20 อันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทยในรอบ 10 ปีบนแอปสโตร์

ย้อนกลับไปในยุคบุกเบิกของแอปพลิเคชัน สมาร์ทโฟนถือเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับลูกค้ากลุ่มบนเท่านั้น แต่ปัจจุบันใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ เนื่องจากการแข่งขันของแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ ที่เน้นขยายตลาดด้วยการผลิตสมาร์ทโฟนในราคาที่จับต้องได้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก

ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเคยเป็นอันดับ 1 ของการทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางหลัก (mobile-first market) ในปี 2558 จากผลสำรวจของ Google’s 2015 Consumer Barometer ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สมาร์ทโฟนจะมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น

บริษัทแอ๊พซินท์ เอเจนซี่ผู้นำแห่งการพัฒนาแอปพลิเคชันในประเทศไทย ได้สรุปแนวโน้มตลาดโมบายล์แอปพลิเคชันในธุรกิจประเภทต่างๆ จาก 20 อันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมในรอบ 10 ปีของแอปสโตร์ซึ่งการจัดอันดับในครั้งนี้เป็นการจัดอันดับจากยอดดาวน์โหลดแอปของธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น โดยไม่รวมแอปพลิเคชันประเภทเกม

ผลของการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแอปพลิเคชันในแต่ละธุรกิจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจกลุ่มธนาคารซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนในการส่งเสริมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด ตลอดจนกลุ่มธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารที่เน้นการแชร์ประสบการณ์ของการใช้บริการ รวมถึงระบบการสะสมแต้มหรือ loyalty program เรียกได้ว่าโมบายล์แอปพลิเคชันนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต


จากแนวโน้มของตลาดโลกในปัจจุบัน ธุรกิจกลุ่มธนาคารกำลังเผชิญกับการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งที่ทุ่มการลงทุนบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก รวมถึงกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้พัฒนาโซลูชั่นทางการเงินขนาดเล็ก ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในการยึดพื้นที่การให้บริการด้านการเงินแทนกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินในรูปแบบเดิม เช่น การเสนอทางเลือกของ mobile payment หรือการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้บริโภคสามารถเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นการตัดระบบการให้บริการของธนาคารแบบเดิมๆ ออกจากวงจรการใช้งานของผู้บริโภค

 

ซึ่งธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเร่งลงทุนและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของตนเองในช่องทางต่างๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ ในการคิดค้นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต จึงเป็นผลให้ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ครองตำแหน่ง 2 อันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมจากทั้ง 20 อันดับ


ขณะที่ Alternative banking หรือกลุ่มทางเลือกใหม่ของผู้ให้บริการด้านการเงิน เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ TrueMoney Wallet ผู้ครองอันดับ 5 ของชาร์ต ถือเป็นผู้นำของการให้บริการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในร้านค้า การจ่ายบิลด้วยการแสกน แม้แต่การเติมเงินโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันเดียวกันนี้ได้ นอกจากการเติมเงินเข้า TrueMoney Wallet ด้วยเงินสดแล้ว ผู้ที่มีบัญชีธนาคารก็สามารถผูกบัญชีกระเป๋าเงินดิจิทัล กับบัญชีธนาคารเพื่อใช้การเติมเงินแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้บริการด้านการเงินที่สะดวกสบายกว่าการใช้บริการกับธนาคารแบบเดิมๆ

อันดับที่ 3 ของชาร์ต ถือเป็นอีกหนึ่งอันดับที่น่าสนใจ เพราะเป็นเพียงแอปพลิเคชันเดียวที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาอิสระ และกลายเป็นแอปยอดนิยมของคนไทยทั่วประเทศในที่สุด TV Thailand นั้นเป็นแอปที่ให้บริการในการรับชมละครฮิต การ์ตูน และมิวสิกวิดีโอ ในทุกที่ ทุกเวลา ผลสำรวจระบุว่ากว่า 51% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ดูวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวัน และ 81% ดูอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง จะติด 20 อันดับยอดนิยม ถึง 4 แอปด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Thai TV3 app ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Mello ซึ่งเป็นเพียงแอปเดียวที่ถ่ายทอดคอนเทนต์โดยตรงจากผู้ผลิตรายการทีวีชั้นนำของประเทศ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า การที่จะผลิตแอปพลิเคชันให้ประสบผลสำเร็จได้ในตลาดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนที่มหาศาลหรือความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับการให้บริการกับผู้บริโภคอย่างตรงจุด

อีกหนึ่งแอปในชาร์ตที่น่าสนใจคือ Wongnai ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของสตาร์ทอัพที่ทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางแรก (mobile-first startups) ที่ติดอันดับ 20 แอปยอดนิยม โดย Wongnai แอปพลิเคชัน เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากการเป็นอินดี้แอปที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหารเด็ดๆ ในประเทศไทย ถึงวันนี้ Wongnai ประสบความสำเร็จในการเป็นกูรูร้านอาหารอันดับ 1 ในไทย โดยที่แอปพลิเคชันมียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอันดับ 9 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

อีกหนึ่ง mobile-first startup ในชาร์ตก็คือ Kaidee ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันตลาดมือสองบนดิจิทัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว่า 50% ของผู้เข้าชมแพลตฟอร์มต่อเดือนคือผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน ถ้าคิดเป็นจำนวนครั้งจะมากถึง 30 ล้านครั้ง นี่คือเหตุผลที่ทำให้แอปนี้ติดอันดับที่ 8 ใน 20 อันดับต้น โดยมียอดดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 12 ล้านครั้ง แอป Kaidee ถือเป็นหัวใจหลักในการเติบโตที่รวดเร็วของบริษัท

จากแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายออนไลน์ มาถึงธุรกิจสายการบินกันบ้าง นกแอร์ หนึ่งในสายการบินประเภทโลว์คอส ของไทยเป็นแอปพลิเคชันเดียวที่ติดยี่สิบอันดับแรกด้วยการให้บริการเส้นทางการบินที่ครอบคลุมและแผนการตลาดที่เจาะจงไปยังผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ทำให้นกแอร์เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค นอกจากนั้น นกแอร์ยังให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านโมบายล์ที่สะดวก ในทุกที่ ทุกเวลา จึงไม่น่าแปลกที่แอปนกแอร์ จะเป็นโมบายล์แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาสายการบินภายในประเทศอื่นๆ

และสุดท้าย แอปหนึ่งเดียวที่ติด 20 อันดับแรก ในธุรกิจประเภทร้านค้าปลีก คือ เซเว่น-อีเลฟเว่น ผู้นำตลาดกลุ่มร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย โดย เซเว่น-อีเลฟเว่น ได้ก้าวเข้ามาบนโมบายล์แพลตฟอร์มเพียงไม่นาน แต่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก แอป 7-Eleven TH เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การใช้จ่ายในร้าน เซเว่น-อีเลฟเว่น นั้นสะดวกสบายมากขึ้นกับผู้บริโภค

ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์การสะสมแสตมป์ดิจิทัลผ่านแอป ที่ง่ายกว่าการสะสมแสตมป์กระดาษแบบเดิมๆ รวมถึงการเข้าถึงโปรโมชั่น กิจกรรม และส่วนลดพิเศษอื่นๆ อีกมากมายผ่าน 7Rewards ซึ่งเป็น loyalty campaign หลักภายในแอป สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันแอป 7-Eleven TH ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเป็นหนึ่งใน 5 อันดับต้นของแอปพลิเคชันยอดนิยมในปี 2561 ด้วย