Next Step AP ในโลกอสังหาฯ ยุคใหม่

แม้ว่า บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา

จนทำให้ AP เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรก ๆ ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มิหนำซ้ำยังสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเมืองไทย

แต่วันนี้ AP ยอมรับว่าด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว ทำให้ AP ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย ๆ ได้ และจำต้องปรับตัวให้ทันกับโลกอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่นี้เช่นกัน ซึ่งหลายคนคงอยากรู้ว่าการปรับตัวสู่โลกอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ในแบบฉบับ AP จะเป็นอย่างไร วันนี้คอนโดแมนแห่งค่าย AP “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม จะมาเล่าให้ฟังอย่างลึกซึ้งทีเดียว

AP

โลกอสังหาฯ ยุคเก่าเป็นอย่างไร ??

การพัฒนาที่อยู่อาศัยในยุค 20 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ขับเคลื่อนตลาด (Developer Push) ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการคิดจะพัฒนาโครงการเรียลเอสเตทสักหนึ่งโครงการ เพียงมีที่ดินในมือก็สามารถดำเนินการก่อสร้าง จากนั้นคำนวณต้นทุนและตั้งราคาขายสู่ตลาด เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อจนหมดก็ปิดการขายโครงการนั้นไป เป็นภาพเช่นนี้เรื่อยมา

แต่โลกการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคเถ้าแก่มาสู่ยุคการบริหารงานแบบมืออาชีพ โดยมีผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดตลาด (Customer Drive) ทำให้ก่อนจะพัฒนาโครงการใหม่ออกสู่ตลาด ผู้ประกอบการจะต้องทำการสำรวจทั้งทำเลและความต้องการลูกค้า เพราะจะพัฒนาโครงการในรูปแบบเดิม ๆ ที่มีหน้าตาเหมือนกันหมด อาจจะไม่ใช่คำตอบ

วันนี้วงการอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นช่วงที่เดินมาถึงจุดเปลี่ยน !! ซึ่ง AP เองก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ด้วยเช่นกัน

“เราเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และจะไม่ปรับเปลี่ยนเลย ก็ไม่ได้ เพราะในที่สุดธุรกิจเรียลเอสเตทก็ต้องพลิกโฉมไป” นี่คือคำกล่าวของวิทการ ถึงความท้าทายครั้งใหม่

AP

‘AP’ ในโลกอสังหาฯ ยุคใหม่เป็นอย่างไร ??

วิทการ ยอมรับว่า โลกของอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ เป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ข้อมูลข่าวสารทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายดายและรวดเร็ว ที่สำคัญพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งยังมีความต้องการที่หลากหลายและเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาธุรกิจที่อยู่อาศัยในยุคนี้จึงอยู่ที่ “ข้อมูล” และ “ลูกค้า” โดยผู้ประกอบการจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถเข้าใจและล่วงรู้ถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งการจะได้ข้อมูลเหล่านี้ต้องอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า “การทำวิจัยตลาด” (Market Research) จากนี้ไปจึงย่อมจะเห็น Developer หันมารุกทำวิจัยตลาดกันมากขึ้น

"วิทการ จันทวิมล" รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียมบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
“วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียมบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

สำหรับ “AP” ได้เดินหน้าทำวิจัยมาประมาณ 4 ปีแล้ว เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นอาวุธชั้นดีที่ทำให้ AP เข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาสินค้า ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาได้อยู่หมัด จนลูกค้าเกิดความพึงพอใจ กระทั่งเกิดการบอกต่อปากต่อปากและซื้อซ้ำในที่สุด

”แน่นอนการที่เราทำสิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าและสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด แต่มากไปกว่านั้นเราเชื่อว่าตลาดวันนี้มี Hidden Need อีกหลายอย่างที่ยังไม่มีใครทำ หรือถ้าเราทำรีเสิร์ชลงไปลึก ๆ อาจมีอิมแพคแรงจนกระทั่งต้องเปลี่ยนบิซิเนสโมเดลในการทำก็ได้ เพราะการตอบรับของลูกค้าอาจเป็นอีกแบบที่โมเดลปัจจุบันไม่สามารถเซิร์ฟได้”

วิทการ ย้ำพร้อมเสริมด้วยว่า ตลอด 4 ปีกับการทำวิจัย มีหลายสิ่งที่ AP ต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำวิจัยให้ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันหากพูดถึงการทำ Customer Research แล้ว ต้องถือว่า AP ทำได้ลึกในระดับหนึ่งทีเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด ซึ่งทิศทางต่อจากนี้ AP จะให้น้ำหนักกับการทำวิจัยตลาดอย่างครบเครื่อง พร้อมนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นคอมเมอร์เชียลมากขึ้น

AP

Transform องค์กรสู่ดิจิทัล

นอกจากการทำวิจัยตลาดแล้ว วิทการบอกว่า ปัจจุบัน AP กำลังอยู่ในช่วง Transform องค์กรจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันปัจจุบันเมื่อพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ หรือ Prop Tech ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร โดยบางคนมองเป็นการทำ Start Up ขณะที่บางคนมองว่าเป็นการซื้อเทคโนโลยี

แต่ในมุมมองของ AP จะยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยมองว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีไปตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้อย่างไร

ทำให้วันนี้ AP จึงเริ่มนำร่องเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวระบบการจองผ่านออนไลน์ (iBooking) เป็นครั้งแรกในโครงการ LIFE ONE WIRELESS เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น พร้อมกับพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานผ่านสมาร์ตโฟนได้ง่ายดาย และควบคุมทุกอย่างได้แบบ Real time เช่น Digital Draw Log ทั้งยังรองรับการเปิด-ปิดระบบไฟฟ้าในห้องพัก การจองใช้พื้นที่ส่วนกลาง ระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในโครงการได้สะดวกสบาย

“เรามีการทำเซอร์เวย์ว่าลูกค้าต้องการให้เรานำเทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ด้านใด แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้น คำตอบส่วนใหญ่พบว่า ต้องการด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความคงทน เพราะบ้านเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งเราเชื่อว่าทั้ง ibooking และ Application ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ ลูกค้าจะได้ใช้งานจริง แต่จะใช้มากใช้น้อย ก็ค่อย ๆ ศึกษาและปรับรูปแบบให้สอดรับพฤติกรรม ซึ่งถ้าระบบทุกอย่างไปได้ อาจจะปรับวิธีการจองเป็นรูปแบบ ibooking ต่อไปในอนาคต”

AP

เมื่อถามถึงกระบวนการขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกดิจิทัลในวันนี้ วิทการ ยอมรับว่า อาจจะยังไม่ได้เร็วดั่งใจ แต่หากพิจารณาถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า ถือว่ารวดเร็วขึ้นมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โดยสามารถจัดการทุกอย่างได้ภายใน 1 สัปดาห์ จากเมื่อก่อนต้องใช้เวลา 2 เดือน

“ในโลกดิจิทัล ต้องลองให้เร็ว ทำผิดพลาดให้เร็ว แก้ปัญหาให้เร็ว ถ้าไม่ดีก็ถือเป็นการทดลอง แต่ถ้าดีก็ถือเป็นคนแรกที่ทำ ไม่มีคำว่าต้องทำให้ถูก 100% แล้วค่อยออกมา ทุกอย่างเป็นการ Trial & Error อย่างสตาร์ทอัพในซิลิคอน วัลเลย์ มีคนทำเป็น 100 คน แต่ที่ประสบความสำเร็จแค่ 2 คน และที่สามารถสร้างรายได้เป็นพันล้านเหรียญมีแค่ 1 คน”

เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของวิทการกับการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลในสไตล์ AP แม้จะเป็นเพียงก้าวแรกของการปรับทัพ แต่ทั้งหมดเป็นแนวทางที่ไม่เพียงแต่จะช่วยขับเคลื่อน “AP” ให้คงความแข็งแกร่งท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ AP ก้าวสู่การเป็น Top 3 ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทยในเร็ววันอีกด้วย

ปัจจุบัน AP ถือเป็นผู้นำตลาดทาวน์เฮาส์ในเซ็กเมนต์ระดับกลางมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาระยะหลัง ๆ AP เริ่ม Move ตัวเองเข้าไปทำตลาดบน และล่างมากขึ้นทั้งตลาดแนวราบและแนวสูง โดยอาศัยจุดแข็งที่โดดเด่นในเรื่อง Quality Liveing มาเป็นจุดขายที่แตกต่างเพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้า

ซึ่งการ Move ตัวเองเข้าสู่ตลาดบนและล่างมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมทำให้ AP ต้องทำการบ้านบ้านหนักขึ้น แต่ก็ทำให้ APสามารถเข้าไปครอบคลุมทุกตลาดได้เพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อนั้นเป้าหมายที่วางไว้ก็ย่อมไปถึงเร็วขึ้น