เจ้าของเป็นลูกครึ่งไทย-อินเดีย ‘โรหิต แซคเดฟ’ ที่ชอบการเดินทางแวะเวียนไปร้านอาหารที่มีคอนเซ็ปต์และเรี่องราวไปทั่วโลก เก็บบันทึกเป็นข้อมูลนำไปสู่การดำเนินธุรกิจรับออกแบบตกแต่งให้กับโรงแรมเชนดัง และรีสอร์ทระดับไฮเอนด์ เช่น แอคคอร์, สตาร์วูด, ฮิลตัน โฮเตล และล่าสุดรับงานออกแบบตกแต่งร้านอาหารให้กับไมเนอร์กรุ๊ป ในแบรนด์ อนันตรา
นำพาไปสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบตกแต่งร้านอาหารอินเดีย ชาร์โคลฯ โรหิต เล่าให้ฟังว่า “อาหารกับบรรยากาศของร้านต้องไปด้วยกัน ชาร์โคลเป็นร้านอาหารอินเดีย การตกแต่งจึงต้องมีแนวคิดใส่ความคิดสร้างสรรค์ นำของตกแต่งที่สื่อถึงความเป็นอินเดีย แก้ว จาน รูปภาพ สื่อที่เป็นเสียงดังของผู้คนและรถยนต์บนท้องถนน ที่มีความเชื่อมต่อถึงกันกับ ‘ดับบาวาลา’ (dabbawala) ธุรกิจส่งปิ่นโตอาหารเที่ยงในเมืองมุมไบ ที่นำมาจัดวางประกอบรูปภาพได้อย่างมีเรื่องราว”
เมนูส่วนใหญ่ของร้าน ชาร์โคลฯ โดดเด่นเรื่องเครื่องเทศที่ชะโลมมากันแบบเอาใจลูกค้าฮาร์ดคอร์ที่ชื่นชอบกลิ่นเครื่องเทศ โดยผ่านการย่างด้วยถ่านไม้ ‘Birchwood’ ในเตาธันดูร์ดินเผาหุ้มแผ่นทองแดงเงาวาววับ เพื่อให้ได้กลิ่นหอมอบอวล สมกับเป็นอาหารสูตรจากราชวังแห่งกษัตริย์โมกุล โดยเฉพาะเมนูพิเศษ ซึ่งปรุงโดย ‘ทีปังเคอร์ โคสลา’ หัวหน้าพ่อครัว ที่ฝึกฝนการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก
เริ่มต้นบิวด์อารมณ์กับเครื่องดื่มค็อกเทลสูตรของนักผสมเครื่องดื่ม ‘โจเซฟ โบรอสกี้’ มิกซ์ซัลแตนท์ชื่อดังที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย แนะนำ นิวเดลี ดิวตี้ ฟรี (New Delhi Duty Free) ส่วนผสมหลัก มะม่วงสุก น้ำผึ้งผสมเครื่องเทศรสเผ็ด มะนาวสด บาคาร์ดี้ สุพีเรีย ผสมให้เข้ากันกับน้ำแข็ง ความหวานแซงหน้า เผ็ดตามตอนจบแบบเนียนๆ
จบแก้วแรก Main Course ยังไม่ออกมาจากเตาธันดู ค็อกเทลแก้วสองตามมาหนักขึ้นอีกนิด ‘1947: อินดิเพนเดนซ์ (1947:Independence) ที่มีเครื่องเทศหลักอย่าง ดอกจันทน์เทศและกานพลู ใส่เม็ดทับทิมและน้ำเชื่อมกระเจี๊ยบ เพิ่มมะนาว และไข่ขาวเป็นตัวสร้างฟอง โดยมีพระเอกอย่าง Absolut Vodka เสิร์ฟมาในกาทองเหลืองทานคู่กับบิสกิตกรอบจากอินเดียขนานแท้
นั่งอ้อยสร้อยตาฉ่ำไม่อยากเคลื่อนกายไปไหน รอค็อกเทล สูตรเฉพาะของทางร้าน ชาร์โคลฯ ที่ชื่อ ‘มิสติก ที พ็อต’ (Mystic Tea Pot) เครื่องเทศตัวจี๊ดคือ กะวาน พระเอกคือ Bombay Sapphire ผสมกับชาดำอัสสัม เสริมรสด้วยเสาวรส น้ำผึ้ง มะนาวสีเหลืองเท่านั้น เพียงเท่านี้ความสดชื่นก็กลับคืนมาโดยพลัน
ก่อนจะเป็นหนังชีวิตลากยาวไปมากกว่านี้ เมนูเต็มหน้ากระดาษถูกเคลื่อนย้ายออกมาจากเตาธันดู เริ่มจากอาหารจากมือแม่ ที่ทำให้ลูกหลานชาวอินเดียได้ทานจนเติบใหญ่มาถึงวันนี้ ‘แพนเนียร์ ติ๊กก้า’ (Paneer tikka) ชีสสด หมักครีมสด ผสมเครื่องเทศ และพริกเหลือง ออกมาจากเตาธันดูร์ร้อนๆ
‘ทันดูรี จิงก้า พรอน’ (Tandoori Jhinga prawns) กุ้งทะเลหมักเครื่องเทศ ผสมโยเกิร์ต พริกแดง ขมิ้น หุ้มด้วยกระดาษฟอยส์ นำเข้าอบในเตาธันดูร์เหมือนเดิม เนื้อกุ้งนิ่มไปหน่อย แต่เคี้ยวง่ายสบายกราม
อยากทานผักก็ได้ดั่งใจ จานนี้ชื่อ ‘ทันดูรี มาลัย บร็อคโคลี’ (Tandoori Malai Broccoli) บร็อคโคลี่สดหัวเล็กกว่ากำปั้นเล็กน้อย หมักด้วยโยเกิร์ต ครีมชีส น้ำส้มสายชูหมักจากมอลต์ และพริกเขียว ออกมาจากเตาธันดูร์ อร่อยถูกใจ
จานนี้เป็นเนื้อแกะพรีเมียมจากนิวซีแลนด์ ‘อังการ์ กี ปาสลียาน’ (Angaar Ki Pasliyaan) หมักเครื่องเทศข้ามคืน และพริกขี้หนูแดง น้ำส้มสายชู มอลต์ ขิง กระเทียม กลิ่นยี่หร่าอวลเบาๆ อยู่รอบเนื้อแกะที่นิ่มนุ่มอร่อยจนต้องยอมยกนิ้ว จับคู่กับ ค็อกเทล 1947:Independence ไหลลื่นไปถึงคำสุดท้าย
แต่หากเป็นเนื้อแกะสับละเอียดจนเนื้อเนียน ละม้ายคล้ายตับห่าน Foie Gras รสชาติจะหนักหน่วงกว่ากันเยอะ มีชื่อว่า ‘Galauti’ ทานคู่กับเครื่องดื่ม เบียร์ถึงจะเอาอยู่…
ปลามาแล้ว!! เป็นปลาจาละเม็ดรุ่นประมาณ ‘ฟลายเวท’ ที่ชื่อ ‘ทันดูรี พอมเฟรท’ (Tandoori Pomfret) ผ่านการปรุงรสด้วยเครื่องเทศ อย่าด่วนสรุปเพียงรูปลักษณ์ภายนอก ข้างในเนื้อขาวคงความสดใหม่จากทะเล
เช่นเดียวกับ ‘ชาร์โคล สแกลล็อป’ (Charcoal Scallops) หอยเชลล์รองรับด้วยมันบดอยู่ด้านล่าง โชยกลิ่นพริกไทยดำ ทานกับซอสรากผักชีและซอสมะม่วง เข้ากันได้ดีกับค็อกเทล New Delhi Duty Free
มื้ออาหารจะไม่สมบูรณ์หากขาดดาล ซุปถั่วข้น ส่วนผสมมีมะเขือเทศ ขิง กระเทียม ที่ชื่อ ‘ดาล ชาร์โคล’ (Dal Charcoal) เคี้ยวกันแบบข้ามคืน ทานคู่กับ ‘เตอร์ราฮ์ นาน’ (Turrah Naan) จากแป้งสาลี หรือจะทานกับ นาน กระเทียมก็ได้เหมือนกัน
สำหรับคนติดข้าว ต้องนี่เลย! ‘เมอร์ ยักฮ์นี บิไรยานิ’ (Murgh Yakhni Biryani) เนื้อไก่วางอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยข้าวบัสมาตีตัวเรียวยาว ร่วน นุ่ม ผสมเครื่องเทศนำไปหุงกับหม้อเคลือบดินเผา เสิร์ฟร้อนๆ ทานคู่กับซอสกระเทียมโยเกิร์ต
ของหวานรับไม่ไหวแล้วครับ! กับเมนูเต็มหน้ากระดาษ A4 ขอเลือกจบกับค็อกเทลอีกรอบ จากเบาไปหาของหนัก กับค็อกเทลสั่งลา เป็น Maharaja Mai Tai ที่มีน้ำกระเจี๊ยบ น้ำส้ม และสัปปะรด อยู่ในจอกทองเหลืองใบเล็กไว้ใช้ผสมลงไปในแก้วตามสูตร จากนั้นดื่มด่ำกับรสชาติไปอย่างไม่ต้องเร่งรีบ
จบแบบลองของแบบแน่นๆ เน้นๆ ด้วย ‘Dark Rum Indian Old-Fashioned’ ตัวหลักคือ Bacardi Black เคียงมากับรสของมะนาวเพื่อกดความขื่น จับคู่กับกระเจี๊ยบแดงและวานิลลา
เดินเกลือกตาไปมาออกมาจากร้าน ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของผู้คน รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนในเมืองมุมไบ…