HORECA SQUARE สนามธุรกิจใหม่ของ TCC Group

กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ TCC Group กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ประกอบไปด้วยสายธุรกิจที่สำคัญ 5 สาย คือสายธุรกิจเครื่องดื่ม สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า สายธุรกิจประกันและการเงิน รวมถึงสายธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ซึ่งสายธุรกิจที่กำลังถูกพูดถึงและจับตามองคือกลุ่มสินทรัพย์ใหม่ อันประกอบไปด้วยธุรกิจดิจิทัลและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเจริญ ได้วางตัว ปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายคนเล็กให้เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่

ล่าสุด ปณต ได้ผุดโปรเจ็กต์พิสูจน์ฝีมือกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ โดยจับพื้นที่ชั้น 3-5 ตึก CW Tower มาปั้นธุรกิจตัวใหม่ HORECA SQUARE@CW TOWER ศูนย์ค้าส่งสินค้าและบริการในกลุ่ม HORECA ร้านอาหาร (HO-tel) ร้านกาแฟ (RE-staurant) และธุรกิจจัดเลี้ยง (CA-fe) รองรับตลาดโรงแรมระดับ 2-4 ดาว นัยหนึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการต่อยอดและสนับสนุนธุรกิจในเครือ TCC Group อีกทางหนึ่ง

horecasquare

พลิกโฉม Office Building สู่ศูนย์ค้าส่ง HORECA แห่งแรกในเมืองไทย

ย้อนกลับไปในปี 2548 บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ทุ่มงบกว่า 1,300 ล้านบาท ซื้ออาคาร รัชดาสแควร์ ทาวเวอร์ เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์และสำนักงานออฟฟิศ โดยใช้ชื่อโครงการชั่วคราวว่า “รัชดา ไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์” โดยครั้งนี้เจริญได้เทงบประมาณปรับปรุงอาคาร รวมราคาที่ดินทั้งสิ้นกว่า 4 พันล้านบาท แต่ก็เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ต้องหยุดชะงักไป

กระทั่ง ปณต เข้ามาดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคาร “รัชดา ไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์” พื้นที่ใช้สอย 60,000 ตารางเมตร จึงถูกนำมาปัดฝุ่นและแต่งตัวใหม่อีกครั้ง เป็น “CW TOWER” เพื่อใช้เป็นสำนักงานออฟฟิศให้เช่า โดยใช้งบในการรีแบรนด์ครั้งนี้มากถึง 350 ล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมอาคารแห่งนี้ไปโดยสิ้นเชิง

โดยพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ถูกปรับปรุงและใช้เป็นสำนักงานให้เช่า นั่นหมายความว่า ตึก CW Tower ยังถูกใช้งานอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเหลือพื้นที่อีกว่า 20,000 ตารางเมตร ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์

ประจวบเหมาะกับที่ ปณต กำลังมองหาธุรกิจใหม่เพื่อเข้ามาเสริมพอร์ตในกลุ่มสินทรัพย์ใหม่ ภายใต้ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ที่ตนดูแลอยู่ ซึ่ง ปณต ได้เทน้ำหนักไปที่ธุรกิจต่อเนื่องกับกลุ่ม HORECA นำมาสู่การเปิดตัว HORECA SQUARE@CW TOWER ศูนย์การค้า B2B สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอรี่ บริการจัดเลี้ยง บริการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ธุรกิจ และสร้างเครือข่ายพันธมิตร HORECA ครบวงจรเจ้าแรกในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน

และเพื่อปั้นให้ธุรกิจ HORECA แจ้งเกิดให้ได้ ทีมบริหารนับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งโปรเจ็กต์นี้มี ปณต เป็นหัวเรือใหญ่ และได้มือดีอย่าง มารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้สร้างตำนานบทใหม่ให้กับโออิชิเข้ามาช่วยกำกับดูแล นอกจากนี้ยังได้วางตัวมือดีอีก 2 คน เข้ามาเสริมทัพนั่นคือ พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล ซึ่งเดิมดูแลตึก CW Tower เข้ามาควบตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด หรือ เอเชีย โฮเรก้า และ ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ มานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ เอเชีย โฮเรก้า โดยมีภารกิจสำคัญคือผลักดันให้ HORECA SQUARE แจ้งเกิดให้ได้

