JobsDB เผยความสุขกับงานเป็นสิ่งดึงพนักงานให้อยู่กับองค์กร

jobsDB เผยดัชนีความสุขของการทำงานประจำปี 2016 ชี้ความสุขในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้พนักงานยังคงอยู่กับองค์กร

โดยมีเหตุผลหลักอยู่ที่การเดินทางมาทำงานและสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ส่วนเหตุผลที่ทำให้ลาออกคือการมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน

 

 

JobDB

 

บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำรายงานดัชนีความสุขของพนักงานประจำปี 2016 โดยให้คนไทยกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วยพนักงานระดับต่างๆ ตั้งแต่พนักงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานไปจนถึงระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงจากทั่วประเทศ โดยแต่ละคนมีอายุงาน ความเชี่ยวชาญและอยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันมาตอบแบบสอบถามจำนวน 1,957 คน

 

 

นางสาวนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลจากการสำรวจพบว่า ความสุขในการทำงานคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้นานที่สุด โดยปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในที่ทำงาน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวก และทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ตามมา โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศและลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมของคนไทย

 

ขณะที่ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขจนถึงขั้นลาออกจากบริษัทคือ การมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุข แต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะอยู่ด้วยความภักดีต่อองค์กรหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ

 

 

“34% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน อีก 19% เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ 8% บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง ทั้งนี้หากแยกสายงานที่มีความสุขในการทำงานสูงสุดลำดับที่ 1 คือ สายงานบริหาร มีคะแนนความสุขสูงถึง 6.38 คะแนน รองลงมาเป็น สายงานด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และอุตสาหกรรมอาหาร”

 

 

ส่วนการสำรวจเพื่อศึกษาข้อมูลภาพรวมของพนักงานที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทยในเชิงลึกพบว่า พนักงานที่มีความพึงพอใจต่องานมากที่สุดคือกลุ่มที่ทำงานปัจจุบันมาประมาณ 3-5 ปี โดยเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในงานบริหาร งานท่องเที่ยว งานโรงแรมงานอาหารและเครื่องดื่ม และงานธุรการงานทรัพยากรบุคคล และทำงานอยู่ในธุรกิจก่อสร้าง/สถาปัตยกรรม ธุรกิจโรงแรม บริการ/จัดเลี้ยงและธุรกิจการแพทย์/เภสัชกรรม โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นระดับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร อาทิ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการ เป็นผู้มีความสุขที่สุด

 

ในทางตรงกันข้ามพนักงานที่ให้คะแนนความสุขต่ำที่สุดเป็นพนักงานที่เพิ่งเริ่มงาน (ส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรมาน้อยกว่า 1 ปี) ในสายงานขนส่ง งานไอทีและงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ในธุรกิจประกันภัยธุรกิจสารเคมี/พลาสติก/กระดาษ/ปิโตรเคมีและธุรกิจยานยนต์ โดยตำแหน่งงานที่มีความสุขน้อยที่สุดคือหัวหน้างาน เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าพนักงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่ามีความพึงพอใจต่อการทำงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพนักงานในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ

 

 

นางสาวนพวรรณ กล่าวว่า รายงานดัชนีความสุขของพนักงานประจำปี 2016 นี้ยังได้นำไปเปรียบเทียบกับคนทำงานอีกเจ็ดประเทศในเอเชีย โดยพบว่าคนไทยมีความสุขในการทำงานเป็นอันดับที่สาม โดยการสำรวจนี้จัดทำในฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและไทย

 

 

คะแนนความสุขเฉลี่ยจากผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยทั้ง อยู่ที่ 5.74 (จาก 11 ระดับคะแนน ) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่สามของประเทศที่คนทำงานมีความสุขกับการทำงาน รองจากฟิลิปปินส์ (6.25) และอินโดนีเซีย (6.16) ทั้งนี้ประเทศไทยมีดัชนีความสุขจากการทำงานเป็นอันดับที่สาม ซึ่งวัดจากจำนวนคนตอบแบบสอบถามที่มีทัศนะคติเป็นกลางไปจนถึงมีความสุขกับงาน พบว่าทุก ๆ 100 คน จะมี 61 คนมีทัศนะคติเป็นบวกกับงาน ตามหลังอินโดนีเซียที่ 71 และฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ที่ 73

 

 

นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังสอบถามถึงมุมมองของผู้ตอบแบบสอบที่มีต่อความสุขในการทำงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ ที่ระดับ 5.66 เมื่อเทียบกับอีกเจ็ดประเทศ โดยอินโดนีเซียมีดัชนีความสุขระดับสูงสุดในกลุ่มนี้ที่คะแนน 6.58 ตามมาด้วยเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ 6.30 และ 6.18 ตามลำดับ สุดท้ายด้วยสิงคโปร์ที่ 4.93 และยังเป็นประเทศเดียวที่ได้คะแนนต่ำกว่า 5.00 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน

 

 

“รายงานดัชนีความสุขดังกล่าวจะถือเป็นการให้ข้อมูลแก่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานลาออกหรือยังคงอยู่ในองค์กร ไปจนถึงนโยบายและการพัฒนาระบบต่างๆ ที่องค์กรสามารถกำหนดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ดียิ่งขึ้น รายงานดังกล่าวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะที่เกี่ยวกับงานหรือปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มหรือลดความสุขในการทำงานอีกด้วย ดังนั้นด้วยข้อมูลที่มีประโยชน์นี้บริษัทต่างๆ น่าจะนำไปพัฒนาและเพิ่มระดับความสุขให้แก่พนักงานในองค์กรพนักงานที่มีความพึงพอใจและมีความผูกพันกับองค์กร”