โลกเข้าสู่ยุคดาวเทียมจิ๋ว

โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่คนทั่วๆ ไป สามารถที่จะผลิตและยิงดาวเทียมขนาดเท่ากล่องกระดาษทิชชู่ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทำงานได้อย่างหลากหลาย ทั้งถ่ายทอดคลื่นสัญญาณ ถ่ายภาพมุมสูง ตรวจสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก

สำนักข่าวเอบีซี รายงานว่า ดาวเทียมดวงจิ๋วนี้ประชาชนหรือนักเรียน บริษัทห้างร้านขนาดเล็กสามารถผลิตขึ้นมาได้เอง ด้วยเงินลงทุนไม่มาก โดยเทคโนโลยีสำหรับดาวเทียมประเภทนี้มีอยู่แล้วที่เรียกกันว่า คิวบ์แซท (CubeSat) ซึ่งมีความกว้างยาวเพียง 4 นิ้วหรือ 10 เซนติเมตร ซึ่งปกติแล้วใช้เฉพาะในแวดวงการศึกษา

เทคโนโลยีคิวบ์แซทนี้กำลังมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ เพื่อทำให้คนทั่วไปสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตและยิงดาวเทียมของตัวเอง โดยในปีนี้มีดาวเทียมคิวบ์แซท มากกว่า 20 ดวงที่จะมีการยิงขึ้นสู่อวกาศ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีติดสอยห้อยตามไปกับจรวดยิงดาวเทียมของรัฐบาลและเอกชน

Jordi Puig-Suari อาจารย์วิศวะจากสถาบันโพลีเทคนิคแคลิฟอร์เนียผู้ร่วมประดิษฐ์ คิวบ์แซท ให้สัมภาษณ์เอบีซี ผ่านอีเมล์ว่า ‘เราพยายามพัฒนาดาวเทียมจิ๋วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ใช้ในระบบการศึกษา และได้สร้างระบบดาวเทียมใหม่โดยไม่รู้ตัว’

เทคโนโลยีดาวเทียมคิวบ์แซท ที่พัฒนาขึ้นทำให้ดาวเทียมไม่ใช่สิ่งของที่องค์กรรัฐ หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เป็นเจ้าของได้แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป ประชาชนทั่วไปก็เข้าถึงและผลิตเพี่อใช้งานของตัวเองได้ โดยตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า นาโนซัสตีสไฟ (NanoSatisfi) ได้รวมรวบวิศวกรคอมพิวเตอร์เกษียณมาช่วยกันผลิตดาวเทียมคิวบ์แซท ด้วยมือในสำนักงานที่เป็นโรงรถเก่าได้สำเร็จ

ปีเตอร์ แพลทเซอร์ นักฟิสิกส์และคนเล่นหุ้นที่วอลล์สตรีต หนึ่งในผู้ก่อตั้ง นาโนซัสตีสไฟ กล่าวว่า กลุ่มของพวกเขาใช้เทคโนโลยีทุกอย่างที่มีอยู่ทั้งโทรศัพท์มือถือ หุ่นยนต์ ยานไร้คนขับในการประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก

‘เดิมพวกเราทำคอมพิวเตอร์ราคาถูกแบรนด์ Arduino ขาย ต่อมาจึงหันไปทำดาวเทียมจิ๋วเพื่อการใช้งานจริงๆ‘

01ดาวเทียมจิ๋วสองดวงแรกที่ นาโนซัสติสไฟ สร้างขึ้นชื่อ ArduSat ถูกปล่อยสู่อวกาศโดยดีดออกจากยานขนสินค้าของญี่ปุ่นที่ส่งขึ้นไปที่สถานีอวกาศนานาชาติที่ลอยลำอยู่ในวงโคจร เป็นดาวเทียมที่ใช้เงินลงทุนผลิตเพียงดวงละหนึ่งแสนดอลลาร์ (ประมาณสามล้านบาท) ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับราคาดาวเทียมทั่วๆ ไปที่ต้องใช้เงินไปร้อยล้านถึงพันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เงินลงทุนผลิตดาวเทียมดวงละหนึ่งแสนดอลลาร์นั้น ก็เป็นเงินจำนวนมากสำหรับคนธรรมดา แต่ก็มีบริษัทเวนเจอแคปิตอลให้การสนับสนุน โดยในส่วนของนาโนซัสติสไฟ แพลทเซอร์ ระบุว่า สามารถระดมทุนได้จาก Kickstarter ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้ระดมทุนจากประชาชนโดยตรง สำหรับโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ และบริษัทร่วมทุนประเภท เวนเจอร์แคปิตอลได้ ซึ่งตัวเขาและเพื่อนระดมมาได้หนึ่งล้านดอลลาร์สำหรับการผลิตดาวเทียมจิ๋ว

ดาวเทียมจิ๋ว ArduSat ทำงานได้หลากหลายในอวกาศ เนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ถึง 10 ตัว ทั้งตัววัดไกเกอร์เคาน์เตอร์ ตัววัดความเข้มของสนามแม่เหล็ก กล้องถ่ายรูป ฯลฯ โดยดาวเทียมตัวแรกใช้งานสำหรับโรงเรียน ส่วนอีกดวงเปิดให้เช่าสัปดาห์ละ 250 ดอลลาร์ โดยทางบริษัทได้พัฒนาแอพพ์มือถือที่ใช้กับดาวเทียมด้วย

ดาวเทียม ArduSat ทั้งสองดวงจะอยู่ในวงโคจรไม่กี่เดือนก่อนจะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและเผาไหม้ไปเอง

ในห้าปีข้างหน้า นาโนซัสตีสไฟ วางแผนที่จะยิงดาวเทียมจิ๋ว 150 ดวง ส่วนใหญ่จะใช้ในงานที่เกี่ยวกับการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนอย่างน้อย 500,000 คน สามารถใช้ดาวเทียมได้

ผู้ผลิตดาวเทียมจิ๋วอีกรายหนึ่งคือ Tim DeBenedictis ผู้ก่อตั้งบริษัท เซ้าท์เทิร์นสตาร์ส ซึ่งผลิตและยิงดาวเทียมจิ๋วในชื่อว่า SkyCube เป็นดาวเทียมที่เชื่อมต่อกับแอพพ์ของโทรศัพท์มือถือเพื่อให้คนทั่วๆ ไปสามารถส่งรูปและข้อความสั้นๆ จากอวกาศได้

ดาวเทียมจิ๋ว SkyCube ส่งขึ้นสู่อวกาศจากยานที่ขึ้นไปส่งสินค้าให้กับสถานีอวกาศนานาชาติเช่นเดียวกับดาวเทียม ArduSat และ Tim ก็ระดมเงินทุน 100,000 ดอลลาร์ จาก Kickstarter เหมือนกันส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะระดมจากสปอนเซอร์ โดยเมื่อดาวเทียมอยู่ในวงโคจรแล้วสปอนเซอร์สามารถส่งข้อมูลและรูปภาพผ่านดาวเทียมได้ใช้แอพพ์มือถือที่มีชื่อว่า SkyCube ได้โดยทางเซ้าท์เทิร์นสตาร์สคิดค่าส่งสัญญาณขึ้นลงครั้งละเพียง 1 ดอลลาร์

ดาวเทียม SkyCube มีอายุการทำงานประมาณ 3 เดือน โดยเมื่อครบกำหนดแล้วตัวดาวเทียมก็จะขยายลูกบอลลูนขนาดกว้าง 21 เมตร และให้ลอยกลับมาสู่พื้นโลกเพื่อการทำลายต่อไป โดยระบบการปรับทิศทางของดาวเทียมนี้ไม่ใช้เครื่องผลักดันทิศทาง ที่มีราคาแพงแต่ใช้อุปกรณ์ตัวเหวี่ยงแม่เหล็กและเข็มทิศ ทำให้มีต้นทุนที่ถูกมากสามารถยิงลูกใหม่ขึ้นไปทดแทนลูกเก่าได้ง่ายๆ

ผู้ผลิตดาวเทียมจิ๋วรายที่ 3 ที่ระดมเงินผ่าน Kickstarter เหมือนกันมีชื่อว่า KickSat เป็นดาวเทียมที่มีชิปคอมพิวเตอร์ 128 ตัวอยู่ข้างใน โดยชิปแต่ละตัวมีแผงโซลาร์เซลล์ มีตัวรับส่งสัญญาณวิทยุของตัวเอง ทำให้เมื่อล่องลอยอยู่ในอวกาศจะสามารถส่งสัญญาณที่รับได้บนพื้นโลก โดยมีสัญญาณที่แตกต่างกันทำให้รู้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน

KickSat ขึ้นสู่อวกาศโดยไปกับจรวดเอกชนของ SpaceX ในเที่ยวที่ส่งของขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ ของนาซ่า โดย Zachary Manchester นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เจ้าของโครงการ ระบุว่า นาช่าให้ส่งขึ้นอวกาศได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

Manchester กล่าวว่าทำโครงการ KickSat เพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าดาวเทียมมีขนาดเล็กเท่ากับแผ่นชิปคอมพิวเตอร์ได้

หนอนเว็บ Email : chaiyo.v@gmail.com