TARAD.com TSpace Digital ตลาดดอทคอม

TARAD.com ยุทธศาสตร์ออนไลน์ของเครือ TCC Group

ตลาดดอทคอม ผู้นำด้าน E-commerce รุ่นเก๋าของไทย จับมือ TSpace Digital ของไทยเบฟ แจ้งเกิดอีกครั้ง ในสถานะที่เปลี่ยนไป..

แรงฮึดสู้ของ ตลาด ดอท คอม กับความคาดหวังที่จะพาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยไปสู่โกลบอลให้ได้

ความพยายามครั้งนี้จะทำให้ไทยเบฟได้ประโยชน์จากการร่วมทุนครั้งนี้หรือไม่

การตัดสินใจเลือก TARAD.com ของ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ เป็นพันธมิตรในการรุกธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มเจริญ ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็อาจจะไม่ Wow สักเท่าไหร่

เพราะหากมองไปรอบ ๆ คู่แข่งสำคัญๆ อย่างเครือเซ็นทรัล กลับได้เบอร์ 2 จากจีนเข้ามาสนับสนุน และวาดฝันว่า อาณาจักรเซ็นทรัลจะไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น

หรืออย่างเครือซีพีที่มีสายสัมพันธ์จากจีน ก็ทำผลงานได้ดี และถือว่าระบบนิเวศสินค้าออนไลน์จากเครือซีพี ค่อนข้างครบเครื่องทีเดียว

ที่น่าเซอร์ไพร์สกลับเป็นเครือไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ไม่ได้พันธมิตรรายใหญ่ แต่กลับเป็นอีคอมเมิร์ซพันธุ์ไทยอย่าง TARAD.com ของ ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ โดยผ่านการเข้าไปร่วมทุนของบริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอเดลฟอส ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในเครือ TCC Group เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และภาวุธ ถือหุ้นใน TARAD.com สัดส่วน 49%

TARAD.com TSpace Digital ตลาดดอทคอม

TARAD.com ในอ้อมอก TCC Group

บนสังเวียนการแข่งขันในธุรกิจออนไลน์ห้วงเวลานี้ เป็นที่รับรู้กันดีว่าทั้งหนักหน่วงและร้อนแรงมาก เพราะสาดเม็ดเงินใส่กันไม่ยั้งเพื่อช่วงชิงลูกค้าให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มตัวเองให้มากที่สุด ดังนั้น ใครทุนไม่หนา ใจไม่ใหญ่พอ อย่าได้คิดจะย่างกรายสู่สนามนี้เด็ดขาด

แต่สำหรับเจ้าสัวเจริญ ผู้มาทีหลังในเกมนี้ ดูเหมือนจะไม่คิดเช่นนั้น มิหนำซ้ำกลับเลือกพันธมิตรอย่าง TARAD.com ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยก็ตาม

แต่เมื่อเทียบฟอร์มกับคู่แข่งที่มีพันธมิตรรายใหญ่จากต่างชาติแล้ว ดูเหมือนว่า เกมนี้จะปิดประตูแพ้ ตั้งแต่ยังไม่ออกสตาร์ทหรือไม่ …?

เพราะมองไปรอบๆ มีแต่คู่แข่งรายใหญ่ๆ ที่กระโจนเข้ามาในธุรกิจนี้ ซึ่งชัดเจนว่า ธุรกิจออนไลน์ต้องใส่เงินหมุนเวียนตลอดเวลา เน้นโปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาเจอหน้าร้านของตนเอง จึงต้องเริ่มจากโหมประชาสัมพันธ์

TARAD.com Tspace Digital ตลาดดอทคอม

ขณะที่คู่ค้าหรือคนขายของ วิธีการขายสินค้าต้องถูก เพราะคนออนไลน์เกินร้อยละ 70 มองว่าสินค้าถูกและดี ซึ่งหน้าร้านก็ต้องทำโปรโมชั่นร่วมกับผู้ขาย ให้เกิด Traffic มากที่สุดเช่นกัน

หากจำกันได้ ผู้ให้บริการอย่าง Lazada ไม่เคยมีกำไรในธุรกิจนี้ แต่ Lazada ได้จำนวนฐานผู้ใช้จำนวนมากพอที่ Alibaba ยอมจ่าย และใส่เงินเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะจำนวน Users ที่มากพอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะค่อยๆ กลายเป็นขุมทรัพย์ของธุรกิจนี้ในอนาคตของ Alibaba

TARAD.com Tspace Digital ตลาดดอทคอม

ทางหนึ่ง Alibaba เด่นในจีนและเอเชีย ส่วน Lazada เด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พอรวม 2 ตลาดใหญ่เข้าด้วยกัน จะเห็นภาพว่า ทำไม Alibaba จึงลงทุนกับ Lazada

วิธีคิดนี้อาจแตกต่างขึ้นอยู่กับ Timing ของแต่ละบริษัท ซึ่งเมื่อมองและถอดคำกล่าวของผู้บริหาร TCC Group ที่ว่า “ถ้า TARAD.com วางตัวเองเป็น eMarketplace เราอาจจะไม่เข้ามา เพราะผลประกอบการ TARAD.com ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง

TARAD.com Tspace Digital ตลาดดอทคอม

แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยมีการนำจิ๊กซอว์ที่มีอยู่ในมือมาต่อยอดสร้างเป็น Business Model ใหม่ ทำให้จากเดิมที่วางตัวเองเป็น eMarketplace ขยับสู่แพลตฟอร์ม eCommerce ครบวงจร เพื่อให้บริการทุกอย่างกับผู้ประกอบการไทย”

นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ มารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด บอก และเชื่อว่า น่าจะตอบโจทย์สถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุคปัจจุบันเกมของการแข่งขันกันด้วยเงินอย่างหนัก

 

TARAD.com ในยุคที่ผ่านมา

จริงอยู่ที่ภาพของตลาดดอทคอมในยุคเริ่มต้นนั้น เฟื่องฟูอย่างมาก แต่ภายหลังจาก Rakuten เข้ามาซื้อกิจการ ธุรกิจของ TARAD.com ก็เริ่มขาดทุนมาเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มเม็ดเงินโฆษณาเพื่อสู้ศึกในตลาด จนนำไปสู่การตัดสินใจยกธงขาวของ Rakuten ด้วยการปิดกิจการ และทำให้ภาวุธตัดสินใจซื้อ TARAD.com กลับคืนมาในที่สุด

แม้เบื้องต้น ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท ตลาด ดอท คอม จะให้เหตุผลว่า การตัดสินใจซื้อ TARAD.com กลับคืนมา เพราะไม่อยากลอยแพพนักงานที่อยู่กับบริษัทมายาวนานไป

แต่หากย้อนกลับไปดูโครงสร้างธุรกิจของตลาดดอทคอมจะเห็นว่า ไม่ได้มีแค่ eMarkerplace อย่างเดียวเท่านั้น

ปี 2013 ได้ซื้อบริษัท Pay Solution ซึ่งเป็น ePayment เข้ามาเสริมทัพ จากนั้นในปี 2015 ยังผนึกกำลังกับบริษัท โธธ
โซเชียล จำกัด (Thoth Zocial Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งยังมีบริษัทโลจิสติกส์ Shippop, บริษัท data analytic อีกด้วย

นั่นจึงทำให้ TARAD.com มีความ ครบเครื่อง จะขาดก็เพียง เงินทุน ที่จะหล่อเลี้ยงห่วงโซ่ธุรกิจที่มีอยู่ให้ก้าวเดินต่อไปได้

ที่สำคัญหากกลับไปส่องดูรายได้ของธุรกิจตัวอื่น ๆ ในมือภาวุธนอกเหนือจาก eMarketplace แล้ว ภาวุธบอกว่า มีบางธุรกิจเริ่มทำกำไรได้แล้ว เช่น Pay Solution

ดังนั้น การเข้าซื้อกิจการของ TARAD.com ในครั้งนี้ สิ่งที่เจ้าสัวเจริญได้กลับไปนั้น จึงมีมากกว่า eMarketplace โดยจะได้ทั้ง Know-how ของตลาดดอทคอมมาช่วยพัฒนาธุรกิจออนไลน์ในบริษัทในเครือ และยังสามารถนำจิ๊กซอว์ที่มีอยู่มาต่อยอดความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในเครืออีกด้วย

โดยเฉพาะการนำ Data Analytic ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะมาช่วยต่อยอดกลุ่ม TCC Group เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างแข็งแกร่ง

TARAD.com ยุคใหม่

ภาวุธ อธิบายว่า ภาพใหม่ของ TARAD.com จากนี้ไปจะเปลี่ยนจาก E-Marketplace มาให้บริการแพลตฟอร์ม eCommerce ครบวงจร เพื่อขยายธุรกิจไปสู่บริการใหม่ที่เรียกว่า Universal Commerce หรือ U-Commerce ในรูปแบบการเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการเชื่อมโยงร้านค้าไปยัง eMarketplace และโซเชียลมีเดียพันธมิตร

“ตลาดดอทคอม และ thaisecondhand.com ยังคงมีอยู่ แต่จะไม่ได้โหมทำตลาดเหมือนที่ยักษ์ใหญ่อีมาร์เก็ตเพลสทุ่มงบฯ ทำตลาด แต่จะขยับโมเดลเน้นบริการ U-Commerce เพื่อให้ผู้ค้าออนไลน์คนไทยแข็งแกร่งขึ้น และใช้ประโยชน์ได้จากการโหมทำตลาดของยักษ์ใหญ่ต่างประเทศในการพาสินค้าสู่ตลาดโลก”

TARAD.com Tspace Digital ตลาดดอทคอม

ปัจจุบันภายใต้ Universal Commerce มีพันธมิตรได้แก่ Shopee 11Street และ Facebook และในอนาคตมีแผนที่จะดึง Lazada JD.com รวมถึงeMarketplace ต่างประเทศเข่น Alibaba amazon ebay และอื่นๆ

สำหรับความน่าสนใจของแพลตฟอร์ม Universal Commerce คือ การให้บริการครบวงจรครอบคลุมธุรกิจออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย

  1. E-commerce (Channel)
  2. E-Marketplace (Customer)
  3. E-Marketing (Advertising)
  4. E-Payment (Transaction)
  5. E-Logistic & Warehouse และ 6.E-Knowledge

อีกทั้งร้านค้าใน TARAD.com ยังสามารถขยายธุรกิจไปขายสินค้าบน eMarketplace อื่น ๆ ที่ต้องการพร้อม ๆ กันได้ด้วย เช่น Shopee และ 11Street ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อให้ผู้ประกอบการบนตลาด TARAD.com สามารถเชื่อมต่อกับระบบดังกล่าวได้ และในสเต็ปถัดไป จะสามารถเชื่อมต่อระบบกับ Lazada และทาง JD.com ได้ด้วย

TARAD.com Tspace Digital ตลาดดอทคอม

โดยที่มีของรายได้นั้น ภาวุธ บอกว่า U-Commerce จะเป็นบริการที่ให้ใช้ฟรี มีโมเดลหารายได้แบบ Freemium สำหรับผู้ประกอบการที่อยากได้บริการเสริมเพิ่มเติม เช่น การขนส่ง คลังสินค้า การโฆษณา รวมถึงการนำข้อมูลไปทำการวิเคราะห์เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่ม TSpace Digital ที่จะทำหน้าที่เรื่องวิเคราะห์ข้อมูลให้

เรียกได้ว่า ความครบเครื่องทั้งแพลตฟอร์มและเงินทุนในเวลานี้ ทำให้ ภาวุธ มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ TARAD.com กำลับมามีกำไรแน่นอน หลังขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี

ขณะที่เป้าหมายของทีสเปซนั้น มารุตบอกว่า คาดหวังจะเห็นข้อมูลของหน่วยงานกลางในเครือทั้งสามารถหมุนเวียนและแลกเปลี่ยน เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

ชัดเจนว่า ลุคใหม่ของ TARAD.com คือ การบูรณาการข้อมูลธุรกิจของเครือเจริญทั้งหมด เพื่อเตรียม Go Online โดยภาวุธจะเข้ามาสนับสนุนการทำงานให้กระชับยิ่งขึ้น

และต้องรอดูกันต่อไปว่า สเต็ปที่สอง TARAD.com จะทำดันความฝันของทีสเปซไปถึงฝันในโลกออนไลน์ได้ไกลแค่ไหน ..?