ดัชนี DJSI คืออะไร เน้นการประเมิน 3 ด้านคือ ESG

ใคร ๆ ที่ทำธุรกิจก็ย่อมต้องการให้ธุรกิจเติบโต จริงอยู่ว่าการคิดถึงผลกำไรเป็นสิ่งสำคัญ แต่คุณอาจทำธุรกิจได้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าคุณคงไม่ถูกใจสิ่งนี้เท่าไร เพราะเจ้าของธุรกิจทุกคนย่อมต้องการให้ธุรกิจของตนดำเนินต่อไปได้ยาวนานที่สุด ยิ่งถ้าธุรกิจของคุณโดนใจนักลงทุน และเจาะใจของผู้บริโภค รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วย นั่นล่ะ คือความสำเร็จสูงสุดที่จะนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเลยก็ว่าได้

หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับจากคนหลากหลายกลุ่ม นั่นก็คือ ดัชนี DJSI มาถึงตรงนี้ อาจจะมีหลายคนสงสัยว่า DJSI คืออะไร และจำเป็นแค่ไหนต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน ต่อไปนี้คือคำตอบที่จะช่วยไขข้อข้องใจให้กับคุณ

ไขข้อข้องใจดัชนี DJSI คืออะไร

สำหรับ DJSI หรือชื่อเต็มว่า Dow Jones Sustainability Indices คือ ดัชนีที่ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เน้นหลักในการประเมิน 3 ด้านที่เรียกว่า ESG ได้แก่ 1. การรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) 2. การดูแลสังคม (Social) 3. การมีธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Governance)

ทำไมดัชนี DJSI จึงดึงความสนใจจากนักลงทุนได้มากกว่าการโชว์ผลประกอบการเพียงอย่างเดียว

เหตุผลที่ดัชนี DJSI ดึงความสนใจจากนักลงทุนได้มากกว่าธุรกิจที่มีแค่ผลประกอบการ นั่นก็เป็นเพราะ ดัชนี DJSI นับเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญของนักลงทุนที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อจะเข้าไปลงทุนในองค์กรนั้น ๆ เพราะบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ DJSI ถือเป็นองค์กรที่มีหลักประกันถึงศักยภาพการบริหารงาน ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความยั่งยืนให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง

หลังจากที่เราได้รู้จักกับความหมายของดัชนี DJSI รวมถึงเหตุผลที่นักลงทุนให้ความสนใจกับองค์กรที่อยู่ในการจัดอันดับของ DJSI กันไปแล้ว ยังมีมุมของผู้บริโภคว่าได้ประโยชน์อย่างไรจากองค์กรที่ได้รับการจัดอันดับดัชนี DJSI อีกด้วย และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวขององค์กรที่ได้รับการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 ที่มีคะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากองค์กรใหญ่ 10,900 บริษัท เป็นการบอกเล่าถึงความสำเร็จนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไรจากเรื่องนี้

เผยเคล็ดลับจับใจนักลงทุนและกลุ่มผู้บริโภค จากองค์กรที่ได้อันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021

สำหรับอันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 ก็คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งความสำเร็จนี้ กลุ่มทรูได้ใช้ยุทธศาสตร์ 3 H’s คือ Heart Health และ Home ดังรายละเอียดต่อไปนี้

Heart เน้นเรื่องของบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ 100% รวมถึงร่วมขับเคลื่อนการศึกษาด้วยโครงการทรูปลูกปัญญา และส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทยให้พร้อมเติบโตเป็นทั้งคนดีมีความสามารถมาแล้วกว่า 2.3 ล้านคน ผ่านมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่อยู่ในการดูแล 5,567 แห่งทั่วประเทศ

Health สร้างสรรค์นวัตกรรมเชื่อมโยงทุกความต้องการของคนไทยยุค New normal ไปกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม TRUE VWORLD เทคโนโลยีคลาวด์ที่ครบทุกโซลูชัน ทั้ง VWORK สนับสนุนภาคธุรกิจ และ VLEARN สนับสนุนสถาบันการศึกษา นักเรียนและนักศึกษา ให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา

Home มีการติดตั้งพลังงานสะอาดอย่างเช่น โซล่าเซลล์ที่เสาสัญญาณและชุมสาย 3,481 แห่ง ณ สิ้นปี 2021 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12,570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังเดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าได้ 11,900 MWh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 5,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ทั้ง 3 H’s ของ TRUE ล้วนถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

เมื่อการทำธุรกิจต้องมาคู่กับความยั่งยืน

ในเรื่องของธุรกิจและความยั่งยืนนี้ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า “สมัยก่อนจะมีหน่วยงาน CSR มีหน้าที่ทำความดี ที่เหลือไปทำธุรกิจ แต่ของทรูตอนนี้เรามองว่าการทำเรื่องความยั่งยืนกับการทำธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตหน่วยงาน CSR จะนำอินเทอร์เน็ตไปให้ชุมชน แต่ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเข้าไปอยู่ในหน่วยงาน Commercial นั่นก็คือ เรามีซิมเกี่ยวกับการศึกษาไปให้นักเรียน ซึ่งในส่วนนี้ Commercial ก็ต้องคิด ฉะนั้นวันนี้เรื่องของความยั่งยืนของกลุ่มทรูเป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องคิดและมีเป้าหมายร่วมกันในการทำ ไม่ใช่เรื่องของคน 10 คน 20 คน แต่หมายถึงคนทั้งองค์กร”

