DESIGN THINKING หนทางแก้ปัญหา และสร้างสรรค์นวัตกรรม

ช่วงหลายที่ผ่านมา “Design Thinking” ถือว่าเป็นศาสตร์วิชาหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเจ้าของธุรกิจ องค์กร ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เงินเดือน ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแนวคิด Design Thinking มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตตนเองอย่างไร

Design Thinking คือ กระบวนการคิดค้น และออกแบบนวัตกรรม ที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (Human-centered methodology) เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ รวมถึงปัญหาในชีวิตที่เราอาจกำลังเผชิญอยู่ จึงไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ

สำหรับแนวทางธุรกิจ อาจหมายถึง ความต้องการที่แม้กระทั่งผู้ใช้งานเองก็คิดไม่ถึงมาก่อน หรือไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ เนื่องจากผู้ใช้งานก็มองไม่ออกว่าจะสามารถปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการได้อย่างไร

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จึงขอยกตัวอย่าง เช่น ในสมัยก่อนเราใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลักในการเดินทาง ซึ่งคงไม่มีใครนึกถึงพาหนะที่บินได้ด้วยซ้ำ แต่หากไม่มีใครความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในขณะนั้น ณ ปัจจุบันที่เป็นอยู่ก็คงไม่มีใครคิดว่าเราจะมีเครื่องบินใช้กัน

ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า Design Thinking มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหากเรามีกระบวนการคิดดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน ก็จะส่งผลต่อตนเอง และธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด

กระบวนการคิดแบบไหน เรียกว่า “Design Thinking”

ปัจจุบันบุคคลที่มีทักษะทางด้าน ‘Design thinking’ ต่างเป็นที่หมายปองขององค์กรระดับโลก และช่วยให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจหรือหน้าที่การงานอีกด้วย

เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถสร้างไอเดียแปลกใหม่ที่ส่งผลกระทบและสามารถนำความคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง

โดย Nigel Cross นักทฤษฎีด้านการออกแบบคนสำคัญ เคยกล่าวถึงลักษณะของนักออกแบบไว้ว่าเขาเหล่านั้นมีวิธีคิดแบบ “นอกกรอบ” นั้นเอง ซึ่งขณะนี้มีนัก ‘Design thinking’ ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักในสายตาโลก ได้แก่ IDEO และ Stanford D. School เป็นต้น

ทำความรู้จักกระบวนการคิดของ Design Thinking 5 ขั้นตอน

DESIGN THINKING

1. EMPATHIZE (ทำความเข้าใจ)

นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้เรามีข้อมูลที่มากและลึกซึ้งเพียงพอเพื่อนำมาตีโจทย์ให้แตก ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจความต้องการของลูกค้า อันเกิดจากการสังเกตการใช้งานผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่ลูกค้าพบ ตลอดจนการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สุดแสนจะล้ำสมัยได้

แต่หากผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถ “ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง” ได้
ก็เท่ากับ “ไม่ประสบความสำเร็จ” ในการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์

2. DEFINE (กำหนดกรอบและทิศทาง)

ข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนแรกจะถูกนำมาตีความ และกำหนดเป็นโจทย์สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องตอบสนองความต้องการให้ได้สูงสุด

3. IDEATE (สร้างไอเดีย)

เป็นขั้นตอนการระดมความคิดเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ จากมุมมองอันหลากหลาย และควรที่จะฉีกจากกระบวนการคิดรูปแบบเดิม

เคล็ดลับที่สำคัญ คือ การไม่ปิดกั้น “ความคิดสร้างสรรค์” และเปิดรับ “ทุกไอเดีย” แม้แต่ความคิดที่อาจจะดูแปลก หากนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมก็สามารถกลายเป็นความสำเร็จทางธุรกิจได้

4. PROTOTYPE (พัฒนาต้นแบบ)

Design Thinking จะช่วยให้สามารถพัฒนาต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว เพราะหัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้อยู่ที่การสร้างให้เกิด “ของจริง” ที่สามารถเข้ามาทดลองใช้งานได้ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหรือทำใหม่ได้เสมอหากยังไม่ตรงใจผู้ใช้งาน

5. TEST (ทดสอบแนวคิด)

นำผลิตภัณฑ์ที่มีเพียงฟีเจอร์การใช้งานที่จำเป็นออกไปทดลอง เพื่อประเมินผลตอบรับของตลาดก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบเพื่อนำออกขายจริงในตลาดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิด “Design Thinking” มาประยุกต์ใช้จึงเป็นกลไกที่ช่วยสกัดความผิดพลาดได้ตั้งแต่เริ่มต้น และช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลโดยไม่เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

ดังนั้น เมื่อเราเห็นแนวทางความคิดที่ทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จในชีวิตแล้วสิ่งสำคัญของ “Design Thinking” นั้นจึงไม่ใช่การที่เรารู้เยอะ รู้มาก แต่คือการ “เปิดใจ” ที่จะรับรู้ ในสิ่งที่ตรงประเด็น และนำความคิดจาก Design Thinking มาปฏิบัติได้จริงต่างหาก…