Yellow Point แคมเปญนี้ต้องขยาย

ความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับกรุงศรี โฉมหน้าเดิมของแบงก์อนุรักษ์นิยม ถูกแปลงร่างให้กลายเป็นแบงก์ทันสมัยมากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Make Life Simple และหนึ่งในผู้บริหารที่มีบทบาทมากคนหนึ่ง คือ แดน ฮาร์โซโน่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

เขาคือคีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่แปลงโฉมแนวการตลาดของทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการให้บริการรูปแบบต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคาร ที่พร้อมจะทำทุกเรื่องการเงินให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน

Business+ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงทิศทางธุรกิจและภารกิจท้าทายในปี 2557 รวมถึงเป้าหมายทางธุรกิจในอนาคต

Business+ : แผนงานที่ตั้งใจมากในปีนี้ และเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับคุณ คือ
แดน ฮาร์โซโน่ : ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง หลายจุด ลูกค้าเข้าใจเรามากขึ้น ซึ่งจากการที่เราวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายลูกค้า เจาะลึกแบบ Focus Group ทำให้เรารู้ถึงความต้องการของลูกค้า รวมถึงเป้าหมายที่เราต้องสานต่อในปีนี้ให้ประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม
Pic_3ตัวอย่างเช่น แคมเปญ Krungsri Yellow Points ซึ่งก่อนอื่นต้องอธิบายว่าโปรแกรมนี้ เราเรียกว่าเป็น Loyalty Program ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน โดยเริ่มจากการเปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารและทุกครั้งที่ลูกค้าทำธุรกรรม เช่น โอนเงิน จ่ายบิลต่างๆ ก็จะได้รับคะแนนสะสมเป็น Krungsri Yellow Points ซึ่งลูกค้าสามารถสะสมคะแนนเหล่านี้ แล้วนำไปแลกสินค้าได้ตามต้องการที่ธนาคารจัดเป็นโปรโมชันแลกสินค้า คล้ายๆ กับโปรแกรมในบัตรเครดิต

ที่ผ่านมา เราก็ทำได้ดีพอสมควร มีฐานลูกค้าในโปรแกรมนี้ประมาณ 3 ล้านบัญชี แต่เราก็พบว่าลูกค้ายังมีข้อจำกัดที่จะได้รับคะแนนอยู่เหมือนกัน เพราะปกติแล้วแต่ละเดือนเราก็คงจะโอนเงินกันสัก 2-3 ครั้ง หรือจ่ายบิลก็ประมาณ 3-5 บิล โอกาสได้รับคะแนนมันไม่บ่อยเท่าไหร่

จุดนี้ทำให้เราคิดว่า ทุกผลิตภัณฑ์เราสามารถ Pool หรือหลอมรวมผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเข้าถึงเรา และเราก็สามารถใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น

ถามว่าเป็นโจทย์ท้าทายไหม คำตอบที่ได้แน่นอนว่าคือ ใช่ นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับผม ในปีนี้ ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า เราเริ่มลงมือพัฒนาโครงการนี้อย่างจริงจังในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ และทุกอย่างก็เห็นผลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา ประกอบกับเราต้องการขยายตลาดกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) มากขึ้น (เราเป็นเจ้าแรกที่ลงทำตลาดแบบนี้ : อ่านเรื่องประกอบในล้อมกรอบ 1)

คิดว่าจากเดิมสิทธิ์ของลูกค้าจะได้รับคะแนนสะสมแต้ม หรือคะแนน Krungsri Yellow Points เกิดจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ ATM กรุงศรีออนไลน์ หรือจะเป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการ การเติมเงินมือถือ หรือการถอนเงินข้ามเขตผ่านตู้เอทีเอ็ม การสมัครบัตรเดบิต รวมถึงการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต

แต่เมื่อเราศึกษาลงในรายละเอียดบนพื้นฐานความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เราได้พบโอกาสที่ดีในการเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพมาก ทำให้เราเริ่มต้นใหม่ที่ลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งหลังจากเราดึงลูกค้ากลุ่ม SMEs เข้ามาร่วมในแคมเปญ Krungsri Yellow Points เราได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างน่าพึงพอใจ โดยพบว่า ยอดสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารมียอดการขอ OD เพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) นับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่ง

Business+ : มีโอกาสขยายผลไปลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม หรือไม่
แดน ฮาร์โซโน่ : เราจะค่อยๆ เปิดตัว Loyalty Program อย่างเต็มรูปแบบต่อไป โดยความเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ จะเห็นการเปิดตัวอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ใน 1 ปี เพราะในแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีโอกาส และความท้าทายแตกต่างกันออกไป

Pic_4ต้องย้อนกลับไปมองว่า เรามีฐานลูกค้าในเครือทั้งหมดจำนวนมาก และแบ่งแยกย่อยในหลากหลายธุรกิจ ทำให้เราต้องสื่อสารกับลูกค้าหลากหลายกลุ่ม และต้องอาศัยระยะเวลา

“ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มกรุงศรี ออโต้ อาจจะมีความต้องการแบบหนึ่ง ขณะที่กลุ่มทั่วๆ ไป อาจต้องการอีกแบบหนึ่ง สำหรับเรื่องขั้นตอนหรือกระบวนของแลกรางวัลผมว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ความท้าทายอยู่ที่การสื่อสารอย่างไร ให้ลูกค้าเข้าใจ สื่อสารอย่างไรให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าที่เขาจะได้รับ จุดนี้ผมว่าต้องใช้ระยะทั้งเราและลูกค้าเช่นกัน

Business+ : คุณแดน เคยบอกว่า อยากเป็นที่ 1 ในสายธุรกิจรีเทล จุดนี้เป็นการเชื่อมให้ไปสู่จุดนั้นเร็วขึ้น
แดน ฮาร์โซโน่ : แน่นอน เรามีแผนขึ้นเป็นที่ 1 ในทุกตลาด ปีที่แล้วเรารุกรีเทลกลุ่ม SMEs และเรากำลังมองถึงกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) ซึ่งตามแผนนั่นเป็นการขยายขอบข่ายบริการของ Krungsri Yellow Points ให้กว้างขึ้น

“ภายใต้แผนที่เตรียมไว้เราจะค่อยๆ เปิดตัว Loyalty Program อย่างเต็มรูปแบบต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าสะสมคะแนนได้หลายช่องทาง โดยเมื่อลูกค้ามาทำธุรกรรมกับกรุงศรี ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs หรือประกัน ก็จะได้รับคะแนน Yellow Points ตามสัดส่วนของธุรกรรม

นอกจากนั้น ยังสามารถแปลงคะแนนจากบัตรเครดิตในเครือของกรุงศรี กลับมาเป็น Krungsri Yellow Points เพื่อใช้แลกของที่ต้องการได้เช่นกัน วิธีการนี้จะทำให้ลูกค้าของธนาคารสามารถสะสมคะแนน Krungsri Yellow Points ได้ง่ายขึ้น

“ปัจจุบันถ้าลูกค้าได้ทำการโอนเงินก็จะได้รับคะแนนสะสม 30 คะแนน และถ้ามีการทำธุรกรรมในเรื่องการจ่ายบิลต่างๆ จะได้รับ 25 คะแนน รวมถึงทุกๆ การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตจะคิดเป็น 25 บาท ต่อ 1 คะแนน และถ้าลูกค้าต้องการแลกคะแนนเป็นเงินสดก็สามารถทำได้ โดยต้องใช้คะแนนจำนวน 1,650 คะแนน จะสามารถแลกเป็นเงินกลับคืนไปได้จำนวน 100 บาท

นอกจากการขยายช่องทางการสะสม Yellow Points แล้ว ธนาคารได้ขยายประเภทของรางวัลที่ใช้ในการรับแลกให้มีความหลากหลาย และจูงใจลูกค้ามากขึ้น พร้อมจัดโปรโมชันพิเศษทุกเดือน โดยการใช้คะแนน Krungsri Yellow Points เพียงเล็กน้อย นำมาแลกรางวัลมากมาย อาทิ ทองคำ, iPad mini, บัตรเติมน้ำมัน หรือแลกกลับเป็นเงินสด เป็นต้น

ผมมองว่า นอกจากจะเป็นการสร้างสีสันให้ลูกค้าได้ติดตามเราทุกเดือนแล้ว นี่ยังเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นในการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

Business+ : ทำไมจึงมั่นใจขนาดนั้น
แดน ฮาร์โซโน่ : อย่างที่บอกเราจะค่อยๆ เปิดตัว Loyalty Program อย่างเต็มรูปแบบต่อไป นั่นหมายถึงโอกาสในการขยายฐานให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มลูกค้า เพียงแต่จุดที่เราต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจมากที่สุด คือ ทุกธุรกรรมของกรุงศรีสามารถเป็นโอกาสในการสะสม Krungsri Yellow Points ได้ ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ของลูกค้าได้ทั้งหมด

เพื่อให้ลูกค้าทุกคน ที่ทั้งเป็นลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ เข้าร่วมโปรแกรมและได้รับสิทธิประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะใช้บริการกับธุรกิจใดในกรุงศรีก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การใช้บริการสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน หรือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฯลฯ สามารถเข้ามาร่วมโปรแกรมนี้ได้

ขณะที่ฐานลูกค้าใหม่ๆ อย่างที่บอก เราจะขยายฐานหรือตลาดที่กว้างขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเราในเครือทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์ในเครือกรุงศรี ทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อผ่อนชำระที่เราทำผ่าน “กรุงศรีคอนซูเมอร์” และสินเชื่อรถยนต์ที่เรามี “กรุงศรี ออโต้” ซึ่งฐานลูกค้าทั้งที่อยู่ในเครือกรุงศรี กว่า 8 ล้านบัญชี และรวมถึงกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ และลูกค้าศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ ก็สามารถเข้าร่วมแคมเปญนี้ได้

เช่นเดียวกัน สิ่งที่เราประเมินว่า ลูกค้ากลุ่มองค์กรเขาอาจไม่ได้มองที่ของรางวัล เพราะไม่รู้ว่าแลกไปแล้วส่วนใดของแต่ละแผนกจะได้ใช้ เขาอาจมองถึงส่วนต่างของดอกเบี้ย (อาจเป็นแรงจูงใจ) ที่ลดลงมากกว่า ซึ่งเรากำลังพิจารณาและคิดค้นรูปแบบที่เหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่ม

Business+ : ถ้าอย่างนั้น เราวางเป้าหมายจากแคมเปญนี้ไว้อย่างไร
แดน ฮาร์โซโน่ : เราคาดว่าการปรับรูปแบบโปรแกรม “Krungsri Yellow Points” ใหม่ครั้งนี้ น่าจะทำให้มีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น จากเดิมลูกค้ามีอัตราเฉลี่ยการใช้ผลิตภัณฑ์การเงินกับธนาคารเพียง 1.6 ผลิตภัณฑ์ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้ามีอัตราเฉลี่ยการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มเป็น 3 ผลิตภัณฑ์ และในอนาคตเราก็คาดว่า ลูกค้าจะมีอัตราเฉลี่ยการใช้ผลิตภัณฑ์การเงินกับธนาคารมากขึ้น

ถามว่าจะต้องเพิ่มอีกเท่าตัว หรือเพิ่มแค่ไหน ผมคงตอบในเบื้องต้นว่า เรามีเป้าหมายในการขยายโอกาสและการเติบโต แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าตัวเลขในการเติบโต คือ ความพึงพอใจของลูกค้าและความสามารถในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เรามีกว่า 8 ล้านบัญชีให้ได้

“บางทีการเติบโต ต้องบาลานซ์กับคำว่า Deeper Relationship เพื่อความเหมาะสมกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการและพอใจสูงสุด

ซึ่งนั่นหมายถึง หากลูกค้าพอใจผลิตภัณฑ์ของเรา ใช้เราเป็น Main Bank แน่นอนโอกาสการเติบโตย่อมมีสูงมาก

ดังนั้น หากทุกอย่างที่เราโฟกัส และเร่งลงมือทำมากเกินไป อาจจะเกิดผลเสียได้ ซึ่งผมก็อยากเห็นอัตราเฉลี่ยการใช้ผลิตภัณฑ์การเงินกับกรุงศรี เพิ่มขึ้น อาจขยับเป็นในสัดส่วนที่ 3.2 ผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้าหนึ่งคน

ท้ายที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้ามีความสุขที่ใช้บริการกับกรุงศรี ผมต้องย้ำว่า เราทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งว่า เขาต้องการบริการทางการเงินอย่างไร และเราต้องพัฒนาบริการให้เข้ากับพฤติกรรมของเขา และนั่นจะทำให้เราประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าที่ยังเหนียวแน่นมากขึ้น”

โฉมใหม่ Krungsri Yellow Points
Pic_2 สยาม ประสิทธิศิริกุลหลังจากซุ่มปัดฝุ่นโปรแกรม Krungsri Yellow Points ในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อปีที่แล้วลูกค้ากรุงศรีหลายๆ คนคงได้มีโอกาสรู้จักและเข้าร่วมโครงการ Krungsri Yellow Points ในมาดใหม่ ซึ่งขยายกลุ่มลูกค้าออกไปให้กว้างขึ้น ครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี และหนึ่งในแรงผลักดันที่สำคัญคือ “สยาม ประสิทธิศิริกุล” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สยาม เพิ่งย้ายมาทำงานกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นาน แต่เขามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลักดันให้กรุงศรีเอสเอ็มอีติด Top 3 ของธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอี ภายใน 3 ปี และหนึ่งในผลงานเด่นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า โปรแกรม Krungsri Yellow Points กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง หลังร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ “แดน ฮาร์โซโน่” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จที่เด่นชัดคือ ธนาคารมียอดการขอ OD เพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) หลัง Co-Promotion ให้ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี สามารถแลกแต้มผ่านโปรแกรม Krungsri Yellow Points

และอย่างที่แดนกล่าวไว้ว่า ธนาคาร มุ่งมั่นขยายโอกาสใหม่ๆ ลงไปในตลาดเอสเอ็มอี (SMEs) ดังนั้น โปรแกรม Krungsri Yellow Points ซึ่งเป็น Loyalty Program ที่ทางกรุงศรีใช้เป็น “หัวหอก” ต่อการรุกสู่ธุรกิจรีเทล และมีแนวโน้มสูงมากที่โปรแกรมนี้ จะถูกขยายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของแผนสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น และรวมถึงต้องสามารถ Synergy บริการต่างๆ ในเครือของธนาคารทั้งหมดต่อไป

ขณะที่ “สยาม” เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ให้เติบโตมากขึ้น แม้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีบ้าง แต่ธนาคารมองว่าในภาพรวมแล้วผู้ประกอบการยังจำเป็นที่จะต้องขยายธุรกิจต่อไป

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะได้เห็นกรุงศรีเอสเอ็มอีออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าในพอร์ตสามารถแลกคะแนนสะสมผ่านโปรแกรม Krungsri Yellow Points มากขึ้น เพราะหากจับคำพูดของเขา เมื่อถูกถามว่า ทิศทางการบริหารจะเป็นเช่นไร

“ผมยังมองว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2557 คิดว่าน่าจะยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้ตอนนี้จะมีปัญหาการเมือง แต่ธุรกิจก็ยังต้องเดินต่อไป ซึ่งเรามองเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเติบโตประมาณ 2-3 เท่าของจีดีพีปี 2557 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3-4%

โดยเราจะเน้นลูกค้าในกลุ่มซัพพลายเชนเป็นหลัก เนื่องจากยังมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี”

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญวันนี้ของสยาม ไม่ได้อยู่ที่มาร์เก็ตแชร์เพียงมิติเดียว เขายังต้องเพิ่ม Gimmick ทางการตลาดลงไปใน Krungsri Yellow Points มากขึ้น เพื่อผลักดันยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

ดังนั้น แผน Synergy กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ขอเปิด OD และ LC สามารถแลกคะแนนสะสมจาก Krungsri Yellow Points ได้ จากเดิมที่ลูกค้าไม่ได้อะไรตอบแทน ซึ่งคะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ลูกค้าสามารถนำไปแลกเป็นของรางวัลชิ้นใหญ่ได้ (800 บาทได้คะแนนสะสม 1 แต้ม)

“จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้เราเข้าใจภาวะการแข่งขันในเวทีธุรกิจ เป้าหมายของผมไม่ได้มุ่งเพียงสร้างความเติบโตหรือขยายธุรกิจ แต่เราพร้อมจะผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้ไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ และเป็นแกนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ด้วยการสนับสนุนด้านการเงิน และกิจกรรมที่จะสร้างโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ”

แน่นอนว่า สิ่งที่สยามเร่งผลักดัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการ Synergy ผลิตภัณฑ์ในธุรกิจเอสเอ็มอี แม้จะเป็นโปรเจ็กต์นำร่องช่วงสั้นๆ (ระยะเวลาเพียง 3 เดือน) แต่ผลลัพธ์อย่างที่แดนบอกว่า ธนาคารมียอดการขอ OD เพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท

และเมื่อถามถึง พอใจกับเป้าหมายดังกล่าวหรือไม่ แดน ตอบว่า เกินกว่าที่คาดหมายไว้มาก ทำให้ต้องขยายเวลาการแลกคะแนนสะสมออกไปจนถึงกลางปีนี้

โดยกลุ่มเป้าหมายต่อไปที่กรุงศรี มองไว้คือ เอสเอ็มอี (SMEs) ที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) ที่สามารถนำทุกธุรกรรมการเงิน มาแลกเป็นคะนนสะสมได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลับมาในรอบนี้ของ Krungsri Yellow Points ซึ่งเป็น Loyalty Program คู่แข่งค่ายอื่นๆ คงต้องหนาวๆ ร้อนๆ จากแผนเชิงรุกมากขึ้นจากแบงก์กรุงศรีแน่นอน

Did you konw …?

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 68 ปี ซึ่งปัจจุบันธนาคารเป็นบริษัทในเครือของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ซึ่งถือหุ้น 100% โดยกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารรวม 604 สาขา และช่องทางการขายกว่า 19,900 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชี (ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคล) มากกว่า 6.2 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด)

ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อยผ่านบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้ออีกด้วย

ปัจจุบันจำนวนลูกค้าของธนาคารที่มี Krungsri Yellow Points มีจำนวน 3 ล้านราย จากจำนวนฐานลูกค้าของธนาคารที่ 8 ล้านราย ซึ่งคาดว่าในปีนี้หลังจากออกแคมเปญชิ้นนี้ไปฐานลูกค้าที่มี Krungsri Yellow Points จะเพิ่มเป็น 4 ล้านราย

จอมภัค สู่สุข