ปฐมบทแห่ง Wearable Device

An attendee demonstrates the Apple Watch after a product announcement at Flint Center in Cupertino, California, U.S., on Tuesday, Sept. 9, 2014. Apple Inc. unveiled redesigned iPhones with bigger screens, overhauling its top-selling product in an event that gives the clearest sign yet of the company's product direction under Chief Executive Officer Tim Cook. Photographer: David Paul Morris/Bloomberg

มหานครที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่น “นิวยอร์ก” มีสถานที่สำคัญที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักกันดี แม้ไม่เคยมาเยือนด้วยตัวเองแต่ก็เห็นได้จากฉากสำคัญในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง เช่น จตุรัสไทม์สแควร์ สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค ตึกเอ็มไพร์สเตท ฯลฯ รวมถึงอนุสรณ์สถาน 11 กันยายนเพื่อระลึกถึงวินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในอดีต

แต่ข้อมูลที่ได้จากหลายๆ แหล่ง ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ผมไม่คาดคิด แต่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไปแล้ว เพราะนักเดินทางจากทั่วโลกต้องมาถ่ายรูป หรือเลือกซื้อสินค้าของฝากที่ต้องการกันมากมายมหาศาลในแต่ละวัน นั่นคือ ”แอปเปิลสโตร์” ในเมืองนิวยอร์กนั่นเอง

อาจเป็นเพราะรูปแบบที่โดดเด่นของร้านนี้ที่ใช้กระจกโปร่งแสง รวมถึงบันไดก็ยังเป็นกระจก และยังตั้งอยู่บนย่านที่คึกคักที่สุดในนิวยอร์ก คือ
ฟิฟธ์ อเวนิว ทำให้แอปเปิลสโตร์สาขานี้มีจุดขายอยู่ในตัวเอง แต่ปัจจัยสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในความคิดของผมนั้นคือ Apple Syndrome ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่างหากที่เป็นตัวการดึงดูดลูกค้าแอปเปิลทั่วโลกมาที่ร้านนี้อย่างไม่ขาดสาย

จากยุคที่แอปเปิลยังมีสินค้าหลัก คือ คอมพิวเตอร์แมคอินทอช กระแสความนิยมของแบรนด์แอปเปิลอาจจำกัดอยู่ที่ผู้ใช้กลุ่มแคบๆ จนกระทั่งไอโฟนเปิดตัวสู่ตลาด และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

กระแส Apple Syndrome จึงเริ่มเกิดขึ้น และเราเองก็คุ้นชินกับคิวยาวเหยียดของเหล่าลูกค้าที่ต้องรอซื้อสินค้าของแอปเปิลนับตั้งแต่ iPhone มาเป็น iPad และครั้งล่าสุดที่ผมพบในนิวยอร์กก็คือ Apple Watch ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เอี่ยมอ่องจากแอปเปิล

Apple Watch เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของแอปเปิลต่อตลาดสินค้าไฮเทคที่ขยับเข้าสู่ Wearable Technology ซึ่งเป็นแนวทางที่แอปเปิลพยายามมาตลอด หากเราสังเกตกันได้จะเห็นว่า ไอโฟนนั้นในความเป็นจริงแล้วก็คือ การย่อขนาดคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงลงมาสู่อุปกรณ์ขนาดเล็กให้เรานำติดตัวไปได้ทุกที่

การปรับเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่ใหญ่ขึ้น เช่น ไอแพดก็เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ที่เล็กจนสามารถสวมใส่แทนนาฬิกาข้อมือได้ซึ่งก็คือ Apple Watch และยังมีอีกหลายๆ เทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างให้เราได้เห็น เช่น Smart Glass จากค่ายกูเกิล

ความแพร่หลายของ Apple Watch ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้นอาจยังไม่เป็นกระแสได้มากเท่าไอโฟนหรือไอแพด เพราะมันถูกจำกัดที่จำนวนผู้ใช้ไอโฟนเป็นหลัก เนื่องจาก Apple Watch ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจากการทำงานเพียงลำพัง เพราะต้องใช้การเชื่อมต่อกับไอโฟน

ipad แต่ Apple Watch ก็เป็นย่างก้าวสำคัญของบริษัทแอปเปิล หลังจากผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดมานานอย่างไอแพดเริ่มอิ่มตัวก็จำเป็นต้องหาเทคโนโลยีใหม่มาต่ออายุให้กับบริษัท ซึ่งกระแสตอบรับก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดี เพราะยังมีโมเมนตัมที่สะสมมาจากไอโฟนสูงมาก

รวมถึงแอพพลิเคชันทั้งบนไอโฟนและไอแพดที่มีอยู่มหาศาล แต่จะพัฒนาแอพใหม่ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยี Wearable Device ได้อย่างไรก็ถือเป็นความท้าทายของแอปเปิลที่ต้องหาทางเอาคิดแทนผู้บริโภคและหาทางประยุกต์เทคโนโลยีนี้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคให้ได้

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก่อนอย่างสมาร์ต กลาส ที่นำโดยกูเกิลนั้น เริ่มได้รับการยอมรับจากโลกธุรกิจมากขึ้น โดยเราจะเห็นเทคโนโลยีนี้ในงานอุตสาหกรรมหลายๆ อย่าง เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้แว่นตาอัจฉริยะนี้ในการเปิดดูสมุดคู่มือปฏิบัติงานในระหว่างการทำงาน โดยไม่ต้องละสายตาจากงานสำคัญที่อยู่ตรงหน้า หรือการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ที่เห็นตัวอย่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Apple Watch ที่แอปเปิลพยายามก่อกระแสอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคใหญ่หลวงคือ นักพัฒนาที่ดูยังติดลมกับการทำแอพพลิเคชันสำหรับสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตกันเป็นหลัก เพราะลำพังแค่ 2 ตัวนี้ก็มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 2 พันล้านเครื่องต่อปีแล้ว

การที่นักพัฒนาจะสร้างสรรค์แอพพลิเคชันตัวหนึ่งขึ้นมา ก็ต้องมั่นใจว่าแอพนั้นจะไปถึงกลุ่มผู้ใช้ได้มากที่สุด ซึ่งสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับทุกวันนี้ ซึ่งแม้จะมีแค่ 2 เทคโนโลยีหลักแต่ก็ยังมีทางเลือกย่อยอีกตามแพลตฟอร์ม เช่น Apple iOS, Google Android, Windows Phone ฯลฯ

การจะเปิดตลาดใหม่จึงต้องใช้ทั้งเวลาและสร้างแรงจูงใจให้นักพัฒนาตอบรับกระแสใหม่ๆ ให้เร็วที่สุด แต่ทั้งสองส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นตัวกำหนดนอกจาก “ความต้องการของผู้บริโภค” ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องตอบสนองความต้องการของพวกเขาให้สำเร็จ

Smart Watch ราคาไม่กี่พันบาทไปจนถึงรุ่นแพงสุด ที่มีราคาหลายแสนบาทจะสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้กับผู้ซื้อได้อย่างไร จึงขึ้นอยู่กับโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่แอปเปิลและกูเกิลต่างก็พยายามขับเคี่ยวกันอย่างเต็มที่ เช่น การเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ตโฮมแทนกุญแจบ้าน รวมไปถึงระบบสมาร์ตเอนทรีของรถยนต์โดยไม่ต้องใช้กุญแจรถ

เพราะกระแสเทคโนโลยีที่หลั่งไหลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นทั้งรถยนต์ บ้าน ล้วนผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวยกระดับคุณภาพของสินค้ากันขนานใหญ่ เห็นได้ชัดจากรถยนต์ทุกวันนี้ที่ไม่ได้แข่งกันเพียงสมรรถนะของเครื่องยนต์ การประหยัดน้ำมัน ประสิทธิภาพของระบบขับเคลื่อน ฯลฯ แต่ยังอาศัยระบบเชื่อมต่อกับมือถือ ระบบบันเทิงไร้สาย ฯลฯ จนกลายเป็นจุดขายสำคัญไปแล้ว

 ผลพวง คือ สมาร์ตดีไวซ์ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ของผู้บริโภคได้ อาจไม่ได้เป็นแค่แว่นตาอัจฉริยะ หรือ Smart Watch อย่างที่เราเห็น แต่อาจเป็นเข็มขัดไฮเทค หรือสร้อยคออัจฉริยะแทนก็ยังไม่มีใครบอกได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้เราจึงเห็นความพยายามอย่างหนักหน่วงของผู้ผลิต ที่พยายามคาดเดาความต้องการในอนาคตของผู้บริโภค ซึ่งต่างจากในอดีตที่ไม่มีทางเลือกมากนัก มาสู่ยุคที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่ เพราะมีทางเลือกมากมาย เช่น การทำงานสมัยใหม่จะเลือกใช้คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน ก็ให้ผลแทบไม่ต่างกันเลย

อนาคตของ Smart Watch จึงถือว่าเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะผู้บริโภคยังมีทางเลือกอีกมาก และยังไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีใดเป็น Killer App ได้ในอนาคต แต่ผมเชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยีใด หรือมาจากค่ายไหนต่างก็เน้นการยกระดับให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

 Wearable Device ในวันนี้ จึงถือเป็นด่านแรกที่จะทดสอบตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครรู้ว่าจะเติบโตไปในทิศทางใด ผู้บริโภคเองก็ได้แต่เฝ้าดูสินค้าที่น่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้มากที่สุด และทำให้ชีวิตของเขาสะดวกสบายมากขึ้น

 …นับได้ว่าเป็นยุคทองของผู้บริโภคในวันนี้จริงๆ

ผู้เขียน : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
นิตยสาร Business+ ฉบับ 318 เดือนสิงหาคม 2558