Disruption

Disruption ทำลายหรือสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ

เขียนโดย : อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท SEAC 

ในแวดวงธุรกิจที่ผ่านมาเราคงได้ยินแต่คำ “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” ที่เป็นความเชื่อที่ว่าในการทำธุรกิจปลาใหญ่เท่านั้นที่จะอยู่รอด และกินปลาเล็กได้อย่างเอร็ดอร่อย ส่วนปลาเล็กก็ต้องล้มหายตายจากกันไป  แต่ยุคนั้นได้หมดไปแล้วเพราะเราได้เข้าสู่ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” เป็นที่เรียบร้อย ภายใต้กระแส Disruption ธุรกิจที่เล็กก็สามารถโตข้ามหน้าข้ามตาธุรกิจใหญ่ ๆ มาให้เห็นกันก็มากแล้ว จนถึงขนาดธุรกิจใหญ่ ๆ องค์กรใหญ่ ๆ ปลาใหญ่ ๆ ที่เคลื่อนตัวช้ากลับล้มตายกันไป

แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้อย่างแท้จริง เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทำให้เราไม่รู้ว่าจะเตรียมรับมือกับ Disruption อย่างไรถึงจะช่วยให้ธุรกิจของเราอยู่รอดในยุคนี้ได้

ความจริงแล้วคำว่า Disruption  มีความหมายคล้ายกับคำว่า Change ในสมัยก่อน ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดในแวดวงธุรกิจ ซึ่ง Disruption ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงที่ทำให้สิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่บางสิ่งบางอย่างล้มหายตายจากไป

สำหรับ Disruption ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ด้านหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. Speed หรือความเร็ว จะเห็นได้ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอดีตนั้นจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในวันนี้ไม่ใช่แล้ว การเปลี่ยนแปลงปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. New Perspective หรือการมองมุมใหม่ เมื่อมีวิธีการมองจากคนรุ่นใหม่ ที่มาจากการศึกษาใหม่ ๆ มาจากการมองโลกใหม่ คนกลุ่มนี้จะไม่เชื่อในการมองแบบเดิม คือจะใช้เลนส์ในการมองแบบใหม่ หลายธุรกิจในปัจจุบันมีการใช้เลนส์ใหม่เช่นนี้ และทำให้เกิดผลกระทบที่แรงมหาศาลไปทั่วโลก กระจายไปในหลายด้าน องค์กรเมื่อเปลี่ยนวิธีการมองก็จะเปลี่ยนวิธีการทำงานไปด้วย
ตัวอย่างเช่น Alibaba, Zara หรือ Adidas ที่เมื่อเริ่มใช้เลนส์ใหม่ ๆ ในการมองโลกก็ทำให้ผู้นำในองค์กรหันมารื้อระบบข้างใน เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ นั่นเอง

3. การเกิดขึ้นของกลุ่ม Startup ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเดินตามแนวทางเดิมที่สังคมกำหนดมา คนที่มีความคิดแบบ Startup คือคนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่สังคมกำหนดและมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า จะทำอะไรออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิม ๆ ได้
ดิฉันเชื่อว่า ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคำว่า SMEs กับ Startup โดย SMEs นั้นจะเดินตามแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมที่โลกนี้เคยมีมา เพียงแค่ต่อยอด หรือเพิ่มเติมในธุรกิจนั้น ๆ แต่ Startup “รื้อ” สิ่งเดิมและการทำแบบเดิม ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่เปลี่ยนไป

4. Access to Information หรือการที่คนได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้นอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากรู้ผ่านแค่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต คนจึงมีความต้องการที่เปลี่ยนไปและด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ส่งผ่านกันอย่างเสรีอย่างในทุกวันนี้ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้รับว่ายังคงเป็นสิ่งที่ใช่ เป็นสิ่งที่พวกเขายังต้องการอยู่หรือเปล่า

ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการ Disruption คงหนีไม่พ้น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ เช่น UBER Eats หรือ AirBNB หรือ Amazon Go เป็นต้น

ส่วนประเทศไทย ยังคงชินกับแนวทางเดิม ๆ และยังไม่ก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างคำว่า Change หรือการเปลี่ยนแปลงกับคำว่า Disruption ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ เราจะต้องทำให้คนเข้าใจและตระหนักเรื่อง Disruption เสียก่อน ที่สำคัญคืออย่าพยายามแค่ปรับตัวกับกระแส Disruption เพราะการจะอยู่รอดในโลกธุรกิจในปัจจุบัน แค่ปรับตัวไม่เพียงพอ แต่เราต้องลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ สร้างอะไรใหม่ ๆ ออกมา ล้มกระดานเก่าไปเลย อย่ามัวเสียเวลาปรับปรุง หรือพัฒนา

เพราะ Disruption จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราคิดต่าง โดยการคิดต่างจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรายินยอมที่จะปล่อย ไม่ยึดติดกับความเชื่อ วิธีการปฏิบัติเดิม ๆ ลองเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วยังไงเราก็ต้องเปลี่ยน แต่อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเปลี่ยนก่อนหรือรอเปลี่ยนในวันที่สายเกินไป เกมนี้คุณเลือกเองได้ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้