Modern Medicine ความท้าทายบริการสุขภาพไทยสู่เวทีโลก

Modern Medicine ความท้าทายบริการสุขภาพไทยสู่เวทีโลก

กลายเป็นเทรนด์ของโลกไปแล้ว เมื่อกล่าวถึงกระแสการบริโภคเพื่อความงามและสุขภาพ และการที่ประเทศไทยกำลังพาตัวเองไปหาเส้นทางธุรกิจดังกล่าว โดยนัยหนึ่งย่อมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจขึ้นมาใหม่ จนปฎิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มที่รัฐบาลประกาศทางเดินชัดเจน นั่นคือการผลักดันหาเครื่องยนต์ตัวใหม่ให้เข้าทดแทนเครื่องยนต์หลักอย่างภาคส่งออกที่นับวันจะอ่อนล้าลง

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ฉายแววสดใสมานานหลายปี และไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนแรงลงคือสินค้ากลุ่มสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)

อุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บริการด้านสุขภาพ อาหาร และผลิตภัณฑ์ความงาม สามารถกล่าวได้ว่า ทั้งหมดล้วนเป็นขุมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นจากเทรนด์สุขภาพที่มาแรงขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ครอบครัวรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง แต่เลือกที่จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุด สอดคล้องกับภาพคาราวานสินค้าในแต่ละช่องทางการขายล้วนต่างพาเหรดสินค้าเข้ามาเร่งเร้าให้ควักกระเป๋าได้ไม่ยาก

คนในรัฐบาลนี้เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมการบริการคือเครื่องยนต์ตัวใหม่ของประเทศไทย

ดาวเด่นในอุตสาหกรรม S Curve ของประเทศไทยที่ถือว่าใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด คือกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) ซึ่งมีหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า บริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บริการด้านสุขภาพ อาหาร และผลิตภัณฑ์ความงาม สามารถกล่าวได้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นขุมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นจากเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน และที่ผ่านมาได้สร้างรายได้ให้กับประเทศหลายแสนล้านบาท

Modern Medicine

แต่ยังขาดการบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเป็นเอสเอ็มอีที่ยังต้องได้รับการสนับสนุนหลายด้าน ทั้งแหล่งเงินทุน การหาตลาดรองรับ และโนว์ฮาว ที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการที่รัฐบาลมีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 2 หลังจากแผนที่ 1 สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2554

รวมไปถึงการเดินหน้ายุทธศาสตร์ขับเคลื่อนปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและลดข้อจำกัดแก่อุตสาหกรรมผ่านร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. … ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนจะออกเป็นกฎหมายในอนาคตอันใกล้นี้

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “สมุนไพร” อย่างมาก โดยได้วางเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะขับเคลื่อนด้วยการสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต โดยเฉพาะการส่งออกไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน เบื้องต้นมุ่งเน้น 4 สมุนไพรหลัก ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล

Modern Medicine

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพรเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพรมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสม ส่งออกเป็นมูลค่ากว่า 71,000 ล้านบาท

ขณะที่ผลการสำรวจตลาดและคาดการณ์ตลาดสมุนไพรทั่วโลก จาก Global Industry Analysts, Inc. (2015) ระบุว่า ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารและการรักษาด้วยสมุนไพร (Herbal Supplements and Remedies) ในตลาดโลก จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มในการดูแลสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ การที่ยาสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน อีกทั้งการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาสุขภาพยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้อีกด้วย

Modern Medicine

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าช่องว่างทางการตลาดยังมีอีกสูงมากสำหรับตลาดสมุนไพรไทย และท้ายที่สุดแล้วจะสามารถเข้าไปตอบโจทย์ทางด้าน Modern Medicine หรือการรักษาในแบบแผนปัจจุบัน จากเดิมที่ใช้อยู่ในกลุ่ม Traditional Medicine การแพทย์แบบดั้งเดิม และ Alternative Medicine หรือแพทย์ทางเลือก เป็นศาสตร์เพื่อการวินิจฉัยการรักษาและการป้องกันโรคที่นอกเหนือจากศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่ประสบความสำเร็จสามารถนำสมุนไพรไทย มาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งการทำเป็นยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่อนาคตธุรกิจสุขภาพยังไปได้อีกมากหากรู้เคล็ดลับและวิธีการเจาะตลาด เพราะธุรกิจสุขภาพและความงามถือเป็น Mega Trend ที่สำคัญของโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการส่งออกยาสมุนไพรไทยไปยังต่างประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะยังเป็นรองจีนและอินเดีย ที่ถือว่าเป็นผู้ำนำทางด้านตลาดสมุนไพร แต่ในอนาคตหากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับรูปลักษณ์ยาสมุนไพรให้เหมือนยาแผนปัจจุบัน พร้อมกับยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั้งในด้านคุณภาพและสุขอนามัยในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับยาแผนปัจจุบัน จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน