10 อาชีพยุคดิจิทัลที่ไม่ง้อปริญญา

ในปัจจุบันการหารายได้ในยุคดิจิทัลไม่จำเป็นว่าจะต้องจบการศึกษาในขั้นอนุปริญญา หรือปริญญาตรี แต่ในขณะเรียนหนังสือ เราก็สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัวได้ในโลกยุคใหม่นี้

เพราะมีเครื่องมือช่วยทำงานหารายได้อย่างอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อที่เข้าถึงได้ทุกคน และใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเกิดอาชีพในยุค 4.0 หรือที่หลายคนชอบเรียกกันว่า “อาชีพออนไลน์” อาชีพแนวใหม่นี้ก็กลายเป็นอีกทางเลือก ที่หลาย ๆ คนนิยมทำเป็นอาชีพเสริมซึ่งจะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน

นักเขียนบทความออนไลน์


ในยุคที่นิตยสารเริ่มล้มหายตายจาก หลายคนจึงนิยมไปอ่านข้อมูลหรือบทความ (Content) ในโลกออนไลน์แทน เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า และมีข้อมูลทันสมัยกว่า จึงเกิดอาชีพนำเสนอเนื้อหา (Digital Content) ในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook หรือที่เรียกอาชีพนี้ว่า ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ หรือ นักเขียนบทความออนไลน์ (Digital Content Creator) สำหรับอาชีพนี้มีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือสมาร์ตโฟนพร้อมอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ไหนเวลาไหนก็ได้ทันที ส่วนรายได้ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ผู้ผลิตเนื้อหาประจำบริษัท และผู้ผลิตเนื้อหาอิสระ

สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาประจำบริษัท ก็ตรงตัวเลยคือ เป็นลูกจ้างของบริษัทหนึ่ง ที่จ้างให้มาเขียนข่าวเขียนบทความตามที่บริษัทกำหนด โดยมีรายได้เป็นเงินเดือนเหมือนพนักงานทั่วไป ส่วน Digital Content อิสระก็คือ นักเขียนออนไลน์ที่มีเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเผยแพร่คอนเทนต์ของตัวเอง ส่วนรายได้ก็มาจากโฆษณาหรือมีแบรนด์มาจ้างให้ช่วยเขียนคอนเทนต์เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของเขา

นักรีวิว


อาชีพนี้ก็จะคล้าย ๆ กับนักเขียนบทความออนไลน์ แต่รูปแบบการทำคอนเทนต์จะเน้นไปที่การอธิบายลักษณะ คุณประโยชน์ที่ได้รับ และอธิบายความรู้สึกดี ๆ หรือไม่ดีต่อสินค้าหรือบริการของยี่ห้อนั้น ๆ แทน ซึ่งมักเห็นได้ตามเว็บไซต์ เว็บบล็อก หรือถ่ายเป็นวิดีโอรีวิวผ่าน YouTube ส่วนรายได้ก็เหมือนกรณีนักเขียนบทความออนไลน์เลย

ติวเตอร์ออนไลน์


เป็นอาชีพทำคอร์สออนไลน์ขายผ่านเว็บไซต์ จะคล้าย ๆ กับการทำวิดีโอสอนผ่าน YouTube แต่ในรูปแบบนี้จะมีความละเอียดกว่ามาก โดยผู้สอนจะต้องอัดคลิปการสอนของตัวเองชนิดเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจต้องใช้ทักษะตัดต่อวิดีโอพอสมควร และเทคนิคการสอนระดับมือชีพ เนื่องจากไม่ได้ทำฟรีอีกต่อไป นอกจากจะอัดคลิปแล้ว เรายังต้องทำแบบทดสอบประกอบการสอนอีกด้วย เรียกได้ว่า เราเหมือนเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนคนหนึ่ง แต่นักเรียนที่มาเรียนกับเรานั้นคือคนจากทุกอาชีพ หลากหลายวัย และมาจากทั่วประเทศหรือทั่วโลก ซึ่งจะเข้ามายังแพลตฟอร์มที่รวบรวมบทเรียนจากเหล่าติวเตอร์ออนไลน์เอาไว้ เช่น coursesquare.co, skilllane.com, taladpanya.com และ udemy.com

Influencer


เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนบทความออนไลน์ หรือนักรีวิวระดับโปร เนื่องจาก Influencer หมายถึง ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ เป็นกลุ่มหรือบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมากโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ บุคคลเหล่านี้จะสร้างตัวจากการเป็นนักรีวิว เขียนบทความ หรือทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ เช่น Facebook, YouTube, Blog, Twitter หรือเว็บไซต์ของตัวเอง หากคอนเทนต์มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ ก็จะเริ่มมีผู้ติดตามเข้ามา จนพอมีจำนวนมาก ก็มีโอกาส “ชักจูง” ผู้กลุ่มผู้ติดตาม ให้เชื่อในคอนเทนต์ที่สร้างและเกิดความคล้อยตามได้เลย จึงเป็นเหตุให้หลาย ๆ แบรนด์สินค้า นิยมจ้าง Influencer ให้ช่วยทำคอนเทนต์โปรโมตขายสินค้าทั้งแบบตรงหรือแบบอ้อม โดยขอยืมพลังของ Influencer ที่สามารถชักจูงกลุ่มผู้ติดตามให้กลายเป็นลูกค้าของแบรนด์นั้น ๆ ในอนาคต

นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer)


สำหรับอาชีพนี้ ต้องเป็นคนวัยทำงาน และมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องสามารถคิดวิเคราะห์ และคาดเดาผลลัพธ์จากวางแผนการตลาดที่กำลังดำเนินได้ การตลาดในโลกออนไลน์ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น และรู้จักใช้สื่อออนไลน์ อาทิ Facebook, Google, YouTube และการลงโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ สามารถสร้างการรับรู้สินค้าของแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายได้ และไม่เพียงทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริโภคสนใจเท่านั้น ยังต้องเข้าใจผู้บริโภคด้วย

วาดสติ๊กเกอร์ Line


เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการวาดภาพหรือความคิดสร้างสรรค์พอควร โดยหลังจากที่ Line หรือแอพฯ ส่งข้อความชื่อดัง เปิดโอกาสให้นักวาดทั่วไป สามารถออกแบบสติ๊กเกอร์ประกอบข้อความไปขายในระบบได้ จึงกลายอาชีพเสริมยอดนิยม ที่หลายคนหาเวลาว่างไปนั่งออกแบบสติ๊กเกอร์ Line ของตัวเองให้ครบ 40 รูปแบบ จากนั้นก็ส่งไปให้ทาง Line พิจารณา เมื่อผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับสิทธิ์ในการนำสติ๊กเกอร์ Line ไปขาย จากนั้นก็รอรับผลตอบแทนในระยะยาว โดยคิดเป็นรายได้จากราคาขายเกือบครึ่ง จากคนที่ดาวน์โหลดซื้อสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบเอง ยิ่งมีคนซื้อเยอะ ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ช่างภาพขายภาพออนไลน์ (Stock Photographer)


หลังจากสมาร์ตโฟนได้รับการพัฒนาจนสามารถถ่ายรูปได้สวยเทียบเคียงกับกล้องจริง ๆ ทำให้ทุกคนสามารถเป็นช่างภาพเฉพาะกิจกันได้ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการหารายได้จากการขายภาพออนไลน์ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของช่างภาพยุคใหม่ ที่ไม่ต้องไปหาลูกค้า ทำสัญญา เสนอราคา หรือโปรโมตตัวเองให้วุ่นวาย เพียงแค่มีภาพสวย ๆ ที่สื่อความหมายได้ในสมาร์ตโฟน หรือกล้องถ่ายรูป จากนั้นก็ไปสมัครเว็บที่รับเป็นตัวแทนขายภาพออนไลน์อย่าง Microstock ทั้งหลาย ที่เหลือก็รอเงินโอนเข้าบัญชีหลังมีคนมาซื้อ

อย่างไรก็ตาม อาจดูเหมือนง่าย ทว่าอาชีพช่างภาพออนไลน์ ก็ต้องใช้ทั้งฝีมือและความอดทนอยู่เหมือนกัน เพราะต้องใช้เวลาไม่น้อย กว่าจะได้กำไรจากภาพที่ขายบนเว็บ และต้องใช้ทักษะเพื่อให้ทางเว็บยอมรับภาพไปขายได้ กับให้ลูกค้าที่เข้ามาเลือกภาพในเว็บ ยอมซื้อภาพของเรา จากคู่แข่งนับแสนนับล้านทั่วโลก

รับจ้างทำ SEO


ปัจจุบันเวลาเราเกิดข้อสงสัยอะไร สิ่งที่ทำอย่างแรกคือ ถาม Google เพียงใส่คำค้นหาที่ต้องการก็จะมีคำตอบปรากฏขึ้นมาใน “หน้าแรก” ทันที ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่ถูกนำมาใช้ในแผนการตลาดออนไลน์ ด้วยหัวข้อง่าย ๆ ว่า ทำยังไงก็ได้ ให้ชื่อสินค้าหรือบริการของแบรนด์นั้น ๆ มาอยู่ในหน้าแรกของ Google ให้ได้ สำหรับวิธีนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบจึงเกิดผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ นักรับจ้างทำ SEO หรือ Search Engine Optimization

ซึ่งคนที่ทำอาชีพนี้ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ SEO และพอรู้ว่า Google มีวิธีการค้นหาและแสดงผลอย่างไร ที่จะดันให้ชื่อเว็บของแบรนด์ที่รับจ้างมาปรากฏในหน้าค้นหาหน้าแรกของ Google ได้ โดยไม่ถูกเบียดจากแบรนด์คู่แข่ง อาจเรียกได้เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะพอ ๆ กับ Digital Marketing แต่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงกว่า

เกมเมอร์


เกมเมอร์ที่สามารถหารายได้จากการเล่นเกมจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ นักกีฬา E-Sport กับ Games Caster สำหรับนักกีฬา E-Sport ก็จะเหมือนกันนักกีฬาจริง ๆ แต่เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่แข่งขันด้วยวิดีโอเกมประเภทต่าง ๆ อาทิ เกมวางแผนการรบเกมต่อสู้ เป็นต้น โดยประชันทักษะการควบคุมของผู้เล่นที่เป็นคู่แข่ง ส่วนการแข่งก็มีเงินรางวัล มีถ้วยรางวัลให้เหมือนนักกีฬาของจริง แต่กว่าจะมาถึงจุดที่เข้าร่วมแข่งขันได้ ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก และอาจต้องมีสโมสรรองรับ เพื่อคอยผลักดันไปยังสนามแข่งต่าง ๆ ได้


ส่วน Games Caster จะเป็นการอัดคลิปวิดีโอการเล่นเกมของตัวเอง โดยระหว่างการเล่นก็มีบรรยายความรู้สึกไปด้วยขณะเล่น อย่างการแสดงความคิดเห็น การวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ในเกม การแปลเนื้อเรื่อง รวมถึงการสร้างอารมณ์ขันเพื่อเป็นสีสันให้คนดู ส่วนนี้จะคล้าย ๆ กับ Influencer คือเหมือนเป็นการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งหากถูกใจคนดูก็จะเกิดเป็นกลุ่มผู้ติดตามภายหลังได้ จากนั้นก็จะมีแบรนด์สินค้าหรือผู้สนับสนุนมาขอให้ช่วยโฆษณาในที่สุด แต่ทั้งนี้ยังมีการหารายได้อีกรูปแบบคือ การถ่ายทอดสดขณะเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนดู สามารถบริจาคหรือส่งเงินสนับสนุน Games Caster ได้ โดยที่ดัง ๆ เลยคือ Twitch ซึ่งจะมีคนเข้ามาบริจาคมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม และความเป็น Influencer ของ Games Caster นั้นเอง

ขายของออนไลน์


ปิดท้ายด้วยอาชีพที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และเป็นที่นิยมมากที่สุดอย่างขายของออนไลน์ จากเมื่อก่อนต้องมีหน้าร้าน ถึงจะขายของได้ แต่หลังมีอินเทอร์เน็ตกับบริการเครือค่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Facebook ก็ช่วยให้เรามี “หน้าร้านออนไลน์” แทน ไม่ต้องมีหน้าร้านจริง ๆ ที่ใช้งบลงทุนมากมายอีกต่อไป ขอเพียงเรามีของที่จะขายกับรู้จักใช้บริการขนส่งของในประเทศอย่าง EMS, Kerry, TNT ก็พอแล้ว

ปัจจุบันนอกจาก Facebook ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยให้เหล่าพ่อค้าหรือแม่ค้าออนไลน์ สามารถนำของไปขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน อาทิ LnwShop, Shopee, Lazada, kaidee, Pinkoi และอื่น ๆ ทั้งหมดถือเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ที่ช่วยให้มีหน้าร้านออนไลน์ง่ายขึ้นกว่าเดิม