เจมาร์ทกับอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม จากร้านขายมือถือสู่ธุรกิจการเงิน 

อนาคตเจมาร์ท จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากร้านขายมือถือสู่ธุรกิจการเงิน 

น่าสนใจว่า อาณาจักรของเจมาร์ท (Jmart) จากผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและติดตามหนี้สิน จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เพราะโลกธุรกิจที่หมุนเร็ว จนทำให้ผู้ก่อตั้งอย่างนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา นั่งคิดและทบทวนบทบาทของตัวเองว่า จากนี้ภาพของเจมาร์ทจะเป็นอย่างไร

จนได้แผนธุรกิจ 5 ปี กับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือ ผู้นำธุรกิจการเงิน

แนวความคิดนี้ย่อมไม่ธรรมดา หากแต่จะเดินไปสู่ฝั่งฝันได้หรือไม่ ย่อมต้องได้กุนซือที่มีฝีมือ ซึ่งหากไล่เรียงประวัติของผู้บริหารของเจมาร์ททั้งหมด ประกอบการการดำเนินธุรกิจของอดิศักดิ์ ก็ต้องยอมรับว่า

การที่เขาประกาศแผนการดำเนินงานในปีนี้ ซึ่งเป็นเฟส 3 แล้วกับผลงานการเติบโตราว 30% เป็นใครก็ต้องยกนิ้วให้

รากฐานของเจมาร์ท ตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกยี่ห้อในระบบเงินผ่อน

ต่อมาในปี 2535 เจมาร์ทได้จัดตั้งบริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัดขึ้น เพื่อดำเนินการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านระบบเงินสด ระบบผ่อนชำระ และระบบขายส่ง

และจัดตั้งบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจขายมือถือและติดตามหนี้สิน เจมาร์ทก็ได้เดินหน้าขยายการให้บริการไปยังธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อทำธุรกิจแบบครบวงจร

จนปัจจุบัน เจมาร์ท มีธุรกิจในเครือ 6 บริษัท แตกแขนงขยายบริการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า อาทิ

  • บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง
  • บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ให้บริการสินเชื่อลิสซิ่งและสินเชื่อรายย่อย
  • บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า และพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อลิสซิ่งและสินเชื่อรายย่อย
  • บริษัท เจ แคปปิตอล จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน
  • บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเชิงพาณิชย์

การมีบริษัทในเครือทั้ง 6 แห่ง ถามว่า บริษัทไหนดำเนินกิจการได้ดีในยุคที่ดิจิตอลกำลังเปลี่ยนแปลงทุกๆ ธุรกิจ

น่าแปลกใจว่า รายได้หลักของเจมาร์ท มาจากเจมาร์ท โมบาย รองลงมาคือ เจเอ็มที, เจเอเอส,ซิงเกอร์และ ฟินเทค ตามลำดับ โดยที่เจมาร์ทมีการเติบโตถึง 31 % ในปีที่ผ่านมา

ส่วนในปีนี้ 2561 เจ มาร์ท ตั้งเป้าเติบโต 30 % เพื่อตอกย้ำความเป็นธุรกิจการเงิน

ธุรกิจก้าวต่อไปของเจมาร์ทในสกุลเงินดิจิทัล

แต่สิ่งที่สร้างความน่าสนใจและน่าจับตามองของเจมาร์ท คือ ตัวเองจะระดมทุนด้วยการออกสกุลเงินดิจิทัล โทเคน JFin Coin (initial coin offeringหรือ ICO ) เป็นครั้งแรกในเมืองไทย

ด้วยจำนวน Coin ทั้งสิ้น 300 ล้านเหรียญ โดยเฟสแรกเสนอขาย 100 ล้านเหรียญที่ราคา 0.20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหน่วย

นั่นหมายความว่า เจมาร์ทจะมีเงินเข้ากระเป๋า 660 ล้านบาท และพร้อมจะออกสกุลดิจิตอลต่อไป เพื่อให้ลูกค้านำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าบริการต่างๆ ภายในธุรกิจกลุ่มเจมาร์ท

วิธีคิดนี้ เจมาร์ทกำลังสร้างระบบนิเวศของตัวเองให้ครบวงจร และก็ต้องยอมรับว่า เป็นแนวคิดที่บริหารการจัดการไปกับสถานการณ์ได้ดีเลยทีเดียว

หมายความว่า หาก JFin Coin ได้รับความนิยมเหมือนกับสกุลเงินอื่นๆ ผู้บริหารบอกแต่ไม่หมดว่า จะนำเงินไปต่อยอดในบริการอื่นๆ ต่อไป

ขณะเดียวกัน หากมูลค่าเงินสกุลนี้เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า สกุลเงินนี้จะมีเสน่ห์ขึ้นมาเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับราคาหุ้นของเจมาร์ทในกระดานหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกัน

มิติใหม่ ที่มีลูกเล่นใหม่ ชัดเจนว่า อนาคตเจมาร์ท จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป