ไอคอนสยาม

ICON SIAM – Co-Creation ดึงชุมชน สู่ธุรกิจเติบโตยั่งยืน

ถอดรหัสโมเดล Co-Creation ของไอคอนสยาม ดึงชุมชน สู่ธุรกิจเติบโตยั่งยืน

เขียนโดย ปราณี ลาภจารุพงศ์

นับถอยหลังอีก 6 เดือน อภิมหาโครงการไอคอนสยามที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 54,000 ล้านบาทของ 3 พันธมิตรยักษ์อย่าง สยามพิวรรธน์ ร่วมกับ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็จะจุดพลุให้บริการอย่างเป็นทางการ หลังใช้ระยะเวลาในการพัฒนายาวนานถึง 5 ปี โดยล่าสุดปั้นเมือง สุขสยาม ที่มาในคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ Co-Creation ด้วยการดึงร้านค้าชุมชน 77 จังหวัดของไทยขึ้นห้างหรู หวังให้เป็นแม่เหล็กดูดนักท่องเที่ยว พร้อมสร้างเมืองแห่งวิถีไทยอวดสายตาชาวโลก

ในบรรดา 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งไอคอนสยามที่ได้ทำการเปิดตัวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย

  1. River Park พื้นที่จัดกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำ
  2. Water Garden
  3. โรงละคร State of Auditorium
  4. พิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมแห่งชาติและมิวเซียม
  5. Skytrain Golden Line
  6. ศูนย์การประชุมระดับโลก และ
  7. เมืองสุขสยาม ต้องยอมรับว่า สุขสยาม ได้รับการคิดค้นและพัฒนาแตกต่างจากสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหมด เพราะคิดบนพื้นฐานของความยั่งยืน ขณะที่สิ่งมหัศจรรย์อื่น ๆ นั้นจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจ

“ไอคอนสยาม มีแม็กเน็ตหลายอย่าง แต่การสร้างสุขสยามเป็นวิธีคิดกลับด้าน จากปกติเวลาจะพัฒนาสิ่งใดต้องคิดว่าจะได้ยอดขายเท่าไหร่ แต่เราต้องการให้คนเข้าใจประเทศไทย ทำให้เรายินดีสร้างเมืองบนพื้นฐานของความยั่งยืน ซึ่งคำว่ายั่งยืนในที่นี้ หมายความว่าคนที่มาอยู่กับเราต้องอยู่ได้ ขายดี มีเงินเหลือกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และอยู่กับเราต่อ”

ไอคอนสยาม

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธ์ บอกถึงแนวคิดการสร้างเมืองสุขสยาม และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ไอคอนสยามครอบคลุมทุกมิติยิ่งขึ้น

วันนี้ Business+ จะพาไปค้นหาคำตอบว่าทำไมการสร้างเมืองสุขสยามจึงมีความสำคัญกับ ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของการสร้างระบบนิเวศค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย งานศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของแท้จาก 77 จังหวัด 4 ภูมิภาคมาไว้ในพื้นที่เดียวกันเพื่ออวดโฉมสู่สายตาคนไทยและชาวโลก

1. วิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของไอคอนสยามที่แตกต่าง โดยเชื่อว่าการทำโครงการให้ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน จะคิดและพัฒนาคนเดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากการ Combine Excellence ทั้งคนเก่งและคนที่มีใจในการทำงานร่วมกันเข้ามาอยู่ในโครงการ ไอคอนสยามจึงได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัด เพื่อสร้างเมืองแห่งวิถีไทยในชื่อ สุขสยาม โดยมุ่งหวังที่จะให้คนไทยได้ภูมิใจในความเป็นไทย ร่วมสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาให้คงอยู่และส่งต่อคนรุ่นหลัง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตจากท้องถิ่นต่าง ๆ มีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองและมีแรงบันดาลใจที่จะรักษาสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ไอคอนสยาม

2. ความเป็นอภิมหาโครงการไอคอนสยาม ทำให้จำเป็นต้องมีการสร้างซิกเนเจอร์หรือแม่เหล็กขนาดใหญ่ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับโครงการเพื่อให้คนจดจำ ทั้งยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนด้วย นี่จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งไอคอนสยาม โดยมี สุขสยาม เป็นหนึ่งในนั้น ที่จะนำเสนอสุดยอดและสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจใน 77 จังหวัดเพื่อดึงดูดลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย 21.9 ล้านคนต่อปีให้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการไอคอนสยาม

โมเดลของสุขสยามใช้เวลาในการคิดค้นและพัฒนานานถึง 4 ปี โดยแตกต่างจากวงจรของการออกร้านทั่วไปที่ประเทศไทยเคยมีมา ด้วยการนำเสนอในคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Co-Creation หรือการร่วมกันรังสรรค์ ด้วยการจับมือกับวิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วไทย นำสินค้ามาจัดแสดงบนพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 10 ไร่ ของไอคอนสยาม พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ผสานกับนวัตกรรมล้ำสมัย โดยพื้นที่ภายในจะแบ่งออกเป็น 4 ภาคของไทย ประกอบด้วยร้านค้าและบริการกว่า 3,000 ราย ซึ่งล้วนเป็นร้านค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของทุกภาคเข้ามาจำหน่าย โดย 30-40% จะเป็นร้านถาวร ที่เหลือจะเป็นร้านแบบหมุนเวียน

“ความพิเศษของสุขสยาม นอกจากครบทุกมิติและคุณค่าของความเป็นไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างวิถีไทยที่มีการบริหารจัดการแบบใหม่ในธุรกิจค้าปลีก การสร้างเมืองสุขสยามจึงต้องใช้เวลา โดยเชื่อว่าภายใน 1 ปี จะทำให้คนเข้าใจในโมเดลนี้มากขึ้น ขณะที่รายได้จะอยู่ในรูปแบบของการแบ่งรายได้ในการจัดการพื้นที่แทนการเช่าพื้นที่เพื่อขายสินค้า”

ไอคอนสยาม

3. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจฐานรากของไทยมีการขยายตัวถึงสองหลัก (Double Digit Growth) จากการเติบโตที่ 15% ในปี 2016 มาอยู่ที่ 23% ในปี 2017 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีการเติบโตอยู่ที่ 4% เท่านั้น ทำให้เชื่อว่าการเสริมสร้างขีดความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับชุมชนในครั้งนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยระดับเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้แข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“เมืองสุขสยามจะเป็นเวทีของการประกอบธุรกิจจริง ขณะเดียวกันเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยน Mindset และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในยุค 4.0 กระทั่งสร้างรายได้ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด ทั้งยังทำให้คนไทยและคนทั่วโลกได้เห็นผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าไม่แพ้ชาติใดในโลก” ชฎาทิพ ย้ำท้าย