ไต้หวัน มีมากกว่านวัตกรรม

เป็นที่รับรู้กันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษว่า ไต้หวันคือฐานการผลิตชิ้นส่วนและสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคที่หลายแบรนด์พัฒนาตัวเองจากรับจ้างผลิต (OEM) มาเป็นแบรนด์ระดับโลกจากการสร้างแบรนด์ของตัวเอง (OBM)  แต่เหมือนว่า กลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ไต้หวัน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา “ไต้หวัน” ทำความรู้จักกับโลกภายนอกด้วยเทคโนโลยีและไอทีที่นักธุรกิจ New Gen ของไต้หวันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ให้ชาวโลกเข้าใจ

 

ทว่าวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้ไต้หวันมีวันนี้ได้ “ยูมา ทารุ” (Yuma Taru) ศิลปินผู้อนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของไต้หวันได้บอกกล่าวระหว่างการเปิดตัวนิทรรศการ Texture Art Exhibition เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รากฐานของประเทศไต้หวันเชื่อมโยงหลายมิติเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงต้อง Synergy ทุก ๆ การทำงานอย่างมีระบบ แต่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของประเทศต้องดำเนินคู่ประชาชน

 

“รัฐบาลไต้หวันได้อนุรักษ์วิถีชนเผ่าดั้งเดิมไว้ เพื่อให้รากเหง้าของไต้หวันยังมีชีวิตอยู่ได้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของประชากรราว 23.5 ล้านคนของไต้หวันทั้งหมด โดยชนเผ่าไทหย่าเป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยในเมืองไหล่เขามีพื้นที่โดยรอบเป็นหุบเขาล้อมรอบ อาชีพดั้งเดิมคือล่าสัตว์และทอผ้า ดังนั้นการทอผ้าของชนไทหย่าแสดงถึงความสามารถในความคิดสร้างสรรค์ของผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัว โดยมีวัตถุดิบของเส้นใยจากต้นรามี (Ramie) พืชพื้นเมืองที่ต้องลอกเอาเฉพาะเส้นใย นำมาย้อมสี และทอเป็นผืนผ้าด้วยเครื่องทอดั้งเดิม ที่กว่าเธอจะสามารถรวบรวมวิธีการปลูกต้นรามี นำเส้นใยมาย้อม และทอด้วยเครื่องทอดั้งเดิม กลุ่มคนที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์วิธีการทอผ้าของชนเผ่าไทหย่านั้นใช้เวลาร่วม 80 ปีทีเดียว

ไต้หวัน

 

“ไต้หวันเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มายาวนาน แต่ในประวัติศาสตร์ เราก็ถูกรุกรานจากจีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่นมาโดยตลอด ด้วยเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยถูกกัดกร่อนจากผู้ครอบครองในแต่ละยุค การทอผ้าด้วยวิธีการของไทหย่าจึงหายไปจากวิถีชีวิตของพวกเราถึง 80 ปี ฉันต้องไปค้นหาและเรียนรู้ว่าวิธีการปลูกต้นรามี วิธีการทอดั้งเดิมอย่างนี้จากยายขอฉัน จนกระทั่งหาเครื่องทอผ้าแบบนี้ต้องไปหาที่ไหน อย่างไร ฉันดีใจที่ความพยายามของฉันมีคนรุ่นใหม่อยากให้เรามีวิถีชีวิตของการทอผ้ากลับมาอีกครั้ง”

 

ยูมาเล่าถึงวันที่เธอเริ่มรู้สึกว่าลายผ้าทอมือของไทหย่าของเธอนั้นมีเอกลักษณ์และน่าหลงใหล ความเป็นอัตลักษณ์ในลายผ้าของไทหย่านั้น คือลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่จะแทรกผ่านอยู่ในเส้นใยในการถักทอทุกครั้งของสาวไทหย่า ซึ่งหมายถึงดวงตาของบรรพบุรุษที่เฝ้ามองวิถีชีวิตของชนเผ่าให้สืบต่อในรุ่นต่อไปนั่นเอง

 

โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้วความฝันของเธอส่งเสียงดังขึ้นเมื่อเธอจัดงานแฟชั่นโชว์ผ้าทอมือพื้นเมืองในหมู่บ้านเซียงปี๋ โดยกลุ่มคนผู้ร่วมอนุรักษ์ราว 100 คนที่ทุ่มเทกับการรื้อฟื้นวิถีชีวิตบรรพบุรุษให้กลับมา จนคนรุ่นใหม่ในไต้หวันฮือฮาในรากเหง้าของวัฒนธรรมไต้หวันว่า พวกเขามีที่มาที่ไปนับเนื่องได้กว่า 800 ปี ได้สร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ผ้าทอดั้งเดิมพื้นเมืองของไต้หวัน จนได้รับความสนใจจากกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันส่งเสริมให้หมู่บ้านเซียงปี๋ บริเวณพื้นที่หุบเขาของมณฑลเหมียวลี่ ประเทศไต้หวันของเธอเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่สนใจหมู่บ้านทางวัฒนธรรมบนเกาะเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าไต้หวัน

 

ไต้หวัน

 

หากถามว่า “วัฒนธรรมไต้หวัน” ในความเห็นของเธอคืออะไร ศิลปินสาวกล่าวว่า “คนส่วนใหญ่รู้จักไต้หวันผ่านเทคโนโลยีและไอที แต่ฉันว่าเราเป็นผู้แบ่งปัน เราสร้างมันขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เราเองเป็นผู้ส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ และฉันดีใจที่วันนี้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ในไทหย่าต่างให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับที่มาของพวกเรา

 

วันนี้เสียงทอผ้าสลับกับเสียงร้องเพลงดังขึ้นในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับที่มันเคยมีมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ประเทศไทยน่าอิจฉาที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ยังคงมีวัฒนธรรมหลากหลายมากมายที่สามารถอนุรักษ์และส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฉันคิดว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่มีรากเหง้า เช่นเดียวกับไต้หวัน”

 

ยูมาจบเรื่องราวการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทหย่าของเธอด้วยรอยยิ้ม เพราะวันนี้เธอมีโรงเรียนสอนเด็กรุ่นหลังถึงเส้นทางการทอผ้าของชนเผ่าไทหย่า ทั้งในระดับอนุบาลและมัธยม โดยเธอจัดงานแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมืองของไต้หวันทั้งในแคนาดาและยุโรปเหนือ ผลงานล่าสุดของเธอได้จัดแสดงอยู่ภายในท่าอากาศยานแห่งชาติไต้หวัน และยูมายังดำเนินธุรกิจสตูดิโอทอผ้าภายใต้ชื่อ หลี่หาง วีฟวิ่ง สตูดิโอ (Lihang Weaving Studio) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านเซียงปี๋ บริเวณพื้นที่หุบเขาของมณฑลเหมียวลี่ ประเทศไต้หวันอีกด้วย

 

ส่วนการแสดงผลงานของศิลปินสาวไทย ผศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กูรูด้านเท็กซ์เจอร์ผ้าที่หาตัวจับยากของเมืองไทย หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ University of South Australia ประเทศออสเตรเลีย และ ENSCI ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Birmingham Institute of Art and Design สหราชอาณาจักร

 

ปัจจุบัน ผศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล เป็นอาจารย์ประจำและดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิยาลัยศิลปากร ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เธอทำงานมาหลายรูปแบบ นอกจากเป็นศิลปินด้านสิ่งทอที่มีผลงานจัดแสดงหลายแห่งในหลายประเทศ เธอยังทำงานด้านออกแบบ งานเขียน ตลอดจนเป็นบรรณาธิการรับเชิญให้กับนิตยสาร Surface Design ของประเทศฮ่องกง ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับบริษัท บางกอก รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มโนรมย์ฟุตแวร์ จำกัด

 

“ความหลงใหลในงานผ้าเกิดขึ้น เมื่อชายผ้าตัวเองลุ่ย แต่พอมองในลายละเอียดของเส้นใยแล้ว มันเป็นเท็กซ์เจอร์ที่สวยมาก สาขาที่เลือกเรียน อาจดูไม่เกี่ยวข้องกันจบตรีภาพพิมพ์ จบโทด้านวิชวลอาร์ต จบเอกด้านแฟชั่น แต่อยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วมันคือเรื่องเดียวกัน ทุกอย่างต้องมีที่มาเหมือนกับเรื่องของผ้าเช่นกัน เราเป็นผ้า เป็นสีแดง แต่จริง ๆ เมื่อแยกลายละเอียดของเส้นใยออกมาแล้วมันมีสีอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ ส่วนตัวแล้วจึงชอบงานศิลปะที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม แล้วเราจะได้งานชิ้นใหม่ขึ้นมาที่มีเท็กซ์เจอร์องค์ประกอบอื่นที่สวยงามอีกชิ้นขึ้นมา” ผศ.ดร. น้ำฝนเผยถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ

 

สำหรับในงานนิทรรศการครั้งนี้นั้น เธอนำเสนอผลงานสีสันของเส้นใยที่สะท้อนจากแรงบันดาลใจของสภาพอากาศในไต้หวัน จากทะเล หุบเขา ในวันเวลาที่แตกต่างกัน ที่ให้สีสันที่แปลกตา ไปตามอารมณ์ของเส้นใยผ้า ควบคู่ไปกับการนำเอาเส้นใยเหล่านี้มาออกแบบเป็นรองเท้าสปริง-ซัมเมอร์ ในลุคโฉบเฉี่ยวที่เธอบอกว่า หลักการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเส้นใย เท็กซ์เจอร์ที่แตกต่างกัน 2 เท็กซ์เจอร์ เมื่อเอามาผสมผสานกันทุกครั้งจะได้คาแร็กเตอร์ใหม่ทุกครั้ง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เมื่อสิ่งเดิมและสิ่งใหม่มาหลอมรวมกันแล้วจะเกิดการส่งต่อที่ผสมผสานให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น

 

ไต้หวัน

 

“วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องผสมผสานระหว่างกันเสมอ ระหว่างสิ่งเดิมและสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ความสวยงามทุกอย่างมักมีที่มา เช่นเดียวกับลายผ้า เมื่อมองลึกลงไปในองค์ประกอบของมันแล้วมันมีความสวยงามในตัวเองเสมอ” ผศ.ดร. น้ำฝนกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ประเทศไต้หวันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 38 ของโลก และมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยเท่ากับ 8% ต่อปี ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของไต้หวันพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเพียง 3% ของ GDP แต่พึ่งพาภาคบริการถึง 73% ของ GDP และอุตสาหกรรมในประเทศไต้หวันส่วนใหญ่ จึงเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีก้าวหน้า

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ประเทศไต้หวันเป็นผู้เล่นในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นผู้นำในเวทีโลกก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างไรก็ตาม ธุรกิจของไต้หวันอย่างอุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ถือเป็นกลุ่มดาวรุ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