DITP จัดBangkok Gems and Jewelry Fair ดันไทยสู่ Jewelry Hub

ในปี 2560 ที่ผ่านมา อัญมณีและเครื่องประดับไทยนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 รองจากยานยนต์ และคอมพิวเตอร์

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ของปี 2561 ยังขยายตัวถึงร้อยละ 7.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและกรมมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะยังสดใสต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า การท่องเที่ยว การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก หรือที่เรียกกันว่า Jewelry Hub ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผล

 

โดยหนึ่งในช่องทางการตลาดสำคัญของอุตสาหกรรม ก็คืองาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) : (ดีไอทีพี) เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดใหญ่และผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศได้เจรจาการค้า พบปะกับพันธมิตรจากทั้ง ในประเทศและนานาประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักออกแบบหน้าใหม่ได้แสดงศักยภาพผ่านผลงานเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สู่สายตาของผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายจากทั่วโลก

ซึ่งงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ได้รับผลตอบรับที่ดีโดยมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยงาน ครั้งนี้ จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Heritage & Craftsmanship” ชูฝีมือช่างศิลป์ไทยที่ผสมผสานความงดงามแบบไทยเข้ากับความต้องการของผู้บริโภคระดับอินเตอร์ได้อย่างลงตัว

 

ภายในงาน เต็มไปด้วยกิจกรรมและนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจ และนำเสนอโอกาสทางการค้าใหม่ๆ อาทิ นิทรรศการ The Niche Showcase นำเสนอเครื่องประดับเจาะ 5 ตลาดเฉพาะกลุ่ม นิทรรศการ The New Faces แสดงสินค้าเครื่องประดับจากผู้ประกอบการ SMEs ไทยชั้นยอดจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทยถึง 150 ราย

นิทรรศการ The Jewellers แสดงสินค้า จากกลุ่มดีไซเนอร์ที่มีผลงานออกแบบสร้างสรรค์และนวัตกรรมสินค้าจากโครงการพัฒนานักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก และนิทรรศการ Creative Jewelry ที่นำผลงานของ 40 แบรนด์ที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมพัฒนาสินค้ากับผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับจนออกมาเป็นชิ้นงานที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีเรื่องราว (story) มีลูกเล่นที่แปลกใหม่ รวมทั้งการออกแบบและการนำวัสดุชนิดใหม่ๆ ที่หลากหลายมาใช้ร่วมกันอย่างน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตกระบวนการต่างๆ ในการทำเครื่องประดับโดยฝีมือครูช่างที่เชี่ยวชาญที่หาชมได้ยากจากสมาคมช่างทองไทย ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นรูปพรรณ งานเป่าไข่ปลา สลักดุน งานถักเส้น 4 เสา งานทำกรอบพระ  งานขึ้นรูปพรรณ งานฝังไร้หนาม งานแกะลาย งานเจียระไน และยังมีกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้และคำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบริการตรวจสอบอัญมณีเคลื่อนที่ภายในงาน โดยสถาบัน GIT และสถาบันชั้นแนวหน้าของโลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งปี กรมมีการจัดสัมมนาและเวิร์คชอปเชิงลึก Thai Jewelry Training Series เพื่อผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ โครงการจัดทำกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม และผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

 

จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “ภายในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 62 นี้มีผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ส่งออกชั้นนำของไทยและนานาประเทศกว่า 920 ราย มาจัดแสดงสินค้ารวมกว่า 2,200 คูหา

อาทิ ฮ่องกง ตุรกี สิงคโปร์ โปแลนด์ อินเดีย อาเซียน ครอบคลุมทุกประเภทสินค้า โดยกรมคาดการณ์ว่า การจัดงานครั้งนี้จะมีนักธุรกิจและผู้ซื้อต่างชาติเข้าร่วมงานราว 20,000 คน จาก 130 ประเทศทั่วโลก
เกิดการสั่งซื้อภายในงานไม่ต่ำกว่า 2,200 ล้านบาท”