ปัญหาเรื้อรัง การค้า การลงทุน ชายแดนไทย-สปป.ลาว

เสน่ห์การลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV คือมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกัน และนั่นทำให้เกิดภาพเชื่อมโยงผ่านการค้าชายแดน ซึ่งเป็นอีกระบบที่ส่งเสริมการค้าทางอ้อม จนนำไปสู่เม็ดเงินขนาดใหญ่

โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทยยาวที่สุด บวกกับทรัพยากรที่ยังสมบูรณ์ และนโยบายเปิดประเทศ จนกลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้สปป.ลาว มีความโดดเด่นมากแห่งหนึ่ง


สถานะของสปป.ลาว ที่อาศัยจุดด้อยในอดีต เปลี่ยนตัวเองจาก Land Lock สู่ Land Link กลายเป็น “จุดเด่น” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านทั้งหมด เกิดเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ดึงดูดเม็ดเงินจากกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศมากขึ้น

 

ทั้งนี้ หากมองในเชิงภูมิศาสตร์ การที่สปป.ลาว และประเทศไทยมีพรมแดนเชื่อมติดกันเป็นระยะประมาณ 1,810 กิโลเมตร แบ่งเป็นพรมแดนทางบก 702 กิโลเมตร และพรมแดนทางน้ำ 1,108 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวนั้น ทำให้ปริมาณการค้าชายแดนของทั้งสองประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ การค้าชายแดนลาว-ไทย สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.การค้าในระบบ หมายถึง การค้าที่นำสินค้าเข้าออกตามชายแดน โดยผ่านพิธีศุลกากร และ 2.การค้านอกระบบ หมายถึง การลักลอบค้าขาย โดยอาศัยช่องทางความสะดวกของภูมิประเทศ โดยไม่ผ่านพิธีศุลกากร

 

“สปป.ลาวเป็นประเทศที่นักลงทุนไทย ควรเข้าไปลงทุน เพราะมีโอกาสหลายด้าน เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จึงได้สิทธิพิเศษด้านภาษีจากประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอียู

 

รวมถึงนักลงทุนไทย ที่ทั้งตั้งฐานการผลิตในลาวก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีด้วย ที่สำคัญที่นี่ค่าแรงขั้นต่ำ เทียบรายได้ต่อหัวของประชากร ถือว่า ยังอยู่ในระดับต่ำมาก”

 

สำหรับกิจการ 3 อันดับแรกที่น่าเข้าไปลงทุน คือ กิจการไฟฟ้า, กิจการธนาคาร และกิจการบ่อแร่ และกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากสปป.ลาว นิยมสินค้าจากไทย รวมถึงกิจการยานยนต์และอู่ซ่อม และธุรกิจก่อสร้าง เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองที่กำลังขยายตัว

 

ทั้งนี้ นักลงทุนไทยควรศึกษากฎหมายและวัฒนธรรมของสปป.ลาว ให้เข้าใจอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคของธุรกิจ ส่วนปัญหาด้านการติดต่อราชการและภาษีมีการพัฒนาขึ้นมาตลอด

 

เนื่องจากสปป.ลาว ได้แก้กฎหมายและลดภาษีเงินได้จากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 28 แล้ว รวมถึงยังมีการเปิดให้สัมปทานที่ดินเพื่อพัฒนาจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลมีแผนกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง ผ่านการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Specific Economic Zone) ขึ้นหลายแห่ง

 

ทั้งนี้ หากติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนของไทยหลายแห่ง อาทิ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นด่านที่มีความหนาแน่นมีการใช้บริการเป็นจำนวนมาก จะพบว่า มูลค่าการค้าชายแดนช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับชายแดนบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจาการเข้มงวดกวดขันในการบังคับใช้กฎหมาย

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นถึงความเสียโอกาสทางการค้าของไทย-สปป.ลาว จึงได้มีการจัดประชุมเมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็น (Focus Group) ระหว่างกรมกิจการชายแดนทหาร นักธุรกิจไทย รวมถึงผู้บริหารจากสมาคมนักธุรกิจหนุ่ม สปป.ลาว เพื่อร่วมหาทางออก และพบว่าสิ่งที่ต้องเร่ง 3 อันดับแรก ได้แก่
1. กฎระเบียบข้อบังคับไม่เข้มแข็ง โดยข้อมูลจากการประชุมกลุ่มพบว่า สินค้าอุปโภคบางชนิดที่นำเข้าถูกกฎหมายมีราคาสูงกว่าสินค้าลักลอบถึง 15%

 

2. การอำนวยความสะดวกบริเวณด่าน ควรมีการพัฒนาเรื่องของขั้นตอนที่ชัดเจน รวมถึงระยะเวลาที่สั้นลง รูปแบบที่ชัดเจนขึ้น

 

3. ความชัดเจนในการกำหนดอัตราภาษี ต้องกำหนดความชัดเจนเรื่องอัตราการเก็บภาษี เนื่องจากภาษี ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ขาดเสถียรภาพด้านการแข่งขัน

 

ไว้มาต่อฉบับหน้านะครับว่า ทางออกสำหรับการค้าแบบยั่งยืนในสปป.ลาว จะเป็นเช่นไร

ผู้เขียน : ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

—– ติดตามบทความตอนต่อไปได้ที่ นิตยสาร Business+ June 2015 Issue 316 —-