Local Economy ทางรอดเศรษฐกิจไทย2560 ?

หอการค้าไทยส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น หลังรัฐบาลเพิ่มนโยบาย Local Economy

 

  •  เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆในกรอบ 3.3 ถึง 3.5%

  • ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี2560จากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

  • ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

  • รัฐบายยกระดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค ให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร (Multiple Growth Pole)

 

วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวในกรอบ 3.3 ถึง 3.5% การส่งออกเติบโต -1.0 ถึง 0.0% ซึ่งอาจจะฟื้นตัวได้ในปี 2560 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในกรอบ 3.5-4.0% การส่งออกจะขยายตัว 0.0 ถึง 2.0% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย แรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว การท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 
ปัจจัยที่ต้องติดตาม ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ การปรับขึ้นดอกเบี้ย ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเติบโตชะลอลงของเศรษฐกิจจีน

 
จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รัฐบาลมีแนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัด ทั้ง 18 กลุ่ม จำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้แต่ละกลุ่มจังหวัดนำงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ ไปพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ เป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งมากขึ้น

 
สำหรับนโยบายการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินการแบบประชารัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม) ในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อให้การกระจายงบประมาณลงสู่กลุ่มจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการดึงศักยภาพของกลุ่มจังหวัด ให้เป็น growth engine ในอนาคต และสามารถพัฒนาให้มีความยั่งยืนด้วยตัวเอง

 

 

ทั้งนี้ จะเป็นการยกระดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค ให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร (Multiple Growth Pole) อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายของนโยบายได้นั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการเสนอโครงการต่าง ๆ จาก 18 กลุ่มจังหวัด ประมาณ 1,000 โครงการ รวมใช้งบประมาณ 83,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านการเกษตร ประมาณ 25,000 ล้านบาท ด้านการท่องเที่ยวและบริการ 32,000 ล้านบาท ด้านการค้าการลงทุนและการค้าชายแดน 7,900 ล้านบาท และด้านโลจิสติกส์ 18,000 ล้านบาท

 
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับตัวอย่างโครงการจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ที่ดำเนินการตามแนวนโยบาย Local Economy อาทิ โครงการแปลงโฉมอยุธยาเมืองมรดกโลก เป็นการปรับโฉมอยุธยาให้เป็นเมืองต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยว
ทางประวัติศาสตร์ (เกียวโตโมเดล) โดยริเริ่มการปรับปรุงในด้านต่างๆ ภายใต้งบประมาณการลงทุนของภาครัฐ 4,700 – 6,700 ล้านบาท

 

 

โดยมีเป้าหมายของโครงการฯ จะสามารถสร้างรายได้และเกิดการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น ได้แก่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 7 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนในปี 2025 รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น 10 เท่า เป็น 140,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 100,000 ตำแหน่ง เกิดการลงทุนในร้านอาหาร โรงแรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ อย่างน้อย 25,000 – 30,000 ล้านบาท

 

 

โครงการ Amazing Thai Hosts เป็นการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว โดยการดึงบุคคลวัยเกษียณอายุ ในชุมชนท้องถิ่นที่ยังสามารถทำงานได้ เข้ามาเป็นอาสาสมัครด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของคนในท้องถิ่น รวมถึงทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่นอีกด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด ภายใต้วงเงินงบประมาณ 200 ล้านบาท (นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)

 
โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของไทย ใช้การตลาดนำการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มผลิตภาพ ด้วยการพัฒนาการทำเกษตร ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร สามารถติดตามผลสอบย้อนกลับได้ กลางทางมีการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และถึงปลายทางในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย โดยการเชื่อมโยงความต้องการของตลาด (Market) กับผลผลิตของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ 58 แปลง ครอบคลุม 32 จังหวัด

 
ดร.เดช กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่

1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบ 1 – 1.2 หมื่นล้านบาท

2) มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ มีเงินเข้าสู่ระบเศรษฐกิจ 5 พัน – 1 หมื่นล้านบาท และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 59 เติบโตเพิ่มอีก 0.02%

3) มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย (ช็อปช่วยชาติ) มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1 – 2 หมื่นล้านบาท

4) มาตรการชะลอการขายข้าว มีเงินเข้าสู่ระบบ 1 – 1.5 หมื่นล้านบาท

5) นโยบาย Local Economy จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มได้อีก 0.5%

6) ขอขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

 

 

ซึ่งจากการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก เห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีมาก แต่เนื่องจากระยะเวลาในการใช้สิทธิ์ตามมาตรการค่อนข้างสั้น และมีสัดส่วนสมาชิกประมาณร้อยละ 80 แจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิ์ เพื่อขยายการลงทุน ในปี 2560 วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอขยายระยะเวลามาตรการฯ ดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป