“แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” มือปั้น “ภารตะพันล้าน”

“แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” มือปั้น “ภารตะพันล้าน” ความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ในยุคสมรภูมิทีวีดิจิทัลแข่งขันกันอย่างดุเดือด “เรตติ้ง” คือตัวตัดสินชี้ขาดในธุรกิจโทรทัศน์ และคอนเทนต์ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดเรตติ้งได้ดีที่สุดคือ ความบันเทิง อาทิละครและซีรีย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะซีรีส์จากอินเดียที่กลายมาเป็นแม่เหล็กดูดเรตติ้งให้กับช่องทีวีที่นำไปออกอากาศได้อย่างสวยงาม

ซึ่งในประเทศไทยมีผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ซีรีย์อินเดียเพียงหนึ่งเดียวคือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ “ภารตะพันล้าน” ได้ในเวลาไม่นาน

ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จหมดนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมของ “แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” CEO ไฟแรง ที่มองเกมขาดและสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัว สร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ยาเสพติดทางสายตา” ป้อนไปสู่แพลตฟอร์มต่าง ๆ พร้อมนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นสร้างมูลค่าเป็นบริษัทนับหมื่นล้านไปแล้ว

ครั้งนี้บิสิเนสพลัส ก็ได้รับโอกาสสุดพิเศษในการพูดคุยเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จ ซึ่งคุณแอนได้ย้อนเส้นทางธุรกิจของ “JKN” ว่า การที่ JKN สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในตลาดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ประเทศไทยดังเช่นปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจาก “ความฟลุ๊ค” หรือ “โชคช่วย” แต่ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ การวิเคราะห์ และการวางแผนอย่างเป็นระบบ

ซึ่งคุณแอนเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่าเมื่อ20ปีที่แล้วคุณพ่อได้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัว คือ โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ภายใต้ชื่อ ST Video ซึ่งเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายม้วนวิดีโอภาพยนตร์ต่างประเทศ วิดีโอตลก และสารคดี ให้กับร้านเช่าวิดีโอทั่วประเทศ ซึ่งในยุคนั้นม้วนวิดีโอได้รับความนิยมอย่างมาก

การที่เติบโตมากับร้านวีดีโอทำให้ คุณแอน ได้รับการหล่อหลอม และเปิดมุมมองในด้านต่าง ๆ จากภาพยนตร์ภายในร้าน โดยเฉพาะภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทั้งจากฮอลลีวูด ฮ่องกง และอินเดีย ที่ทำให้ได้เห็นโลกที่กว้างกว่าเด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน

“หากเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน คนอื่นมักจะชอบออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน แต่ตนชอบดูวิดีโอมากกว่า เพราะทำให้ได้มุมมอง แนวคิด และความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงได้เรียนภาษาไปในตัวจากการได้อ่านคำบรรยายภาษาไทย พร้อมกับฟังภาษาอังกฤษไปด้วย กระทั่งทำให้เกิดความคิดอยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะชอบเรียนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก”

คุณแอนได้รับการศึกษาจาก ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา และเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ จนจบระดับปริญญาตรี ในวัยเพียง 20 ปีก่อนกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งตรงกับช่วงที่วิดีโอกลายเป็นดาวร่วงและดีวีดีเข้ามาแทนที่คุณแอนจึงเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภค และเริ่มซื้อลิขสิทธิ์สารคดีจาก BBC ชุด WALKING WITH DINOSAURS ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับโลกดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์เข้ามาจำหน่าย แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ชนิดที่เรียกว่า ขายแทบไม่ได้เลย

“ยอมรับว่า รู้สึกสูญเสียความมั่นใจมาก เพราะเพียงแค่โปรเจ็กต์แรกก็ล้มเหลวเสียแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และปกติเป็นคนมองในด้านบวกเสมอ ซึ่งความล้มเหลวในครั้งนั้น ทำให้ได้เรียนรู้การทำธุรกิจในหลายแง่มุม พร้อมกับให้บทเรียนชีวิตด้วย เพราะต้องยอมรับว่าร้านเช่าวิดีโอดัง ๆ ในขณะนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นภาพยนตร์ดัง ๆ ฟอร์มใหญ่ แทบจะไม่มีใครรับสารคดีเข้าร้านเลย สุดท้ายได้ไอเดียจากการดูรายการขายสินค้าทางโทรทัศน์ จึงไปเสนอกับทางรายการ เพื่อขายวิดีโอชุดดังกล่าว แบบไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ในที่สุดก็สามารถขายได้ถึง 1 ล้านชุด”

จากความสำเร็จของ WALKING WITH DINOSAURS ที่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้คุณแอนตัดสินใจนำเข้าลิขสิทธิ์สารคดีของ BBC เพิ่มขึ้น พร้อมกับขยายไปในกลุ่มของ History และ National Geographic จนได้ลิขสิทธิ์ในกลุ่มสารคดีดัง ๆ มาไว้ในมือทั้งหมด

