นาโนไฟแนนซ์ ขุมทรัพย์แสนล้าน คุ้มค่าการลงทุน…?

นาโนไฟแนนซ์ ปรากฏการณ์ครั้งแรกของเมืองไทย ภายใต้ความกล้าหาญของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนหนี้นอกระบบกว่า 5 ล้านล้านบาทให้มาอยู่ในระบบ ขุมทรัพย์มูลค่าก้อนมหึมาเปิดประตูแล้ว ภายใต้การบริหารจัดการ

 …ใครทำได้ดีกว่า เหนือกว่า มีโมเดลธุรกิจที่จัดการหนี้เสียได้ดีกว่า จะคว้าพุงปลามากิน ผลตอบแทนของค่าเหนื่อย คือตลาดมูลค่า 5 ล้านล้านบาท… โอกาสและความท้าทายนี้ เป็นของ CEO ที่เก่งที่สุดเท่านั้น

เมื่อระบบการธนาคารไม่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรากหญ้า ก่อให้เกิดการกู้ยืมเงินนอกระบบจนกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย กระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นรากหญ้าอย่างร้ายแรง จนรัฐบาลนี้ของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอาสาเข้ามาแก้ไข

แปลงหนี้แขกเข้าระบบ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ปัจจุบันประชาชนรากหญ้าต้องทุกข์ทนกับปัญหาหนี้นอกระบบที่มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนรากหญ้ากว่า 8 ล้านครัวเรือน ที่ EIC ประเมินว่าแต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบ 600,000-1,500,000 บาท ซึ่งหนี้นอกระบบขนาดมหาศาลนี้ คือเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งความหวังให้ “นาโนไฟแนนซ์” เข้าไปเยียวยา

นั่นทำให้รัฐต้องเปิดไลเซ่นส์นาโนไฟแนนซ์ หลังจากขอความร่วมมือกับภาคธนาคาร แต่นายแบงก์ไม่เล่นด้วยเพราะหวั่นผลกระทบจากหนี้เสียที่คาดว่าจะหนักหนาจนเกินควบคุม

อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าธุรกิจกว่า 5 ล้านล้านบาท คิดแล้วผลประโยชน์สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท (36% ของยอดหนี้เงินกู้ยืมนอกระบบ) ทำให้ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์หอมหวานยั่วยวนใจอย่างมาก ถ้าลองหารเล่นๆ กับผู้ได้ไลเซ่นส์ 6 รายแล้ว แต่ละรายจะมีพอร์ตสินเชื่อมากกว่า 300,000 ล้านบาท เทียบได้กับธนาคารขนาดเล็กเลยทีเดียว ใครบ้างที่ไม่อยากลอง…

ขุมทรัพย์แสนล้าน คุ้มไหม?
ขณะที่ธนาคารไม่สนใจ กลับมีอีกหลายบริษัทที่ให้ความสนใจ ซึ่งนับแล้วไม่น้อยกว่า 10 บริษัท แต่ที่ได้ไลเซ่นส์แล้วมีแค่ 6 บริษัทและส่วนหนึ่ง Business+ ได้สัมภาษณ์พิเศษลงใน Cover Story ฉบับนี้ อาทิ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ของกลุ่มศรีสวัสดิ์ เพาเวอร์ (1979) จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีโมเดลการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และการให้ข่าวของแต่ละบริษัททำให้เชื่อว่า ยอดเงินปล่อยกู้ให้กับธุรกิจของนาโนไฟแนนซ์ ในปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ห่างจากที่สำนักวิจัยหลายแห่งประเมินไว้ที่ 60,000 ล้านบาท ค่อนข้างไกล

ทั้งนี้เพราะการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงมีความเสี่ยงของธุรกิจที่สูง และยังไม่มีกลไกหรือระบบใดที่ช่วยในการจัดการ หรือประเมินว่า ควรเลือกปล่อยกู้กับใคร

ถ้ามองไปในอนาคต แม้นาโนไฟแนนซ์จะเติบโตแน่นอน แต่คงเป็นการเติบโตที่ไม่หวือหวามากนัก

ส่วนผลตอบแทน 36% แม้จะจูงใจกับบริษัทที่ยื่นขอไลเซนส์ แต่เอาเข้าจริงถ้าให้สินเชื่อแล้วไม่สามารถตามเก็บหนี้ได้ จะเข้าตำราได้ไม่คุ้มเสีย… ดังนั้นความคาดหวังที่จะเห็นการปล่อยกู้อย่างครึกโครม คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ไม่เห็นธนาคารชั้นนำของไทยตบเท้ารุกสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ยกเว้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีบริษัทลูกอย่าง “เงินติดล้อ” ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ ส่วนบริษัทที่ได้ไลเซ่นส์นาโนไฟแนนซ์อย่าง “เมืองไทยลิสซิ่ง” ก็ยังยอมรับว่า ระบบในการบริหารจัดการลูกหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่สามารถใช้บริหารลูกหนี้ไม่มีหลักประกันของนาโนไฟแนนซ์ได้

 —– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ July 2015 Issue 317 ทุกแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ—-