ประกันภัย

ปี 2560 คนไทยยังนิยมซื้อประกันผ่านตัวแทนฯ

ปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธุรกิจประกันชีวิต แต่ยังคงเติบโตจากปีก่อนอยู่ที่ 5.89 แม้จะต่ำกว่าที่สมาคมประกันชีวิตไทยเคยประเมินไว้เล็กน้อย จากที่เคยคาดว่าธุรกิจจะเติบโตในระดับ 6% แต่ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ และหากเทียบความนิยมในการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังครองแชมป์ ด้วยสัดส่วน 49.2%

สมาคมประกันชีวิตไทย สรุปตัวเลขสำคัญของธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2560 ว่า ยังคงมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 601,724.69 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 5.89% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นเบี้ยรับใหม่ 167,824 ล้าน (New Business Premium) และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 433,900.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) อยู่ที่ 3.89%

ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายนั้น ตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางหลักและช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดย ณ สิ้นปี 2560 มีสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49.20% ด้วยเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวน 296,046.92 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.08%

ส่วนอันดับสอง ตามมาติดๆ คือ ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) ซึ่งขยับสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ 44.90% มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 270,183.40 ล้านบาท เติบโตอย่างมากถึง 9.17%

ส่วนอันดับสาม ช่องทางการจำหน่ายผ่านการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.45% ด้วยเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,752.34 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.78

ส่วนช่องทางที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คือ ช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ (Other) ที่มีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 3.45% ด้วยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 20,743.37 ล้านบาท เติบโตถึง 11.03 ซึ่งอัตราการเติบโตของช่องทางนี้ คาดว่า จะมาจากการขยายตัวของการขายผ่านช่องดิจิทัล ทั้งผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ที่เติบโตตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ด้วยตัวเองมากขึ้นนั่นเอง

ขณะที่ นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ให้มุมมองถึงแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 ว่า ทางสมาคมฯ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ระหว่าง 4-6% โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากเศรษฐกิจของประเทศที่จะขยายตัวดีขึ้นจากประมาณการณ์ที่ 3.6-4.6% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว และแรงขับเคลื่อนภายในประเทศจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการบริโภคของภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนดีขึ้นส่งผลให้มีการกระจายรายได้ ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐที่ให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดที่ 100,000 บาท ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการประเมินว่าในปี 2561 นี้ เบี้ยประกันสุขภาพจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยบวก ที่จะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2018 แต่ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ (IFRS 9) จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2562 หรือ ในอีก 1 ปีข้างหน้า แต่จำเป็นจะต้องเริ่มเตรียมและจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ตารางมรณะ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และ Market Conduct หรือ กำกับดูแลพฤติกรรมการตลาดของบริษัทประกันชีวิต

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตทั้งสิ้น ทำให้ปี 2560นี้ทางสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ประเมินตัวเลขอัตราการเติบโตของธุรกิจเป็นแบบ Range โดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 4-6% หรือคิดเป็นเบี้ยรับรวมอยู่ระหว่าง 625,800 – 637,800 ล้านบาท แน่นอนว่า ในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตเติบโตตาม GDP ของประเทศ หากเศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ต่ำกว่าระดับ 4% เชื่อว่า ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตได้อย่างสวยงามเช่นเดียวกัน

10 อันดับบริษัทประกันชีวิต ปี 2017

                                                                     เบี้ยรับรวม                       ส่วนแบ่งตลาด(%)
1. เอไอเอ                                           126,283.50                            20.99
2. เมืองไทยฯ                                     102,681.37                            17.06
3. ไทยประกันฯ                                   82,526.86                            13.72
4. กรุงไทย-แอกซ่าฯ                          63,370.60                            10.53
5. ไทยพาณิชย์ฯ                                 49,535.14                               8.23
6. กรุงเทพฯ                                        44,039.21                               7.32
7. อลิอันซ์ อยุธยา                               32,170.52                               5.35
8. เอฟดับบลิวดี                                  23,198.31                                3.86
9. พรูเด็นเชี่ยล                                    21,550.45                               3.58
10. ไทยสมุทร                                      12,700.70                               2.11

หน่วย : ล้านบาท
ที่มา : สมาคมประกันชีวิตไทย