5 ภาพที่ต้องมีใน Portfolio สำหรับมือใหม่หางานอย่างไรไม่ให้แป้ก!

ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กจบใหม่ในระดับปริญญาตรีทั่วประเทศกว่า 300,000 คน ไม่รวมระดับการศึกษาอื่นๆ ในขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า จำนวนคนว่างงานในเดือนมกราคม 2017 สูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม 2016 ประมาณ 102,000 คน โดยในจำนวนคนว่างงานทั้งหมดประมาณ 449,000 คน เป็นคนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด

จากปัญหาเด็กจบใหม่ที่ล้นตลาด ทำให้อัตราการถูกจ้างเข้าทำงานน้อยลง การแข่งขันในแต่ละที่ก็สูงตามขึ้นด้วย แน่นอนว่าสิ่งที่บริษัทต่างๆใช้พิจราณารับคนเข้าทำงานอันดับแรก คือ”แฟ้มสะสมผลงาน” (Portfolio)

หากพูดถึง “แฟ้มสะสมผลงาน” (Portfolio) เชื่อว่าคนทำงานส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเหมาะสำหรับคนในสายงานครีเอทีฟหรือกราฟิกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทุกสายงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบและกำลังหางาน “แฟ้มสะสมผลงาน” ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะอย่าลืมว่าคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ฉะนั้นคุณอาจจะยังไม่มีผลงานหรือประสบการณ์มากพอที่จะทำให้องค์กรสนใจในตัวคุณ

ยิ่งเมื่อคุณถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ด้วยแล้ว แฟ้มสะสมผลงานจะเป็นเครื่องช่วยยืนยันได้ว่าคุณมีความน่าสนใจและเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และตัวตนของคุณให้องค์กรได้เห็นเป็นอย่างดีอีกด้วย

จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) ในฐานะผู้คร่ำหวอดในธุรกิจการหางาน สมัครงาน มากว่า 17 ปี จึงออกมาแนะเทคนิคดีๆ สำหรับ ” 5 ภาพที่ต้องมีใน “แฟ้มสะสมผลงาน” (Portfolio) สำหรับมือใหม่หางานให้ไม่แป้ก! ” ดังนี้

· เล่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยภาพกิจกรรม

เช่น เคยเป็นประธานรุ่น-ประธานเชียร์ เคยเข้าร่วมกิจกรรมในชมรม รวมถึงการแสดงในวันสำคัญต่างๆเป็นต้น เพื่อแสดงให้องค์กรเห็นว่าคุณมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการทำงานเป็นทีม ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในโลกการทำงาน

· บอกความสามารถด้วยภาพตอนได้รับรางวัล หรือภาพผลงานที่ประทับใจ

ภาพรางวัลหรือผลงานที่เลือกมาใส่ในแฟ้มสะสมผลงาน ควรเลือกผลงานเด่นๆ ที่คุณภาคภูมิใจมากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นผลงานที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ต้องการสมัคร เพราะส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำแฟ้มสะสมผลงาน เพราะเป็นส่วนที่คุณจะได้นำเสนอและโน้มน้าวใจให้องค์กรเห็นว่าคุณมีทักษะความสามารถมากเพียงใด เหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณสมัครหรือไม่ และถึงแม้ว่าผลงานของคุณอาจจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสนใจ และมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งดังกล่าว

· สะท้อนตัวตนด้วยภาพตอนทำกิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

เช่น การทำกิจกรรม CSR การไปเข้าค่ายหรือไปทัศนศึกษา เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้จะแตกต่างกับภาพการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยตรงที่ต้องการแสดงให้องค์กรเห็นว่าคุณมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไรบ้าง เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือต้องพบเจอบุคคลที่ไม่คุ้นเคย คุณมีวิธีการวางตัวอย่างไร สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้หรือไม่

· บอกเล่าประสบการณ์ด้วยภาพตอนฝึกงาน

ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภาพการฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่สมัครเท่านั้น แม้กระทั่งการทำงานพาร์ทไทม์ตามร้านสะดวกซื้อก็สามารถหยิบมาใส่ในประวัติส่วนนี้ได้ ยิ่งคุณมีประสบการณ์ในการฝึกงานหรือทำงานพาร์ทไทม์มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อตัวคุณเอง เพราะองค์กรจะได้เห็นว่าคุณมีประสบการณ์จากการทำงานมาบ้างแล้ว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเตรียมพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริง

· บอกเล่าตัวตนด้วยภาพงานอดิเรก หรือความสามารถพิเศษ

ในส่วนนี้แนะนำให้โชว์ความสามารถพิเศษที่คนทั่วไปมีอยู่น้อยเพื่อสร้างความโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้น เช่น การเป็นพิธีกร ฯลฯ ถ้าไม่มีก็เป็นความสามารถพิเศษทั่วๆไป เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี เล่นกีฬา ฯลฯ หรืออย่างงานอดิเรกยามว่างของคุณก็สามารถนำมาเสริมให้เข้ากับสายงานที่สมัครได้ เช่น ชอบถ่ายภาพ อ่านหนังสือ เขียนบทความออนไลน์ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครงานทางด้านนักเขียนเป็นต้น

นอกเหนือจากเทคนิคการเลือกภาพประกอบในแฟ้มสะสมผลงานที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมในการทำแฟ้มสะสมผลงานคือ การเรียบเรียงเนื้อหาให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและกระชับ ด้วยการแบ่งประเภทของผลงานในแต่ละส่วนให้ชัดเจน นอกจากนี้ควรใส่ความเป็นตัวตนลงไปอย่างสร้างสรรค์ผ่านคอนเซ็ปต์ การเล่าเรื่อง การจัดวางข้อมูลในแฟ้มสะสมผลงาน และเพื่อให้องค์กรสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของคุณ อย่าลืมเตรียมไฟล์ผลงานให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมย่อขนาดไฟล์เพื่อให้ส่งผ่านอีเมลได้ง่าย ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น