โปรดระวังติดกรอบทางความคิด

ชีวิตของคนเรานั้นเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ตามประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมให้วิธีคิดของเรานั้นเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายคนอาจจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันตาม “Mindset” ของแต่ละคน

แน่นอนว่าโจทย์ใหญ่ขององค์กรทุกวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องสำคัญ คือ เรื่องจะทำอย่างไรให้องค์กรเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และจะทำอย่างไรเพื่อสามารถสร้างและรักษาคนเก่งให้ทำงานร่วม

หากลองสังเกตเราจะพบว่า แม้จะมีคนที่ตั้งใจทำงานเต็มที่ให้แก่องค์กร แต่เขากลับไปสร้างปัญหาให้อีกหน่วยงานหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งมาจากปัญหาที่เกิดจากการทำงานแบบ silos หรือ แยกหน้าที่ ต่างคนต่างทำ เพื่อให้งานของตนผ่านไปโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม

ส่วนใหญ่การแก้ปัญหานี้องค์กรมักจะแก้ที่ระบบ ด้วยการการจัดอบรมหรือสัมมนา ซึ่งหลังจากนั้นองค์กรส่วนใหญ่มักไม่ได้ส่งเสริมให้พนักงานนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปใช้งาน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง

แล้วสาเหตุที่แท้จริงนั้นมาจากไหน ?

จากการศึกษาและวิจัยพบว่าเราจะปรับพฤติกรรมบางอย่างให้ยั่งยืนได้ต้องอาศัย Mindset หรือกรอบทางความคิด

ซึ่งเปรียบเสมือนเลนส์ที่เราใช้มองโลก ซึ่งวิธีคิดและความเชื่อของแต่ละคน ที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของคนผู้นั้น

หากองค์กรต้องการให้พนักงานเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การให้พนักงานเข้าอบรม อาจได้ผลลัพธ์เพียงแค่ระยะสั้น เปรียบได้กับการป่วยและกินยา ซึ่งอาจได้ผลเพียงบรรเทาอาการ หากแต่สาเหตุยังไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างจริงจัง

จากสถานการณ์ดังกล่าว SEAC ได้ร่วมมือกับ The Arbinger Institute จากสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสถาบันชั้นนำของการสร้างและการเปลี่ยนแปลงองค์กรระดับโลก นำเรื่องการเปลี่ยน Mindset เข้ามาใช้ในประเทศไทยและองค์กรอีกมากมายในอาเซียน ด้วยความเชื่อที่ว่า

“เมื่อมุมมองและวิธีคิด หรือ Mindset เปลี่ยน พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนตาม ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการในท้ายที่สุด”

ทั้งนี้ ในเชิงทฤษฎีตามหลักพื้นฐานด้านเชิงจิตวิทยานั้น พบว่าบ่อยครั้งเมื่อเราประสบปัญหา จะพยายามแก้ไขปัญหาโดยโทษแต่สิ่งภายนอก ไม่ได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้วความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากตนเองทั้งสิ้น

กรอบความคิดที่หยุดเราไม่ให้ลงมือทำ

#1 I am not the cause of the matter – ฉันไม่ใช่สาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น

เช่น ถ้าเราถูกถามว่า “ทำไมคุณถึงมาสาย?” เราจะตอบว่าอะไรบ้าง “รถติด ไม่มีที่จอดรถ หลงทาง” เห็นได้ชัดว่าเวลาประสบปัญหา ธรรมชาติมนุษย์มักจะหาสาเหตุที่อยู่นอกตัวก่อน แต่ถ้าเรามองและเปิดใจเราจะเริ่มรู้สึกรับผิดชอบที่จะหาหนทางแก้ไขปรับปรุงมัน

#2 I don’t want to change – หรือลึก ๆ แล้วฉันไม่ได้อยากทำหรืออยากเปลี่ยน

คนเราเวลา “ไม่อยาก” ทำอะไร สมองมักจะสั่งการให้เรามี “เหตุผล” จริง ๆ แล้วเรากำลังหลอกตัวเองอยู่ โดยเรามักจะหาเหตุผลมาสนับสนุน “แรงขับเคลื่อนในการตัดสินใจ” มากกว่า  ซึ่งคนเราเวลาจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะต้องมีเหตุผลยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะพฤติกรรมใหม่ที่เราไม่คุ้นชิน ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งแรงจูงใจด้านบวกและด้านลบต่อกรอบทางความคิดของเรา

จากผลวิจัยดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า สิ่งที่มีผลต่อการลงมือทำของเราที่สำคัญ และหลายครั้งเป็นส่วนที่เรามักมองข้าม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมี Inward Mindset หรือการมองโลกผ่านเลนส์ที่มีเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก เสมือนว่าเราอยู่ในกล่อง ทำให้เรามักจะมองเห็นแค่ตนเอง โดยมองไม่เห็นคนอื่น

ทางออกคืออะไร ?

แค่หลุดออกจาก “นอกกล่อง” ด้วยการมี Outward Mindset นั้นเอง ซึ่งหมายถึง การที่เรามองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตนเอง จะทำให้ตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่า

“เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”

ซึ่ง Outward Mindset นั้นจะทำให้คนมองภาพรวม เช่น ผลสำเร็จขององค์กร ผลงานของทีม ทั้งยังจะก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ ความรู้สึกอยากให้มากกว่ารับ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมมากกว่า “ของใครของมัน”

การปรับเปลี่ยน Mindset จาก Inward เป็น Outward นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ กระบวนการของ Outward Mindset จะช่วยทำให้เรา “มองเห็น” และสามารถ “ปรับเปลี่ยน” พฤติกรรมทั้งที่เป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว และวิถีการทำงาน โดยคำนึงถึงเป้าหมายร่วมของตนเองและคนรอบข้าง รวมทั้งองค์กรเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะนำไปสู่การสื่อสารและการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเข้าใจ รวมถึงก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งขึ้นอย่างแท้จริง