นอกจากในมุมของความยั่งยืนแล้ว ดร.ธีระพล เผยถึงมุมของดัชนี DJSI ที่เกี่ยวกับนักลงทุนดังต่อไปนี้

“DJSI เป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มของนักลงทุน เวลานักลงทุนจะเลือกลงทุนในองค์กร ก็จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ได้รับการยอมรับ การที่เราได้อันดับ 1 ของ DJSI อย่างน้อยเรามีสมุดพก สมัยก่อนเวลาเราจะไปลงทุนบริษัทไหน หรือเราเล่นหุ้น เราต้องดูผลประกอบการ ดูรายงานประจำปี ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว เพราะทุกคนมีรายงานประจำปี แต่ทำไมบริษัทหนึ่งรอด อีกบริษัทไม่รอด ฉะนั้นมีเล่มเดียวไม่พอ คุณต้องมีสมุดพกความดีด้วย นั่นก็คือคุณไปทำอะไรกระทบกับใครไหม มองถึงอนาคตไหม สิ่งนี้คือรายงานความยั่งยืนที่เป็นสมุดพกความดี วันนี้สมุดพกความดีจะทำให้กลุ่มนักลงทุนเลือกลงทุนในบริษัทที่มองถึงคนอื่น มองถึงอนาคต ปิดความเสี่ยงทั้งหลาย”

เนื่องจากทรูเป็นองค์กรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ดร.ธีระพล จึงบอกเล่าถึงการใช้เทคโนโลยีในการสร้างความยั่งยืนรวมถึงได้ช่วยสังคม พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวทำให้หลาย ๆ คนเกิดความประทับใจเพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดมาก ๆ “ยกตัวอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำของเด็กออทิสติก บางคนบอกว่าเด็กออทิสติก หงุดหงิดง่าย พอเอาทีมเข้าไปศึกษาพบว่าที่เขาเป็นแบบนี้เพราะเขาสื่อสารไม่ได้ แล้วเราเป็นบริษัทเพื่อการสื่อสาร โจทย์คือทำอย่างไรเขาจะสื่อสารได้ เราจึงพัฒนาแอปพลิเคชัน True Autistic Series ทำให้เด็กที่อายุ 10 ขวบ ไม่เคยเรียกแม่ได้ สามารถเรียกแม่ได้ ขอขนมได้ รู้สึกมหัศจรรย์มาก และนี่เป็นรางวัลสำหรับนวัตกรทรูที่คิดค้นเรื่องนี้ได้ ซึ่งผลพลอยได้คือแอปฯ นี้เป็นท็อปดาวน์โหลดในตะวันออกกลาง ทางเราก็งงว่าเป็นแอปฯ ภาษาไทย แต่ก็พบว่าในภูมิภาคนั้นมีปัญหาเรื่องเด็กออทิสติกเยอะ ฉะนั้นพวกเขาจึงมาดาวน์โหลดแอปฯ ฟรีของเราไปใช้ ทำให้ไปแก้ปัญหานั่นได้”

“นอกจากนี้ยังมี True VROOM ที่ใช้เรื่องการศึกษาช่วง Covid-19 หรือใช้ True Health ให้หมอคุยกับคนไข้ได้ง่ายขึ้น”

ในเรื่องการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ในมุมของผู้บริโภคนั้น ดร.ธีระพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “สมัยก่อนเวลาเราตั้งเป้าธุรกิจคือการสร้างผลกำไรสูงสุด แต่ปัจจุบันไม่ได้ ธุรกิจต้องเพิ่มมิติของเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ลูกค้าต้องการการรับผิดชอบต่อสังคม ลูกค้าบางคนยอมจ่ายเงินค่าคาร์บอนเครดิต เพราะเขาต้องการซื้อตั๋วเครื่องบินโดยที่ไม่ปล่อยคาร์บอนเลย ดังนั้นธุรกิจต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน แนวทางที่คุณทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม หรือจะทำธุรกิจโดยที่ไม่แคร์ใครเลย ซึ่งกลุ่มทรู ทำเรื่องทรูปลูกปัญญา เรื่องการศึกษา และอีกหลาย ๆ เรื่อง เราก็ยึดมั่นเรื่องของเศรษฐกิจ ควบคู่ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด”

การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรด้วยความโปร่งใส แล้วก็ยังต้องดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เป็นเรื่องไม่ยากเกินไปที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ก็เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายในอนาคตนั่นเอง

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ESG #TrueTogether #TrueDJSI #TrueSustainability