Disruption Technology พลิกโฉมองค์กรธุรกิจ

เบเคอร์ แม็คเค็นซี่เผย กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีคือความซับซ้อนอันดับหนึ่ง ที่ส่งผลต่อธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และจะพลิกโฉมองค์กรธุรกิจในวงกว้าง

ในยุคที่ทุกสิ่งถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตและเหมือนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นที่คุ้นเคยจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคศตวรรษที่21ไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันกลับมีผลวิจัยซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยี ทั้งที่เป็น เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruption Technology) หรือ ความต้องการเทคโนโลยีเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ (Innovation) คือความซับซ้อนหลักที่ธุรกิจในเอเชียกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคือ เบเคอร์ แม็คเค็นซี่ บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายชั้นนำของโลก ร่วมกับMergermarketที่ผ่านรายงานฉบับล่าสุด “The Asia Pacific Business Complexities Survey 2017” (การสำรวจความซับซ้อนของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกประจำปี2560) โดยสำรวจจากความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทชั้นนำที่มีสำนักงานอยู่ในเอเชียแปซิกจำนวน150คน

ซึ่งผลวิจัยดังกล่าว พบว่า ความซับซ้อนลำดับแรกที่บริษัททั่วทั้งภูมิภาคกล่าวถึง คือ ความต้องการที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อันดับถัดมาได้แก่ ความกดดันด้านต้นทุนจากการดำเนินงานและกำไรขั้นต้นที่ลดลง และ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของคู่แข่ง


ผู้ตอบแบบสำรวจทุกกลุ่มรวมกันร้อยละ 84 คาดว่าธุรกิจที่ให้บริการ Disruption Technology จะเข้ามาสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจของพวกเขาภายในเวลาเพียง 2 ปี ในขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97 ในกลุ่มสถาบันการเงิน และร้อยละ 96 ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคและค้าปลีก

การที่เทคโนโลยีได้รับการจัดอันดับให้เป็นความซับซ้อนในอันดับแรก อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก หากพิจารณาจากจำนวนบริษัทที่คาดว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความพลิกผันจากเทคโนโลยีในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น ส่วนบริษัทที่คิดว่าตนเองมีภูมิต้านทานและพร้อมรับมือกับเรื่องนี้ ต้องหยุดคิดอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ความซับซ้อนด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลของผู้บริหาร เนื่องจากประเด็นปัญหาของข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 79 นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มด้านภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือ ผู้ตอบแบบสำรวจในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 95 คาดว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะมีอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นใน 5 ปีนับจากนี้ ในขณะที่ร้อยละ 77 เห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม อิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อเอเชียแปซิฟิกจะลดลง โดยมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่คิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมีอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งหรือราวร้อยละ 48 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะลดลง


แกรี่ ซีพ ประธานบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงผลการวิจัยว่า “ปัจจุบัน โลกธุรกิจมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา หากสามารถระบุและคาดการณ์ได้ว่า ความซับซ้อนที่จะส่งผลต่อบริษัทและภาคอุตสาหกรรมคืออะไร ก็จะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ดียิ่งขึ้น”

สำหรับแนวโน้มสำคัญอื่นๆ ที่พบในการวิจัยครั้งนี้ เช่น ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนสูงถึงร้อยละ 94 ต่างเห็นตรงกันว่าจะมีการควบรวมกิจการในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า ภาคธุรกิจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อแก้ปัญหาความซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงด้านการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ


ทางด้านทินวัฒน์ พุกกะมาน กรรมการผู้จัดการ เบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังตื่นตัวด้านฟินเทค โดยองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-up) นอกจากนี้ การควบรวมกิจการในปี 2559 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหาร รวมทั้งธุรกิจการเงินและการประกันภัย และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2560 โดยดีลใหญ่ๆ จะมาจากธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปยังประเทศต่างๆ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย”