Challenges to gender equality: ปลุก ‘พลัง’ ความเสมอภาคทางเพศ

หลายครั้งเราเคยได้ยินข่าวการถูกบังคับให้แต่งงานของเด็กสาวตั้งแต่วัยเยาว์ หรือแม้กระทั่งข่าวล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น วันนี้มาทำความรู้จักหญิงสาวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมบอกกับเราว่า ‘เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร’ และกุญแจสำคัญที่ทำให้ ‘ฝันร้าย’ ไม่เกิดขึ้นอีก

 

a voice to the voiceless ‘เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน’

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ซูดาน ประเทศที่มีกฎหมายยอมให้เด็กสาวซึ่งมีอายุ 10 ปี สามารถแต่งงานได้ จากการที่ Noura Hussein เด็กสาววัย 19 ปี ถูกศาลสั่งประหารชีวิตหลังจากที่เธอฆ่าสามีของตนเอง หลังจากที่สามีพยายามข่มขืนเธอ โดยได้รับการลงโทษร้ายแรงที่สุด เพราะตามกฎหมายการถูกข่มขืนจากสามีไม่ผิดในซูดาน ส่งผลให้หลายคนเกิดการต่อต้านโทษประหารชีวิต

 

ก่อให้เกิดแฮชแท็ก #JusticeForNoura ในเวลาต่อมา

 

อีกกรณีหนึ่ง คือ Amal (นามสมมุติ) วัย 11 ปี ซึ่งพยายามหย่าร้างกับสามีวัย 38 ปี จากการที่เธอถูกสามีทารุณกรรมทุกวันหลังจากแต่งงาน โดยที่มือของเขายังถือบุหรี่อยู่ด้วยซ้ำ

 

“เขาปฏิบัติกับฉันอย่างน่ากลัว” เธอกล่าว โดย Amal พยามหนีกลับบ้านถึง 2 ครั้ง แต่ถูกพ่อของตนเองส่งตัวกลับไปทุกครั้ง

“กล้าหาญเข้าไว้” โดย Amal ส่งต่อคำพูดซึ่งเป็นพลังให้เดินต่อไปข้างหน้าสำหรับตัวเอง และบุคคลที่ได้อ่านเรื่องราวของเธอ

 

Power

 

ทั้งนี้ พ่อแม่ในประเทศซูดานจำนวนมากต้องการหลีกเลี่ยงความยากจน และความอับอาย โดยมีความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานนั้นเป็น ‘ผู้ที่มีบุตรยาก’ ความเชื่อดังกล่าว กลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น

 

การแก้ปัญหาดังกล่าวของซูดานต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ในปี 2015 รัฐบาลซูดานพยายามในการล้มเลิกกฎหมายแต่งงานในวัยเด็ก หากแต่ยังคงไม่เป็นผลเท่าที่ควร ส่งผลให้เด็กสาวแบบ Amal และ Noura ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ไขกุญแจความสำเร็จ

 

1. ปลูกบ้านให้น่าอยู่

 

‘บ้าน’ เปรียบเสมือนโลกของเด็ก จึงต้องเริ่มจากครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้การปลูกฝังความเท่าเทียมกับทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องสอนกันตั้งแต่วัยเยาว์ และพ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก ดังนั้น การแสดงออกอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่ผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

 

2. โอกาสของผู้หญิงในโลกบริหาร

 

ปัจจุบันจะเห็นว่า ผู้หญิงเริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น จึงสามารถเห็นผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มมากตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่เยอะมากเท่าไหร่นัก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้จำกัดตำแหน่งงานได้เช่นกัน โดยผู้ชายมักจะมีแนวโน้มในการถูกเลื่อนตำแหน่งได้มากกว่า ทั้งนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีรายได้น้อยกว่า รวมถึงบทบาทในตำแหน่งอาวุโสลดน้อยลง และบทบาทในบ้านกลับเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ดังนั้น การเปิดโอกาสทางสังคมให้แก่ทุกเพศ เป็นสิ่งที่สร้างความเสมอภาค และลดบทบาทสำคัญต่อเพศใดเพศหนึ่ง เพื่อสร้างจุดยืนให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม

 

3. ลดการแบ่งแยกอาชีพ

 

ผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มที่จะถูกแบ่งแยกอาชีพตามอุตสาหกรรม และประเภทของงาน โดยผู้หญิงมักจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานบริการหรือวิชาชีพ จึงไม่ค่อยพบเห็นผู้หญิงเติบโตในสายงานวิศกรรม และเมื่ออยู่ในอาชีพดังกล่าว แม้ว่าจะเริ่มต้นอาชีพในบทบาทนั้น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะไปสู่บทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนความคืบหน้าของงานมากกว่าผู้ชายที่เป็นฝ่ายผู้นำ

 

บทสรุป

 

อย่างไรก็ตาม การถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหญิง เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งนี้ไม่ควรโทษสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายล่อแหลม หรือแม้กระทั่งอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงในช่วงเวลากลางคืนก็ตาม ดังนั้น การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่ปลูกฝังความเชื่อที่ผิดจนกลายเป็น ‘วัฒนธรรมอันเลวร้าย’ ช่วยสร้างโลกอันน่าอยู่ให้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป