อนาคตเมียนมาในยุคเปลี่ยนผ่าน

ถิ่น จอ ประธานาธิปดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา ภาพจาก Time

วันนี้ (15 มีนาคม 2559) เมียนมาได้เริ่มกระบวนการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ โดย ถิ่น จอ เพื่อนสนิทของ ออง ซาน ซูจี ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิปดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา ด้วยคะแนนเสียงชนะขาดลอย

เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เมียนมาที่มีประธานาธิปดีพลเรือนคนแรกในรอบ 50 ปี ซึ่ง ‘ถิ่น จอ’ ได้รับคะแนน 360 จากสมาชิกสภาทั้งหมด 652 ที่นั่ง
ถือได้ว่าเป็นคะแนนเสียงเกินครึ่งของสภา !!

สำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์แห่งเมียนมาเลยที่ทั่วโลกจับตามองเลยก็ว่าได้ สื่อนอกอย่าง The Washington Post พาดหัวข่าวว่า “รัฐสภาเมียนมาโหวตเลือกประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก ถือเป็นครั้งแรกในครึ่งศตวรรษ” 

พร้อมกับระบุคำกล่าวของประธานาธิบดีคนใหม่แก่งเมียนมาว่า  “เราต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยย้ายไปข้างหน้า” 

ขณะที่หลายฝ่ายรอคอยนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มารับไม้ต่อจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายพลเต็ง เส่ง อย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนทางธุรกิจในระยะยาว การมาของ ถิ่น จอ ครั้งนี้ จะเปลี่ยนอนาคตของเมียนมาเป็นอย่างไร ? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า

“ทิศทางการดำเนินนโยบายของพรรค NLD จะเน้นเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ควบคู่กับเสริมสร้างประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ โดยการสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ”

อนาคตเมียนมา ยุคอองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD
ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ภาพจาก businesstimes.com

ซึ่งหากภาวะการเมืองของเมียนมาเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า นี่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเมียนมามากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ พรรค NLD ได้มีแกนหลักของนโยบายด้านเศรษฐกิจ 5 ด้าน ได้แก่

  • การดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ปฏิรูประบบการเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นหลัก
  • การปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน จัดตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย และการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เสริมสร้างความมีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น และทำให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความโปร่งใส
  • การพัฒนาภาคเกษตรกรรม เพิ่มศักยภาพผลผลิตสินค้าเกษตร และสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ทางการเกษตรของเมียนมาหลายแห่งยังไม่มีการนำมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกำลังการผลิตต่ำ นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
  • การปฏิรูประบบการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ และส่งเสริมให้ธนาคารกลางเมียนมามีความอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป และเกษตรกร
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเมียนมาอาจขอความช่วยเหลือหรือขอเงินกู้จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา

ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา และออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ภาพจาก Gemunu Amarasinghe, AP

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลชุดใหม่ ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมา ยังต้องมีการดำเนินการในด้านต่าง ๆในระยะถัดไปอีกมาก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

เพราะตัวเลข FDI ในเมียนมาช่วง “2-3 ปีที่ผ่าน ภายหลังเมียนมาได้ออกกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ปี 2555  พบว่า การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในเมียนมายังคงเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมทางด้านพลังงานเป็นหลัก

สำหรับสัดส่วนมูลค่า FDI ที่ได้รับการอนุมัติในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในเดือนมิถุนายน 2557 เป็น 10.7% ในเดือนมกราคม 2559 ก็ยังแสดงถึงความสนใจลงทุนในเมียนมาที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ”

FDI
สัดส่วนมูลค่า FDI ในเมียนมา (หน่วย : %)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงเมียนมาไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อาจจำเป็นต้องอาศัยเวลา แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้คงต้องเผชิญกับโจทย์ทางเศรษฐกิจรอบด้านทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อ, ค่าเงินจ๊าตที่อ่อนค่า, การขาดดุลการค้า และการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

สำหรับปีงบประมาณ 2559/2560  ทางการเมียนมาคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาน่าจะอยู่ที่ 7.8% ขณะที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ 8.4% ในปี 2559

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตได้ 7.8% ในปี 2559 เร่งขึ้นจาก 7.7% ในปี 2558

ถึงแม้ว่าค่าแรงในเมียนมาจะนับว่าถูกที่สุดในอาเซียน แต่ต้นทุนในด้านอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนแฝงของภาคธุรกิจยังถือว่าสูงอยู่ ทั้งการเช่าอาคารสำนักงาน ต้นทุนการพัฒนาบุคลากร ภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นต้น

หากนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาคงจะต้องพิจารณาอุปสรรคที่อาจต้องเผชิญในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าเช่าอาคารสำนักงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในการฝึกฝนและพัฒนาแรงงาน และการขาดแคลนแรงงานระดับบน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี โอกาสทางธุรกิจในเมียนมายังนับว่ามีอีกมากโดยเฉพาะในระยะข้างหน้า ดังนั้น การเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจท้องถิ่นแต่เนิ่น ๆ และเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจข้ามประเทศ เช่น การฝึกทักษะด้านภาษา และการศึกษากฏหมายในการทำการค้าระหว่างประเทศ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเมียนมาได้