bitcoin

Bitcoin อาการหนัก หรือ ใกล้ฟองสบู่แตก

“บิทคอยน์” อาการหนัก ฤาใกล้ฟองสบู่แตก

ในช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา มีการพูดถึงตลาด Cryptocurrency หรือ เงินดิจิทัล กันอย่างมาก หลังจากที่สกุลเงินดิจิทัลหลักอย่าง บิทคอยน์ (Bitcoin) พุ่งขึ้นไปแตะ 19,000 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์ (ประมาณ 6 แสนบาท) ก่อนที่จะเริ่มหมดแรงร่วงลงมาอย่างต่อเนื่องจนหลุด 10,000 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์ ไปเรียบร้อยแล้ว

ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนบิทคอยน์ นับว่าเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกของโลก โดยผู้ที่คิดค้นใช้นามว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งในช่วงแรกๆ ยังไม่มีการยอมรับมากนัก มีเรื่องเล่าว่าในปี 2010 มีโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งในสหรัฐ อเมริกา ได้ใช้เงิน 10,000 บิทคอยน์ ซื้อพิซซ่าได้เพียง 2 ถาดเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบราคาบิทคอยน์ ที่ราคาสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ก็เท่ากับว่าพิซซ่าสองถาดนั้น มีมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาทเลยทีเดียว

bitcoin

แน่นอนว่า เมื่อราคาบิทคอยน์ ราคาพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเงินดิจิทัลสกุลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ล่าสุดในตลาดพบว่ามีการซื้อขายเงินดิจิทัลกว่า 1,500 สกุล ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี่เอง จึงเกิดคำถามตามมาว่า การลงทุนในเงินดิจิทัล  ใกล้จะถึงเวลา “ฟองสบู่” หรือ “Bubble Coin” แตกหรือยัง?

ภาวะฟองสบู่เงินดิจิทัลใกล้แตก มีการพูดถึงอย่างมากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หลังจากที่บิทคอยน์ทำราคาขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ระดับราคา 19,891 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์ เมื่อวันที่  17 ธันวาคม 2017 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นกว่า 1,800 % เมื่อเทียบกับราคา ณ ต้นปี 2017 ที่ในขณะนั้นราคาเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์เท่านั้น

แต่หลังจากนั้นราคาก็ปรับลงอย่างต่อเนื่อง และร่วงหนักสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งหลุดมาถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ในการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา ( 2 กุมภาพันธ์ 2018) ที่ราคา 7,972  เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์ เมื่อเทียบกับระดับราคาสูงสุด นั่นเท่ากับว่าราคาบิทคอยน์ได้ปรับตัวลดลงถึง 60%

ไม่เพียงแต่บิทคอยน์เท่านั้นที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างหนัก เงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน อย่าง Ethereum เงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากบิทคอยน์ ก็ปรับตัวลดลงกว่า 45% ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา

bitcoin

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ราคาเงินดิจิทัลร่วงอย่างหนัก ภายหลังจาก หลายประเทศได้ประกาศเตรียมออกกฎเกณฑ์ควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศจีนที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของการซื้อขายเงินดิจิทัล  ซึ่งทางรัฐบาลได้สั่งระงับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับออกกฎห้ามการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ไอซีโอ) (Initial Coin Offering) รวมทั้งปิดการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในหลายตลาด และจำกัดการขุดเหมืองเพื่อหาบิทคอยน์อีกด้วย

เนื่องจากทางการจีนมีความกังวลว่า การซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล อาจจะเป็นแหล่งฟอกเงินขององค์การอาชญากรรม และผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษี  ไปจนถึงเป็นแหล่งเก็งกำไรที่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่ สหรัฐ อเมริกาและเกาหลีใต้ ก็มีความกังวลเกี่ยวการซื้อขายเงินดิจิทัล เช่นกัน โดยมองว่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในขณะนี้ มีความคล้ายคลึงการพนันและการเก็งกำไรนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ระบบซื้อขายเงินดิจิทัล เริ่มถูกคุกคามจากการโจรกรรมอย่างหนัก ล่าสุด Coincheck Inc. บริษัทซื้อขายเงินดิจิทัลของญี่ปุ่น ถูกแฮกเกอร์เจาะระบบขโมยเงินดิจิทัลสกุล NEM ไปกว่า 58,000 ล้านเยน หรือ ราว 532 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยกว่า 17,000 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นการแฮกเงินดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดของโลก

แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบ “Block Chain” ที่เชื่อกันว่า เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงสุด  มีการเก็บข้อมูลแบบกระจาย ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร ไม่มีใครรู้ว่าซื้อขายเงินให้ใคร ไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ ตลาดเงินดิจิทัล ยังมีข่าวร้ายออกมาระลอก เมื่อ Facebook ประกาศแบนการโฆษณาเงินสกุลดิจิทัล ทั้งการโฆษณาของบิทคอยน์ และการเสนอขายเงินดิจิทัลครั้งแรก หรือ ICO ด้วย ด้วยเหตุผลว่า โฆษณาเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงหรือการทำให้เข้าใจผิด และที่สำคัญ มีการระบุว่า หลายบริษัทที่โฆษณาเงินดิจิทัลไม่ได้ดำเนินงานในปัจจุบันอย่างสุจริตอีกด้วย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลยังไม่ได้การยอมรับมากนัก แต่พลันที่บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)  (JMART) ได้ ประกาศเป็นรายแรกในประเทศไทย ที่จะระดมทุนในรูปแบบ  ICO โดยจะทำการพรีเซล “JFin Coin” ผ่านบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทลูก วันที่ 14-28 ก.พ.นี้  ก่อนเข้าเทรดจริงในตลาด TDAX (Thai Digital Asset Exchange) วันที่ 1 เม.ย. นี้  พร้อมกับเปิด “White Paper” แจงเป้าหมายการระดมทุนสู่สาธารณะชนตั้งแต่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา การเปิดตัวของเจมาร์ทครั้งนี้ ส่งผลให้หุ้น JMART ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 25 บาทต่อหุ้นทันที

bitcoin

อย่างไรก็ดี การระดมทุนในรูปแบบ ICO ในประเทศไทย ในขณะนี้ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากทางการไทยแต่อย่างใด โดยหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการหามาตรการเพื่อควบคุมดูแล ICO และสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนภายในไตรมาส 1 ของปีนี้

ทั้งนี้ ทางก.ล.ต. ย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแล ICO และที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย นอกจากนี้ ประชาชนควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และควรตระหนักว่า การลงทุนในรูปแบบดังกล่าว แม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้เช่นกัน และยังอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องของดิจิทัลโทเคน ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย

สุดท้ายการระดมทุนในรูปแบบ ICO ครั้งแรกในไทยจะสำเร็จหรือไม่ และ Bubble Coin ใกล้จะแตกแล้วหรือยัง นาทีนี้ยังคงไม่มีใครสามารถฟันธงได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อดูจากทิศทางราคาสกุลเงินดิจิทัลในขณะนี้แล้ว โอกาสทำกำไรคงไม่สดใสนัก…….