ท้าทาย TMB ในสนามธุรกิจ SMEs

เมื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) กลายเป็นหัวใจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจทั่วโลก ประกอบกับลักษณะเฉพาะตัวของลูกค้าเอสเอ็มอีที่แตกต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้หลายแบงก์หันมาให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้

ผลสำรวจศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics รายงานความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไตรมาส 4/2557 ว่า แม้กำลังซื้อของประชาชนและเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่ถือเป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารในปี 2558 ที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ได้แค่ไหน

 เพราะครึ่งหนึ่งจะลงความเห็นตรงกันว่า กำลังซื้อจะซึมต่อเนื่อง แต่ ‘ไตรรงค์ บุตรากาศ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี กลับประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้จะฟื้นตัว และหากจีดีพีดีขึ้นธุรกิจเอสเอ็มอีก็ดีขึ้นอย่างแน่นอน

“ต่อจากนี้เอสเอ็มอีจะกลายเป็นธุรกิจหลักของแต่ละแบงก์ เพราะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เริ่มมีกำไรลดลง แต่ในส่วนเอสเอ็มอียังพอทำกำไรได้อยู่ หากดูจากเชิงปริมาณของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคิดเป็น 70% จำนวนการจ้างงานอยู่ที่ 80-90% แต่ขนาดธุรกิจทุกวันนี้มีเพียง 30-40% เพราะฉะนั้นโอกาสเติบโตยังมีเยอะ ก็จะมีหลายแบงก์เข้ามาเล่นมากขึ้น”

ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ ‘ไตรรงค์’ คลุกคลีอยู่ในวงการสินเชื่อเอสเอ็มอี เขายอมรับว่า การตรวจสอบเครดิตธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ไม่ง่ายเหมือนการดูผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ เพราะดูงบไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูลจากความมั่งคั่งส่วนตัว ประวัติค้าขาย สภาพแวดล้อม และสภาพธุรกิจ มาประกอบกัน เพื่อให้เราเข้าใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เพราะความต้องการหลักของเอสเอ็มอี คือ สภาพคล่อง แน่นอนว่าธุรกิจหลักระหว่างแบงก์และลูกค้ากลุ่มนี้คือ การปล่อยสินเชื่อที่ตอบสนองธุรกรรมการเงิน ความสะดวกรวดเร็วช่วยการทำงานของลูกค้าให้มากขึ้น โดย ‘ไตรรงค์’ มองว่าต่อจากนี้แบงก์จะสู้กันด้วยบริการ เพราะผลิตภัณฑ์สามารถพัฒนาได้ แต่บริการดีมัดใจลูกค้าเอสเอ็มอีให้อยู่หมัดเลียนแบบกันไม่ได้

สำหรับการดูแลลูกค้าของทีเอ็มบี ‘ไตรรงค์’ เผยว่า แบงก์เราให้มากกว่าเงินทุน เพราะให้คำแนะนำด้วยบริการอาร์เอ็ม (Relationship Manager) จะมีเจ้าหน้าที่ 400 รายให้คำปรึกษากับลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มได้รับบริการที่ต่อเนื่อง นี่คือบริการของเราที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น

นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจทำวิจัยพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อหาไอเดียสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุด ถึงแม้ว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม แต่ ‘ไตรรงค์’ เชื่อว่า ต้นทุนที่เสียไปจะมาพร้อมกับรายได้ที่ตามมา ….

 

ป.ปลา

 —– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ March 2015 Issue 313 —-