จับตา “โมเดลธุรกิจ” ของผู้นำโลก ภัยคุกคามเศรษฐกิจ

ขณะนี้ “Trade War” กลายเป็นสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุด เพราะอาจส่งผลเป็นโดนิโน่ล้มต่อกันมาถึงประเทศอื่น ซึ่งแนวคิดโมเดลธุรกิจของผู้นำโลกดังกล่าว จะเป็นการจุดประกายแนวคิดให้ประเทศอื่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ระบบ Globalization (โลกาภิวัตน์) คือ ผลจากการพัฒนาด้านต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในทุกมิติ ที่เชื่อมโยงไปยังผู้คนทั่วโลก ซึ่งถูกคิดค้นโดยอเมริกา และยังเป็นเจ้าขององค์ความรู้ทั้งหมด ก่อนจะถูกถ่ายทอดไปสู่ประเทศอื่นในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน โมเดลธุรกิจของประเทศจีนนั้น จุดเริ่มต้นจากการเปิดประเทศเป็นระบบทุนนิยม โดยให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างเสรี ซึ่งจีนมองว่าผู้ผลิตย่อมต้องการ “ลดต้นทุน” ในการผลิต

ดังนั้น จีนจึงแข่งขันโดยให้ชนชั้นแรงงานของตนมี “ค่าแรงต่ำ” และด้วยประชากรจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ย้ายฐานการผลิตไปยังจีน จนกระทั่งจีนกลายเป็น “Low Cost Producer”

ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนเรียกว่า “เครื่องจักรส่งออกของโลกที่ใหญ่ที่สุด”

อย่างไรก็ตาม อเมริกาได้รับประโยชน์จากระบบ Globalization เนื่องจากจีนช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงหันมาพัฒนาเทคโนโลยี และคิดค้นนวัตกรรมอันนำไปสู่การครอบครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดของโลก

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของระบบ Globalization

ระบบ Glabalization ส่งผลกระทบต่อ Low Cost Producer รายเดิม โดยเฉพาะประเทศซึ่งพึ่งพาการส่งออก เช่น ไทย เวียดนาม เป็นต้น นอกจากนั้นยังส่งผลด้านลบต่อสหรัฐฯ

เนื่องจากผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน ซึ่งค่าแรงถูกกว่า ทำให้แรงงานต้องสูญเสียงานและรายได้ ทำลายธุรกิจส่งออกภายในประเทศต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน จีนกลับได้รับผลประโยชน์จากระบบนี้เป็นอย่างมาก จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ และคู่แข่งอันน่ากลัวของสหรัฐฯ ในทุกวันนี้

จากเหตุการณ์ข้างต้น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald J. Trump) ได้หาเสียงด้วยนโยบายที่จะเปลี่ยนระบบ Globalization ทั้งระบบ จึงทำให้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45ของสหรัฐฯ โดยชูนโยบาย “America First”

ด้วยการปรับลดภาษีเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลซึ่งปรับลดลงจาก 35% เป็น 21% เพื่อให้ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตกลับสู่อเมริกา และกระตุ้นการลงทุน สร้างงานให้แก่แรงงานสหรัฐฯ

ในทางตรงกันข้าม ทรัมป์กลับมีนโยบายกีดกันการค้า โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนมูลค่าราว 200,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากพบความไม่เป็นธรรมจากจีน เช่น กฎหมายห้ามต่างชาติครอบครองกิจการ เกิดแรงกดดันให้บริษัทต่างชาติต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่จีน

ธุรกิจ

เมื่อผู้นำสลับขั้วโมเดลธุรกิจ ภัยคุกคามเศรษฐกิจ

ปัจจุบันนอกจากสหรัฐฯ หลายประเทศกำลังเริ่มเข้าสู่ Economic Nationalism (ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ) เริ่มจากประเทศอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างเสรี

ซึ่งการจุดประกายแนวคิดชาตินิยมนั้นเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นตามลำดับจากสหภาพยุโรป ซึ่งถึงแม้ว่า EU จะยังคงไม่ล่มสลาย แต่ก็ถือว่าเสียงประชากรจำนวนหนึ่งเห็นด้วยแนวคิดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้นโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ ส่งผลให้จีนหันมาลงทุนเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ทั้งโดยธุรกิจ Startup และธุรกิจบริการ อาทิเช่น การท่องเที่ยว ค้าปลีก เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ก็ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยส่งผลต่อธุรกิจส่งออกแรงงานบริการ หรือ Business Process Outsourcing: BPO ซึ่งเป็นรายได้หลักของฟิลิปปินส์ เนื่องจากประชากรมักจะเป็นแรงงานในบริษัทของอเมริกาเป็นส่วนใหญ่

โดยประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ Rodrigo Duterte ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความชาตินิยมเช่นเดียวกับทรัมป์ จะดำเนินงานด้านนโยบายต่างประเทศอย่างเสรี และโต้ตอบว่าจะไม่มีการพึ่งพาอเมริกาอีกต่อไป เพราะทรัมป์ต้องการให้บริษัทของอเมริกานั้นจ้างแรงงานชาติเดียวกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากมีการเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบ Globalization นั้นจะกระทบต่อการส่งออก และแรงงานในประเทศต่าง ๆ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามการค้า และความขัดแย้ง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจาก “Trade War” ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

ทำให้เรื่องความเชื่อของระบบประชาธิปไตยเสรีที่อเมริกาเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเองถูกทำลายลงด้วยฝีมือของผู้สร้างเอง

IMPACT

  • จากสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่ต้องอาศัยอเมริกาในการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต และอาศัยประเทศตะวันตก ในการเป็นตลาดรองรับสินค้าจากการผลิต
  • โมเดล “Thailand-Plus-One” ซึ่งประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยย้ายโอนชิ้นส่วนการผลิตไปยังเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมจากการที่อเมริกาจะตั้งกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งจะกระทบสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ไทยส่งไปจีน และจีนส่งต่อไปสหรัฐฯ
  • ธุรกิจส่งออกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้นโยบายยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบจึงต้องเริ่มมองหาตลาดใหม่ โดยเน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น และหาช่องทางในตลาดอาเซียนและตลาดอื่น ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การย้ายฐานไปในทำเลที่ได้เปรียบด้านภาษีและการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
  • ส่งผลต่อความเชื่อเรื่องระบบประชาธิปไตยเสรีในสายตาของคนไทย เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีแนวคิดชาตินิยมมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการเลือกตั้งของไทย หากประเทศที่มีแนวคิดดังกล่าว เศรษฐกิจขยายการเติบโตในเวลาต่อมา

ดังนั้น ทิศทางโมเดลของผู้นำโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจในประเทศอื่น จนทำให้ Business Model และ Economic Strategy ของหลายประเทศต้องเปลี่ยนแปลงไป อันก่อให้เกิดนัยสำคัญที่จะส่งผลให้วิถีการผลิต การค้า และการเงินของโลกที่เคยมีต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่าประเทศไทยจะหันเหไปในทิศทางใด หากผู้นำประเทศมีโมเดลธุรกิจนั้นเป็นต้นแบบ