AEC คู่ค้าหรือคู่แข่ง?

การค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในการส่งออกและค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปิดเออีซีไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของตัวเลขส่งออก แต่อยู่ที่การใช้จุดแข็งและข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความเห็นนี้สอดคล้องกับมุมมองของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและประธานสถาบันนวัตกรรมแห่งอนาคต (FIT)  ที่ให้สัมภาษณ์ในงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2559 โอกาสและความท้าทาย” ที่จัดโดย บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต ไว้ว่า

“การเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะต้องพึ่งพาการขยายตัวนอกประเทศมากขึ้น การกำหนดนโยบายที่สนับสนุนทางการเงินให้ผู้ประกอบการลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์สินค้าไทย หรือ Made in Thailand ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การปรับทัศนคติในการมองประเทศเพื่อนบ้านในเออีซีใหม่ เพราะที่ผ่านมาคนไทยยังมองประเทศในเออีซีว่าอ่อนด้อยกว่าและภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งการติดกับภาพในอดีตนั้นไม่เป็นประโยชน์กับการเติบโตในอนาคต ดังนั้น ถ้าไทยอยากจะเติบโตในฐานะประเทศศูนย์กลางของเออีซี จะต้องมองประเทศเพื่อนบ้านแบบพันธมิตรและคู่ค้า” ดร.สุรินทร์ กล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ทรรศนะที่น่าสนใจไว้ว่า “ภายใน 5 ปีข้างหน้ากลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จะกลายเป็นคู่แข่งส่งออกสินค้าของไทย

โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ใน 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศเพื่อนบ้านในเออีซีจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ภายใต้การพัฒนานั้น ผู้ประกอบการไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหรือไม่ หรือเป็นแค่ผู้ฉกฉวยประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่า วันที่เพื่อนบ้านแข็งแรง ผู้ประกอบการไทยคงได้ประโยชน์น้อยมาก”

 

ติดตามบทความแบบเต็มอิ่มได้ที่นิตยสาร Business+ ฉบับ 323 ประจำเดือนมกราคม 2016 หรือคลิกที่นี่