ทั้งนี้ ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ กล่าวว่า HORECA SQUARE เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ที่มุ่งเน้นในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจจัดเลี้ยง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า HORECA แบบครบวงจร ซึ่งการเปิดตัว HORECA SQUARE ในครั้งนี้ จะทำให้พื้นที่ย่านรัชดาภิเษก กลายเป็นแลนด์มาร์กระดับอาเซียนและเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่จะดึงดูดผู้ประกอบการจากต่างชาติเข้ามาเจรจาธุรกิจการค้า และเป็นเวทีกลางที่จะนำสินค้าและบริการจากผู้ประกอบไทยสู่เวทีโลก รวมทั้งผลักดันให้กรุงเทพฯ และประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อธุรกิจจากไทยไปยังกลุ่มอาเซียน และสามารถเติบโตไปสู่ระดับเอเชียต่อไป

“ความคาดหวังของ HORECA SQUARE@CW TOWER คือเป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ HORECA ทั้งในประเทศและประเทศในแถบอาเซียน อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ HORECA ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดที่สำคัญคือการเสริมสร้างความมั่นคงภาคธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน เช่น โครงการ ซี-อาเซียน (C-ASEAN) โครงการ ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ และโครงการ เดอะ สตรีท รัชดา”

horecasquare

ภารกิจแจ้งเกิด HORECA SQUARE

แน่นอนว่าการสร้างศูนย์การค้าใน Office Building เป็นเรื่องยากและท้าทายอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่การทำธุรกิจในลักษณะนี้มักจะไม่ซัคเซส โดยเฉพาะศูนย์การค้าแบบรีเทลซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เข้ากันระหว่างตัวรีเทลและออฟฟิศ ดังนั้น กลุ่มทีซีซี แอสเซ็ทส์ จึงตั้งธงในการทำศูนย์การค้าเฉพาะทางและเป็นไปในลักษณะของ B2B ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ศูนย์นี้ไม่ต้องการคนเยอะ แต่ต้องการคนที่ใช่” รวมทั้งการผลักดันส่วนของพลาซ่านี้ให้กลายเป็นค้าส่ง HORECA ในขณะที่ด้านบนคงความ Office Building เช่นเดิม

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ฉายภาพที่มาของธุรกิจใหม่นี้ว่า กลุ่มธุรกิจ HORECA เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล สอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ที่เป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 2.51 ล้านล้านบาท มาจากธุรกิจโรงแรมและที่พักราว 5.8 แสนล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 4.48 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มีอนาคตสดใส กลุ่มนักท่องเที่ยวอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ภาพรวมธุรกิจ HORECA มีแนวโน้มรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงเกินกว่า 1.96 ล้านล้านบาท จากที่คาดการณ์ไว้หรืออาจมากถึง 2 ล้านล้านบาท

และเพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ HORECA ผู้บริหารได้อนุมัติงบเพิ่มกว่า 200 ล้านบาท ในการรีโนเวตบริเวณชั้น3-5 ตึก CW Tower พื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร ให้กลายเป็น HORECA SQUARE ศูนย์ค้าส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ โดยแบ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ โรงแรม 30% ร้านอาหาร 40% และร้านกาแฟ 30% ครอบคลุมร้านค้าทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 14 หมวดหมู่หลัก ที่เกี่ยวข้องคือ 1. Bedding & Furniture 2. Porcelain & Glassware 3. Coffee & Bakery 4. Electronic & Appliance 5. Cooking School 6. Amenity 7. Lighting 8. Hotel Supply 9. Utensil 10. Packaging 11. Software & POS 12. Consultant 13. Kitchen Equipment และ 14. Uniform

horecasquare

“การที่จะผลักดันให้ธุรกิจใหม่นี้ให้เกิด HORECA SQUARE จะต้องไม่ใช่แค่พื้นที่ขายของเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือเซอร์วิส โดย HORECA SQAURE ต้องทำหน้าที่ให้บริการครบวงจรหรือ Total Solution ผ่านแนวคิดหลักคือ “ครบ คุ้ม คุณภาพ และไว้วางใจได้” ผ่าน 3 โซลูชันหลักคือ

1. จัดหาและจัดสรรสินค้าและบริการ ที่มีความหลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่ม เป็นเวทีการค้าของผู้ซื้อและผู้ขายที่ครบวงจรที่สุด ให้บริการทั้งในกลุ่ม Hardware หรือสินค้า เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ และ Software หรือบริการออกแบบ ระบบโปรแกรม และอื่น ๆ

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ (HORECA Business Center) ให้บริการการอบรมเชิงวิชาการ เช่น หลักสูตรการบริหารการเงิน การบัญชี การส่งเสริมการตลาดและอื่น ๆ และการอบรมเชิงปฏิบัติ เช่น หลักสูตรการตกแต่งอาหาร การออกแบบเมนูอาหาร การทำอาหาร และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ HORECA สามารถพัฒนาและต่อยอดสินค้าและบริการให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

3. บริการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ (HORECA Community) ภายใต้แนวคิด ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุน โดยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการระดับ Premium SMEs เพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในธุรกิจ HORECA มากยิ่งขึ้น

และเพื่อดันให้ HORECA SQUARE เกิดให้ได้ ซึ่งโจทย์แรกที่พงษ์ศักดิ์มองคือทำอย่างไรให้ผู้เช่าที่เข้ามาอยู่ได้ ดังนั้นการคิดเรทค่าเช่าจึงต่างจากพลาซ่าทั่วไป โดยในช่วง 2-3 ปีแรก จะใช้เรทค่าเช่า 2 แบบคือ 1. ใช้เรทเดียวกับ Office Building ที่ 700 บาท/ตารางเมตร สามารถเปิดร้านได้ถึง 2 ทุ่ม และอีกหนึ่งวิธีคือการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายในเรทที่ต่ำมาก เมื่อธุรกิจอยู่ได้และมีกำไรมากขึ้น HORECA SQUARE จะได้ส่วนแบ่งจากยอดขายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ในช่วงแรก ๆ พงษ์ศักดิ์ยอมรับว่าต้องนำกำไรจาก Office Building มาช่วยซัพพอร์ตส่วนของพลาซ่า เพราะหากพลาซ่าอยู่ได้ Office Building ก็อยู่ได้เช่นกัน ซึ่งเดิมตึกนี้เป็นตึกเก่ามีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 2 แสนตารางเมตร แต่สามารถใช้งานได้จริงและสามารถปล่อยเช่าได้เพียง 60,000 ตารางเมตร และส่วนหนึ่งของพลาซ่าต้องเซอร์วิส Office Building ด้วย ทั้งธนาคาร ศูนย์อาหาร ศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ C-ASEAN ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และศูนย์ออกกำลังกาย ซึ่งพื้นที่หลังรีโนเวตมีการขายเช่าไปแล้วกว่า 85%

 *การทำธุรกิจในช่วงปีแรก 2 ปีแรก อย่างหวังกำไรมาก ถ้าเขาอยู่ได้ ตอนหลังเราก็สบาย *

“จุดเด่นของ HORECA SQUARE หลัก ๆ ที่มองเห็นคือไม่มีคู่แข่ง เพราะเราเป็น B2B เราขายล็อตใหญ่เท่านั้น รายย่อยเราไม่ขาย สินค้าเราต่างจากที่อื่นคือมีความพรีเมียมกว่า และเราไม่ใช่แค่ขายของแต่เราให้ทั้งความรู้ ขณะเดียวกันยังมีศูนย์สร้างเครือข่าย HORECA COMMUNITY ซึ่งต่อไปจะกลายเป็น Co-Working Space ที่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ HORECA มาใช้เป็นสถานที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดพูดคุยธุรกิจระหว่าง SMEs หรือ Startup ด้วยกัน ขณะเดียวกันก็มีการแมชชิ่งธุรกิจในห้องนี้ด้วย เราเชื่อว่าเราปักธงในธุรกิจนี้ก่อน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วคนจะมารวมกันที่นี่ แต่ตอนนี้ต้องขอเวลาปั้นที่นี่ให้ได้ก่อน”

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่า HORECA SQUARE เกิดขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตธุรกิจในเครือ TCC ที่มีธุรกิจร้านอาหารและเชนโรงแรมหลายแห่งนั้น พงษ์ศักดิ์ไขข้อข้องใจนี้ว่า การที่มีในเครือมีธุรกิจที่ต่อเนื่องกับ HORECA ไม่ได้ทำให้เกิดความได้เปรียบมากเท่าไหร่นัก แม้ว่าจะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันและขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้บริษัทในเครือสั่งซื้อสินค้าจาก HORECA SQUARE ได้ หากสเปกของและราคาแข่งขันในตลาดไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจ 5 ดาว ซึ่งมีการเจาะจงคุณภาพและแบรนด์สินค้าอยู่แล้ว สิ่งที่ได้เปรียบเพียงอย่างเดียวเป็นหนึ่งในลิสต์รายชื่อที่ฝ่ายจัดซื้อจะพิจารณาเท่านั้น

horecasquare

3 กลไกขับเคลื่อน HORECA SQUARE

ทางด้าน ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด เปิดเผยว่า การบริหารศูนย์ค้าส่ง HORECA SQUARE จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไป โดยนำแนวคิดตลาดงานแสดงสินค้าแบบ B2B มาปรับใช้ ผ่านธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่

1) บริหารศูนย์ค้าส่ง HORECA SQUARE@CW TOWER โดยมีภารกิจหลักคือการหาลูกค้าเข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้ภายใต้แนวคิด ไม่ต้องการคนที่เยอะ แต่ต้องการคนที่ใช่ งานหลักคือการมองหาลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก
2) บริหารจัดงานแสดงสินค้าและบริการ HORECA ASIA เจาะกลุ่ม SME Plus และ Startup เพราะกลุ่มนี้ไม่มีแพลตฟร์อมที่จะมาเชื่อมต่อและซัพพอร์ตธุรกิจ โดยจะจัดงานเอ็กซ์โปรระดับนานาชาติเป็นประจำทุก 2 ปี
3) บริหารระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับกลุ่มโฮเรก้า (HORECA ECOMMERCE) หรือการสร้างเครือข่ายและแพลตฟอร์มการขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีหน้า

“ทั้ง 3 ธุรกิจที่จะขับเคลื่อน HORECA SQUARE นี้เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน ผู้ค้าจะอยู่กับเราได้ทั้ง 3 โซลูชัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคง นั่นหมายความว่าทีมงานต้องทำงานทั้ง 3 ส่วน ในเวลาเดียวกันหน้าที่หลักคือไปเอาลูกค้าเข้ามา ทั้งจากกรุงเทพและปริมณฑล เรายอมรับว่าเราไม่ได้ขายของถูกแต่เราขายของคุณภาพในราคาที่พอสมควร นี่คือบริบทของเอเชีย HORECA”

และอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญคือการพัฒนาธุรกิจในส่วนของ บริษัท อินเตอร์ โฮเรก้า จำกัด หรือ อินเตอร์ โฮเรก้า ซึ่งจัดแสดงตัวอย่างสินค้าอยู่บริเวณชั้น 5 ของ HORECA SQAURE@CW TOWER และให้บริการรับสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการของลูกค้า โดยมีจุดแข็งอยู่ที่พันธมิตรคู่ค้าจากผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศหลายแหล่ง ทั้งจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ทำให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้หลากหลายรูปแบบในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังมีไฮไลต์อยู่ที่บริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมปรึกษาและปรับแนวทางธุรกิจภายใต้เงินทุนที่ลูกค้ามี รวมทั้งคอร์สอบรมธุรกิจในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมถึง Cooking Studio คอร์สสอนทำอาหารสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการไอเดีย

“อยากให้คนจดจำเราในเรื่องของกูรู HORECA ของฟรีไม่มีถูก ของดีไม่มีถูก เราอยากให้ที่นี่เป็น Knowledge Based สำหรับ Startup และ SMEs ที่ยังไม่มีไอเดียหรือพื้นฐานธุรกิจ มาเรียนรู้ มาสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะนำมาสู่การซื้อขายในที่สุด ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือเราจะตั้งใจที่จะปั้นตรงนี้ให้กลายเป็น HUB ของอาเซียนให้ได้”

horecasquare

ติดปีก HORECA สู่ HUB of ASEAN

หลังจากปักหมุดการเป็นเจ้าแรกของศูนย์ค้าส่ง HORECA แห่งแรกของเมืองไทยได้แล้ว สเต็ปต่อไปที่ผู้บริหารมองไว้คือการผลักดันให้ศูนย์แห่งนี้ กลายเป็น HORECA HUB ของอาเซียนให้ได้ ซึ่งภารกิจหลักของทีมอินเตอร์ HORECA คือการนำผู้ประกอบการเป้าหมายในกลุ่มอาเซียน อาทิ พม่า กัมพูชา เวียดนาม เข้ามาเยี่ยมชมเลือกซื้อสินค้าและบริการคุณภาพและเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการในประเทศ ณ ศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ ผ่านการประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ ควบคู่กับการจัดงานเอ็กซ์โปรที่จะจัดขึ้นทุก 2 ปี รวมทั้งกิจกรรมโรดโชว์และความร่วมมือทางการตลาดจากภาครัฐและเอกชน

โดยในปีแรก HORECA SQAURE ตั้งเป้าสร้างเงินหมุนเวียนภายในศูนย์การค้าประมาณ 600 ล้านบาท และขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs และ Startup ให้มีการเติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 10% ขณะที่บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 182.5 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วง 3 ปีแรกจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% จากนั้นมีแผนจะนำรูปแบบธุรกิจขยายไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มนำผู้ประกอบการไปเปิดตลาดในประเทศพม่าก่อนเป็นระดับแรกในช่วงต้นปี 2560

นับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจสินทรัพย์ใหม่ของเครือ TCC Group ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะความได้เปรียบในการปักหมุดเป็นเจ้าแรกของธุรกิจค้าส่ง HORECA ย่อมส่งผลที่ดีต่อธุรกิจแน่นอน ส่วนสำเร็จตามความคาดหวังที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ คงต้องให้เวลาทีมบริหารพิสูจน์ฝีมือกันสักระยะ