มาลี ท้าทายตลาดใหม่รุก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หลังโรดแมปเดิมไปไม่ถึงฝัน

มาลี ท้าทายตลาดใหม่รุก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หลังโรดแมปเดิมไปไม่ถึงฝัน

 

จากจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมในครอบครัวในปีพ.ศ. 2507 ของครอบครัว บุญรัตน์ ภายใต้การบุกเบิกของ “ฉัตรชัย บุญรัตน์” และ “จินตนา บุญรัตน์” (นามสกุลเดิม จิราธิวัฒน์) ”มาลี” ได้สร้างชื่อในฐานะของผู้บุกเบิกตลาดน้ำผลไม้ UHT เป็นยี่ห้อแรกๆ ก่อนขยายไลน์การผลิตมาสู่ ผลิตภัณฑ์ Malee Light น้ำผลไม้พลังงานต่ำ, Malee Healti Plus น้ำผลไม้ผสมน้ำแร่, เครื่องดื่มธัญญาหาร Malee Nutrient และ Malee Probiotic น้ำผลไม้ผสมจุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส ภายใต้แบรนด์ มาลี

 

เมื่อปี2556 ก้าวเข้าสู่ปีที่40ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มของความท้าทายครั้งใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเจเนเรชั่นที่ 2 ของทายาทคนสุดท้ายในวัยเพียง28 ปี อย่างรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาพร้อมการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ และโจทย์หินกับ“รายได้หมื่นล้าน” ภายใน 3-5 ปี (2556-2560)

 

ซึ่งวันนี้แม้จะเดินทางเข้าสู่ปีสุดท้ายตามโรดแมปแต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามมาลีก็ยังสามารถทำรายได้ดีเกิน1000ล้านทุกปี และปิดยอดขาย 9 เดือนแรกของปี2017 ที่4,400ล้านบาท

 

ซึ่งรุ่งฉัตรได้ไขข้อข้องใจว่าเพราะเหตุใด มาลี ถึงไปไม่ถึงฝัน นั่นเพราะในช่วงปี2558-2560 เป็นช่วงที่มาลี หันกลับมาพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างภายในในทุกๆด้าน ทั้งการลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ ปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงาน จัดตั้งบริษัทย่อย และลงทุนใหม่ๆกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก”

 

ขณะเดียวกันก็หันมาโฟกัสในส่วนของทีมนักวิจัยและพัฒนาที่คอยให้คำปรึกษาดูแลการพัฒนาผลิตภัณฑ์  การรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมาลีเชื่อว่าศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Innovation center) แห่งนี้จะสามารถดึงดูดและรองรับลูกค้าจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี

 

และเป็นที่รับรู้กันว่าแบรนด์ มาลี ค่อนข้างเป็นโปรดักซ์ที่พรีเมียมเจาะตลาดกลางและบน ซึ่งแม้ว่าแบรนด์จะมีความแข็งแกร่งทั้งในประเทศและอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลกก็ตาม แต่จุดอ่อนของมาลีที่ผู้บริหารไม่ยอมมองข้ามคือ การขาดโปรดักซ์ที่แมช เจาะตลาดคนทั่วไปและตลาดล่าง ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

 

ดังนั้นเพื่อหาสินค้ามาเติมเต็มพร์อต และขยายกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพระดับโลกในปี 2564 มาลีประเดิมต้นปี2561ด้วยการแถลงข่าวเข้าซื้อกิจการ ในต่างประเทศครั้งแรกกับบริษัทร่วมทุน ลอง ควน เซฟ ฟู้ด จำกัด (Long Quan Safe Food Joint Stock Company) ผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศเวียดนามด้วยสัดส่วน 65% หรือคิดเป็นมูลค่า 330 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อเสริมฐานการผลิตเครื่องดื่มสำหรับตลาดประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับสัดส่วนยอดขายต่างประเทศของมาลีกรุ๊ปจาก 40% เป็น 60% ภายใน 3 ปี

 

“สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศเรายังคงเน้นในโซนอาเซียน โดยระยะแรกหรือปัจุบันเราได้โฟกัสใน 3 ตลาด คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ใน3ปีที่ผ่านมาเราได้เข้าไปสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศตั้งแต่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศฟิลิปปินส์กับบริษัท มอนเด นิชชิน คอร์ปอเรชั่น และในประเทศอินโดนีเซียกับบริษัท พีที คีโน่ อินโดนีเซีย และล่าสุดกับการเข้าซื้อบริษัทร่วมทุน ลอง ควน เซฟ ฟู้ด จำกัด

 

ภายใต้กลยุทธ์แบบสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคด้วยการนำเอาจุดแข็งของพันธมิตรในแต่ละประเทศมาเสริมแกร่งซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนให้กับเราในระดับภูมิภาค” รุ่งฉัตรกล่าว

ทางด้าน โอภาส โลพันธ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ขยายความของแต่ละการลงทุน และสิ่งที่มาลีจะได้รับกลับมาว่า

ในประเทศฟิลิปปินส์มาลีได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท มอนเด นิชชิน คอร์ปอเรชั่น ผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอาหารในประเทศฟิลิปปินส์ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บิสกิต แครกเกอร์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทนี้มีความแข็งแกร่งในแง่การตลาด การสร้างแบรนด์ และช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรม มีความสามารถในการเข้าถึง และให้บริการทั้งห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านค้าเทรดิชันนอลเทรดขนาดเล็ก

 

พร้อมกับเปิดตัวบริษัทร่วมทุน มอนเด มาลี เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (Monde Malee Beverage Corporation)โดยมาลีถือหุ้นในสัดส่วน49% และจะเดินสายการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และแคทิกอรีอื่นๆ รวมทั้งส่งออกเครื่องดื่ม เพื่อขยายตลาดในฟิลิปปินส์และส่งออกไปยังต่างประเทศ

 

ในส่วนของความร่วมมือในประเทศอินโดนีเซีย มาลี ได้ลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท พีที คีโน่ อินโดนีเซีย (PT Kino Indonesia Tbk หรือ KINO) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย โดยจะร่วมกันจัดตั้งธุรกิจร่วมค้า 2 บริษัท ใน 2 ประเทศ ได้แก่

 

1) บริษัท มาลี คีโน่ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลในกลุ่มบริษัทคีโน่เข้ามาทำการตลาดและการจัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ส่วนบุคคลมีอัตราการทำกำไรที่สูงกว่ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัทฯ จึงคาดว่าธุรกิจใหม่นี้จะช่วยทำให้อัตรากำไรของมาลี โดยรวมสูงขึ้น

 

และ 2) บริษัท พีที คีโน่ มาลี อินโดนีเซีย จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ตรามาลีในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่ม KINO มีเครือข่ายการจำหน่ายและกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซีย โดยมีจุดขายมากกว่า 1 ล้านจุด ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจร่วมทุนทั้ง 2 แห่งจะสามารถเดินหน้าดำเนินธุรกิจได้ในกลาง2561นี้

และปิดท้ายด้วยดิลล่าสุดกับบริษัทร่วมทุนชื่อลอง ควน เซฟ ฟู้ด จำกัด ซึ่งการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จะช่วยหนุนให้มาลีสามารถเดินสายการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆนอกเหนือจากแบรนด์มาลี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วไปและสร้างความน่าเชื่อถือด้วยประสบการณ์ผู้นำตลาดกว่า25ปีในประเทศเวียดนามและจะกระจายสินค้าที่ผลิตภายใต้บริษัทนี้เข้ามายังไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และตลาดหลักอื่นๆ

“ปัจุบันโรงงานมาลีสามพรานมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์และเครื่องดื่ม 330ล้านลิตรต่อปี อย่างที่บอกที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตไม่ได้มีความแมช การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้เราสามารถขยายการผลิตและแตกไลน์สินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์อื่นที่ไม่ใช่มาลีอีกกว่า 300 ล้านลิตรต่อปีไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม เครื่องดื่มอัดแก๊ส ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเจลลี่ในรูปแบบกระป๋อง ขวดพลาสติก ถ้วยพลาสติกและขวดแก้ว ซึ่งจะทำให้มาลีกรุ๊ปมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 630 ล้านลิตรต่อปี

 

นอกจากนี้ยังทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของการแข่งขันด้านราคาเพราะต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเจาะตลาดในประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาค เพราะต้นทุนการผลิตที่นี่ถือต่ำมากเมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้าที่ได้ซึ่งทำให้เราสามารถควบคุมการผลิตได้ดี และสุดท้ายสิ่งที่เราได้จาก ลอง ควน เซฟ ฟู้ด คือช่องทางจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมในประเทศเวียดนามโดยเฉพาะทางตอนใต้”

การเดินทางสู่เป้าหมายใหม่ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพระดับโลกในปี 2564 เริ่มเป็นรูปเป็นขึ้นมาทีละน้อย ในส่วนของการปรับปรุง พัฒนาโครงสร้างภายใน ระบบโรงงานต่างๆ รวมไปถือการร่วมทั้งทั้งในและต่างประเทศที่ต้องทำ มาลีก็ทำไปหมดแล้ว

 

ที่เหลือคงต้องติดตามว่าต้นกล้าที่หว่านไว้ จะออกดอกออกผลได้ดังหวังหรือไม่ และจิ๊กซอว์ตัวต่อไปที่ มาลีจะนำเข้ามาเติมเต็มพร์อตให้สมบูรณ์จะเป็นอะไร เพราะเชื่อได้เลยว่า การเข้าร่วมทุนระหว่างประเทศของมาลีคงไม่หยุดอยู่เท่านี้อย่างแน่นอน