Insurance Transformation of The New Chapter

Insurance Transformation of The New Chapter

Insurance Transformation

ปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัย นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากข้อมูลมิวนิค รี ระบุว่า ในปี 2016ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยทั่วโลกอยู่ที่ 4.18 ล้านล้านยูโร และคาดว่าในปี 2018 จะเพิ่มเป็น 4.56 ล้านล้านยูโร ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นจากปี 2016 ประมาณ 2.9% ในปี 2017 และ 3.1% ในปี 2018

แน่นอนว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ จะเป็นกลไกการเติบโตที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการประกันชีวิตในตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูง เนื่องจากฐานลูกค้าหรือการถือครองกรมธรรม์ยังอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยขยายตัวในอัตราเร่งนั่นก็คือ แนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย หรือ InsurTech ที่จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเทคโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าบริการทางการเงินตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บางประเทศก้าวไปสู่สังคมไม่พกเงินสด หรือ Cashless Society ไปแล้ว

ทั้งนี้ กระแสการตื่นตัวด้าน InsurTech ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากผลสำรวจในหัวข้อ World Insurance Report 2016 ของ Capgemini ที่ทำการศึกษาลูกค้ากว่า 15,000 ราย ใน 30 ประเทศทั่วโลก พบว่า ธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า Gen Y ได้ โดยกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ทั่วโลกเพียง 33.9% เท่านั้น ที่ยังชื่นชอบการทำประกันกับบริษัทประกันภัยแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ผลสำรวจ “Embracing Possibility, Boosting Innovation” ของ PwC ในปีที่ผ่านมา ยังพบว่า ธุรกิจประกันภัยจะเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีมากที่สุด ขณะที่ซีอีโอในกลุ่มธุรกิจประกันภัยมีความกังวลต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ และในกลุ่มซีอีโอธุรกิจประกันภัยมีสัดส่วนถึง 67% ที่เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี โดยมองว่า ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ (Creativity and Innovation) จะเข้ามีความสำคัญมากที่สุดต่อการประกอบธุรกิจในอนาคต

อีกหนึ่งตัวชี้วัดว่า InsurTech จะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมประกันภัยเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ก็คือเม็ดเงินลงทุนใน InsurTech มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ CB Insights พบว่า ในปี 2559 มีเม็ดเงินในการลงทุน InsurTech ของสตาร์ทอัพทั่วโลกสูงถึง 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 42% จากปีก่อน โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศผู้นำการแจ้งเกิดของเหล่าสตาร์ทอัพ InsurTech สูงที่สุด ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด InsurTech ในอีก 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2559-2563) จะอยู่ที่ 10.4% ต่อปี

สำหรับเทคโนโลยี InsurTech ที่จะเข้ามามีบทบาทและพลิกโฉมการอุตสาหกรรมประกันภัย ในอนาคตอันใกล้นี้ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Robo-Advice (หุ่นยนต์ให้คำแนะนำ) ที่สามารถให้คำปรึกษาและวิเคราะห์รูปแบบของประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงคำนวณเบี้ยประกันภัย และจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับลูกค้าประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญสามารถให้คำแนะนำและขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์

และเมื่อย้อนกลับมามองอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทย แม้ว่าในขณะนี้ InsurTech ยังไม่บทบาทต่ออุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยมากนัก หากเทียบกับฝั่ง FinTech เพราะยังพบเพียงการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ และเพิ่มช่องทางในการให้บริการเท่านั้น

ตัวอย่าง InsurTech ในไทยที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี เช่น Claim Di ซึ่งอยู่ในหมวดการอำนวยความสะดวกในการเคลมสินไหมรถยนต์ผ่านโมบาย แอพพลิเคชัน ขณะที่ DirectAsia, Roojai และ Frank เป็นช่องทางขายประกัยภัยออนไลน์ และการประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ ที่เปิด-ปิดได้ จ่ายตามการใช้งาน (Pay as you go) ของบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์
ถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็นการพัฒนา InsurTech มากนักในประเทศ แต่ผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ต่างตื่นตัวกับกระแสไม่น้อย เห็นได้จากเกือบทุกบริษัทต่างประกาศนโยบายและความพร้อมที่จะเป็น Digital Insurer กันอย่างเต็มที่

ขณะที่บางแห่งเริ่มตั้ง Business Unit ขึ้นมาดูแลด้าน InsurTech อย่างจริงจัง อาทิ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ที่ตั้ง Fuchsia Innovation Centreเมื่อช่วงต้นปี โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้าง Culture และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กร ขณะที่อีกหลายบริษัทประกาศพร้อมสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพที่มีไอเดียดี ๆ

ส่วนทางด้านหน่วยงานกำกับ อย่างคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็เตรียมพร้อมรับมือกับกระแส InsurTech เช่นเดียวกัน ทั้งการกำหนดทิศทางหลักที่จะขับเคลื่อนสำนักงาน คปภ. ยุคดิจิทัลตามแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 (ปี2560-2564) และล่าสุดการออกร่างกฎหมายกำกับดูแลการซื้อขายประกันผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะที่มีผลในเดือนสิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ InsurTech ในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะเห็นรูปแบบบริการใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมประกันภัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันของตลาดโลก และการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยเทคโนโลยี AI และ Robotic จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัยหลังจากนี้