SKYACTIV Technology ดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก

เรื่องน้ำหนักตัว ไม่ใช่เป็นปัญหาของเฉพาะสาวๆ ที่ต้องคอยควบคุม ให้หุ่นฟิตแอนด์เฟิร์ม แต่เป็นปัญหาของบริษัทรถยนต์ด้วยเหมือนกัน ที่แทบทุกบริษัทต้องการผลิตรถยนต์ให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความแข็งแรง ปลอดภัย มีสมรรถนะที่ดีควบคู่ไปกับความประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้หญิงที่ต้องการมีหุ่นอันเพรียวงาม แต่ยังคงมีสุขภาพดี

มาสด้าจึงหยิบยกเรื่อง SKYACTIV มาเป็นจุดขายในตลาดรถยนต์ ที่มองผิวเผินแล้วบางคนอาจจะคิดว่าก็ไม่เห็นจะมีอะไรใหม่ ก็เรื่องลดน้ำหนักที่บริษัทไหนๆ ก็คิดก็ทำกัน แต่ให้เป็นรูปธรรมมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะต้องเอาโครงสร้างของรถยนต์แทบทุกจุดมารื้อใหม่หมด แม้กระทั่งน๊อต 1 ตัว ก็ต้องให้มีน้ำหนักเบาแต่ยังขันสวนต่างๆ ได้แน่นหนาไม่ใช่ขับแล้วหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ

น้ำหนักเบาแล้วดีอย่างไร
เมื่อรถยนต์มีน้ำหนักเบา การทำงานของเครื่องยนต์ก็เบาลง ใช้กำลังฉุดลากน้อยลง ให้สมรรถนะที่ดีขึ้นในขณะที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ ต้องบอกว่า มาสด้าแก้ปัญหาได้ถูกจุด

เพราะที่ผ่านมา รถยนต์ของมาสด้าวางตำแหน่งตัวเองว่า เป็นรถที่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบสปอร์ต เป็นสปอร์ตญี่ปุ่นที่จับต้องได้ แต่ก่อนหน้านี้มันสปอร์ตก็จริง แต่ต้องแลกกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอันโหดร้าย

เมื่อมีเทคโนโลยี SKYACTIV เข้ามา รถยนต์ของมาสด้าจึงเป็นรถที่มัธยัสถ์และรับประทานเชื้อเพลิงแบบเกรงใจเจ้าของรถยนต์มากขึ้น โดยยังคงสปอร์ตเพอร์ฟอร์แมนซ์ไว้เหมือนเดิม จนทำให้มาสด้าที่เติมเทคโนโลยี SKYACTIV เข้าไปกลายเป็นที่รถที่ถูกจับตามองมากขึ้น เพราะมีครบและทำได้เป็นรูปธรรมจริงๆ

3CX5-27

ทั้งในเรื่องของดีไซน์ สมรรถนะ และความประหยัดเชื้อเพลิง จนกลายมาเป็นจุดขายหลักทางการตลาดของมาสด้าในชั่วโมงนี้ เรียกว่าถ้าอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศไม่ง่วงเหงาหาวนอน รถยนต์ของมาสด้าน่าจะขายได้ระเบิดเถิดเทิงยิ่งกว่านี้

SKYACTIV อยู่ตรงไหนในรถ Mazda
เทคโนโลยี SKYACTIV ได้รับการพัฒนาในจุดหลักๆ คือ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และแพลตฟอร์ม platform ที่หาคำมาแปลเป็นไทยลำบากพอๆ กับคำว่า dynamic เพียง 3 จุดหลักนี้ก็เหมือนกับเอารถมาออกแบบใหม่ทั้งคัน เหมือนกับที่มาสด้าเคลมว่า “Redefining everything about cars”

ในส่วนของเครื่องยนต์ SKYACTIV แบ่งเป็น 2 เวอร์ชัน คือ SKYACTIV-G กับ SKYACTIV-D ง่ายๆ G ก็คือ Gasoline หรือเครื่องเบนซินที่เราคุ้นลิ้น ส่วน D คือ เครื่องยนต์ดีเซล

มิติใหม่ของเครื่องยนต์ SKYACTIV ทำให้มาสด้ามีเครื่องยนต์กลายมาเป็นผู้นำในตลาดโลก ด้วยอัตราส่วนกำลังอัดสูงสุดถึง 14:1 เรียกว่า เอาออกซิเจนเข้าไปช่วยเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ได้มากกว่าเครื่องยนต์ชาวบ้าน

ผลที่ตามมามันทำให้แรงบิด (Torque) ของเครื่องยนต์สูงขึ้นถึง 15% และเมื่อแรงบิดสูงขึ้น หลายๆ อย่างก็ตามมาอีกเพียบ

ไม่ว่าจะเป็น สปีดต้นที่จัดขึ้น อัตราการเร่งดีขึ้น การเผาผลาญเชื้อเพลิงน้อยลงเนื่องจากมีกำลังในการฉุดลากมากขึ้นในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ลดน้ำหนักโครงสร้างของตัวรถ ก็ยิ่งทำให้เครื่องยนต์ทำงานเบาลง เรียกว่าส่งผลต่อความประหยัดเชื้อเพลิงล้วนๆ

แน่นอนว่า เมื่อเครื่องยนต์ทำงานน้อยลงแต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เท่ากับว่า ช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ไปในตัว

มาดูทางด้าน SKYACTIV-D ที่ได้มาเหมือนๆ กันกับ SKYACTIV-G ก็คือ อัตราส่วนกำลังอัด 14:1 และทำให้เครื่องยนต์ดีเซลของมาสด้าประหยัดเชื้อเพลิงไปได้มากถึง 20% รวมทั้งมีค่าปริมาณไอเสียต่ำ ที่ทำให้รถมาสด้าวิ่งได้บนถนนทั่วโลกเพราะผ่านเกณฑ์ปริมาณไอเสียของทุกประเทศ

แวะมาดูที่ระบบส่งกำลังแบบ SKYACTIV-Drive กันบ้าง ก็ต้องแบ่งแยกสีผิวออกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือ เกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา SKYACTIV-Drive ช่วยอะไรบ้าง ในส่วนของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ

ทางมาสด้ามั่นใจมากว่านี่คือ ระบบเกียร์อัตโนมัติในอุดมคติเลยทีเดียว เนื่องจากสามารถส่งกำลังได้แทบไม่แตกต่างจากระบบเกียร์ธรรมดา มีอัตราทดเกียร์ที่ใกล้เคียงกับเกียร์ธรรมดาถึง 80% และยังมีความนุ่มนวลชวนฝันในจังหวะเปลี่ยนเกียร์และยังช่วยประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้นในสปีดต่ำ นั่นหมายถึงว่า แม้คุณจะฝ่ารถติดในเมือง SKYACTIV-Drive ก็ช่วยให้คุณประหยัดมากขึ้น

ในส่วนของเกียร์ธรรมดา มาสด้าใช้ชื่อว่า SKYACTIV-MT ชูประเด็นหลักในเรื่องของชุดเกียร์ที่มีความกะทัดรัดและน้ำหนักเบา มีน้ำหนักลดลงถึง 16% และยังบาลานซ์เรื่องการส่งกำลังในแบบสปอร์ตแต่ยังให้ความประหยัดเชื้อเพลิง

ในส่วนของแพลตฟอร์มที่แยกแยะออกเป็นส่วนของ Body โครงสร้างตัวถัง กับเฟรมแชสซีส์ Chassis เพียง 2 จุดนี้ มาสด้าก็ทำเรื่องที่น่าตกใจด้วยการหั่นน้ำหนักของ 2 ส่วนนี้ออกไปประมาณ 100 กิโลกรัม ในส่วนของโครงสร้างตัวถังที่คิดค้นออกแบบมาใหม่ ทำให้น้ำหนักถูกรีดออกไป 8% แต่กลับได้ความแข็งแกร่งมากขึ้นมาถึง 30%

เมื่อผ่านการทดสอบการชน ซึ่งผมคงไม่ยอมทดสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอน ทางด้านแชสซีส์ก็ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขับขี่ได้ทุกรูปแบบ ให้มีความคล่องตัวสูงเมื่อใช้สปีดต่ำหรือสปีดระยะกลาง ขณะเดียวกันก็มีความยึดเกาะถนนดีเยี่ยมเมื่ออยู่ในย่านความเร็วสูง

SKYACTIV VS Hybrid เลือกแบบไหนดี
ได้ข่าวแว่วมาว่า มาสด้าเองก็อยากได้ Hybrid มาผสานกับ SKYACTIV เพื่อให้ประหยัดสุดๆ หลุดโลกกันไปข้าง ส่วนค่ายที่ชู Hybrid ก็อยากจะได้ SKYACTIV ไปต่อยอดให้ตัวเอง ก็ต้องรอดูว่า ใครจะแบไต๋ออกมาก่อนกัน

Hybrid นั้นผมรู้จักและฟัดกันมานานเกินกว่า 10 ปี ประหยัดจริง 20 กม./ลิตร เป็นเรื่องที่ทำได้แบบไม่ยากเย็น ขับปกติๆ จะเร่งจะแรงมันก็ประหยัดได้ราวๆ นี้ โดยไม่ต้องเกร็งข้อเท้าแข็งแช่ความเร็ว 60 กม./ชม.

ส่วน SKYACTIV ไม่ต้องมีไฟฟ้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องต่อมอเตอร์ไว้ช่วยหมุนล้อ ไม่ต้องเสริมแบตเตอรีลูกเท่าบ้านไว้ในรถ มันก็ประหยัดได้มากกว่ารถเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซลรุ่นอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน

เมื่อมองในแง่ของการลงทุน รถยนต์ของมาสด้า SKYACTIV ราคาก็อยู่ในระดับรถทั่วๆ ไป แอบถูกแอบแพงก็แฉลบกันนิดๆ หน่อยๆ แต่หากคุณเลือก Hybrid ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นอีกหลักหลายแสน

และเมื่อลองมานั่งคำนวณส่วนต่างที่คุณต้องจ่ายมากขึ้นกับเรื่องของ Hybrid เปรียบเทียบกับความประหยัดที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง เงินที่จ่ายเพิ่มเป็นค่าเทคโนโลยี Hybrid คุณต้องใช้รถคันนี้ไปมากกว่า 10-15 ปี ถึงจะพอคุ้มกับส่วนต่างของค่าน้ำมัน แล้วจะมีสักกี่คนที่ซื้อรถญี่ปุ่น Hybrid ไปใช้งานเกิน 10 ปี

ปกติที่เห็นผ่อนหมดก็เปลี่ยนคันใหม่กันเป็นส่วนใหญ่ แล้วไหนจะต้องมานั่งระแวงกับแบตเตอรีเป็นโรคอัลไซเมอร์ ตัว Converter สลับกระแสไฟฟ้าเกิดขี้เกียจทำงาน แล้วหากจอดนิ่งๆ นานๆ ก็ไม่มั่นใจว่า แบตเตอรีมันจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะถอดขั้วทิ้งแบบแบตเตอรี 3K หงส์แดงในห้องเครื่องก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีก

ไม่ได้กล่าวโทษเทคโนโลยีดีๆ ประหยัดๆ เหล่านี้นะครับ มันมีจุดดี จุดเด่น ที่ต่างกัน แต่จะผิดก็คงผิดที่รัฐบาลและสรรพสามิต ที่ควรจะพิจารณาโครงสร้างภาษีของรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีให้ความประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ถูกกว่านี้

คนที่ใช้รถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงเท่ากับช่วยประเทศชาติ ไม่ควรต้องจ่ายแพง สุดท้ายกลายเป็นว่า “ต้องลงทุนมากขึ้น เพื่อจะประหยัดเชื้อเพลิง” เป็นตรรกะที่พิสดารมาก

ประเทศนี้หลงทางกับคำจำกัดความของ Eco Car รถเครื่องยนต์ใหญ่มันก็เป็น Eco Car ได้ จะดูขนาดเครื่องยนต์เพื่ออะไร ทั้งที่มันควรจะมองไปที่อัตราสิ้นเปลืองกับค่า Co Emission ก็น่าจะพอ

ประชาชนที่พอมีทางเลือกก็สามารถเลือกรถที่ดี ปลอดภัย และประหยัด ไม่ใช่ได้เพียงความประหยัดแต่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงทดสอบการชนบนท้องถนนที่มีโอกาสรอดยากมาก

นี่แหละคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ต้องได้อย่างเสียอย่างตลอดเวลา อยากได้ของถูกก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก อยากมีความปลอดภัยต้องจ่ายแพง ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศได้ดีเยี่ยมจริงๆ ครับ

Mazda 2 เบนซิน ของใหม่ที่ต้องลอง

เป็นการเสริมทัพต่อยอดความสำเร็จจากเครื่องยนต์ SKYACTIV ที่วางรุ่นมาสด้า CX-5 และมาสด้า 3 ใหม่ โดยมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เปิดตัวเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 1300 ซีซี อย่างเป็นทางการ

SKYACTIV-G เครื่องยนต์เบนซินมากับขนาด 1300 cc. ที่ให้ทั้งสมรรถนะการขับขี่ที่เปี่ยมด้วยพลังแรง ให้กำลังสูงสุดที่ 93 แรงม้าที่ 5,800 รอบ แรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ เป็นเครื่องยนต์เบนซินประสิทธิภาพสูงประหยัดน้ำมันสูงถึง 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร พร้อมมาตรฐานด้านความปลอดภัยทั้งเชิงป้องกัน (Active Safety) และเชิงปกป้อง (Passive Safety)

รถยนต์รุ่นนี้ออกแบบให้ผู้ขับขี่สามารถเพิ่มการรับรู้และการคาดการณ์ต่อสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และยังรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรฐานข้อบังคับมลพิษของยุโรป EURO 5 เป็นครั้งแรกของรถที่จำหน่ายในประเทศ ด้วยการปล่อยไอเสียต่ำเพียง 100 กรัมต่อกิโลเมตร

ที่สำคัญมาพร้อมความคุ้มค่า คุ้มราคา กับข้อเสนอสุดพิเศษคือเริ่มต้น Mazda2 Sports แฮตช์แบค รุ่น Standard  550,000 บาท จนถึงรุ่น High Plus เกียร์อัตโนมัติ ที่ราคาจำหน่าย 665,000 บาท

แว่วมาว่า รถคันนี้ทดสอบอัตราการประหยัดน้ำมันได้ัสูงสุดถึง 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร น่าสนใจไหมครับ ………..

มาสด้า 2 SkyActiv 1500 cc.

มาสด้า 2 SkyActiv เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 1500 cc. เทอร์โบแปรผัน 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิด 25.47 กก.-ม. ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที

มาสด้า 2 1300 cc

มาสด้า 2 SkyActiv เครื่องยนต์เบนซิน 1300 cc. กับสมรรถนะการขับขี่ที่ให้กำลังสูงสุด 93 แรงม้าที่ 5,800 รอบ แรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ

วศิน อนมาน : vincedog@gmail.com