Turning Point

จากนั้นไม่นานเมื่อโลกเทคโนโลยีเข้าสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้ง จึงทำให้เกิดความคิดว่า หากต้องการประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ สิ่งสำคัญต้องเรียนรู้ที่จะ “ปรับตัว” ตามเทคโนโลยีที่มีการ Transform อยู่ตลอดเวลา จึงได้เริ่มออกเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีการจัดงานแสดงเกี่ยวกับคอนเทนต์ทั่วโลก ซึ่งได้เห็นรูปแบบของธุรกิจนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง

กระทั่งในปี 2005 จึงตกผลึกแนวคิดว่า สิ่งที่เราจะขายต่อไปนั้นไม่ใช่ม้วนวิดีโออีกต่อไป แต่คือสิ่งที่อยู่ในนั้น นั่นก็คือ “คอนเทนต์” นั่นเอง

คุณแอนเล่าถึงจุดเปลี่ยน (Turning Point) ที่ทำให้มุ่งสู่ตลาดคอนเทนต์อย่างเต็มตัว มาจากการได้เข้าไปเสนอขายสิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทั้งภาพยนต์และสารคดี เพื่อผลิตเป็นแผ่นซีดีขาย จากนั้น “อากู๋ – ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” จึงได้ชวนทำธุรกิจร่วมกัน ด้วยการเปิดบริษัทในชื่อ บริษัท เอสทีจีเอ็มเอ็ม จำกัด แล้วเปิดช่องทีวีดาวเทียมชื่อ JKN ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจทีวีของ JKN อย่างเต็มตัว

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะทำธุรกิจทีวีดาวเทียม แต่ความเชี่ยวชาญด้านการขายคอนเทนต์ยังคงมีอยู่ และจุดพลิกผันอีกครั้งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีการเปิดประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล จำนวน 24 ช่อง เมื่อปี 2556 ซึ่งนับได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับ JKN สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดทันที เพราะถือลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่หลากหลายเอาไว้ในมือจำนวนมาก ทั้งสารคดี ซีรีส์ และภาพยนตร์ต่างประเทศ

“จากจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มขึ้น ย่อมต้องการคอนเทนต์ เพื่อนำไปฉายในช่องของตัวเองมากขึ้นด้วย และสิ่งที่เราคิดในตอนนั้น ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราเดินมาถูกทางที่มุ่งหน้าสู่ธุรกิจขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์อย่างเต็มตัว เพราะสามารถขายคอนเทนต์ให้กับช่องทีวีดิจิทัลได้เกือบทุกช่อง และสามารถสร้างเรตติ้งให้กับช่องที่นำคอนเทนต์ไปฉายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังทำให้ JKN ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทมหาชน และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัยพ์ เอ็ม เอ ไอ ด้วยการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย”

สำหรับจุดเด่นคอนเทนต์ที่ JKN ถือลิขสิทธิ์อยู่คือ เป็นคอนเทนต์ที่ซื้อสำเร็จรูปมาจากทั่วโลก และเป็นสิทธิ์แบบ Output Deal จากเจ้าของสิทธิ์ ทำให้ JKN มีสิทธิ์ในการเลือก Content จากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเป็นบริษัทแรก และเป็นแบบ Exclusive จนปัจจุบันได้รับฉายาให้เป็น “เจ้าแม่กินรวบ” ไปแล้ว เพราะทุกช่องสถานีโทรทัศน์ล้วนแต่ซื้อลิขสิทธิ์จาก JKN ไปออกอากาศ เรียกว่าเปิดช่องไหนก็ต้องเห็นซีรีส์ของ JKN แน่นอน

คุณแอน อธิบายให้ฟังว่า ข้อดีของการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป คือ ราคาถูกกว่าการต้องผลิตคอนเทนต์เอง แถมยังสามารถนำมาออกอากาศได้เร็วกว่า และทำให้ได้เรตติ้งมากกว่าด้วย ยกตัวอย่าง ซีรีส์อินเดีย เรื่องหนุมาน สงครามมหาเทพ นับเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้เรตติ้งช่อง 8 พุ่งขึ้นอย่างมาก ดีกว่าละครไทยหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำ

“อย่ายึดติดอยู่กับการ Transformation แต่จง Enjoy กับ Transformation ด้วยมุมมองใหม่ ๆ เพราะการ Transformation อาจจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ก็ได้ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การหมุนเวียนของวัฏจักรสื่อนั้น เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นหากต้องการที่จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ จะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้”

คุณแอนย้ำว่า ไม่ว่าธุรกิจสื่อหรือแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ JKN ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าเจ้าของแพลตฟอร์มที่เราแบ่งเป็น 7 ช่องทาง เพราะที่สุดแล้วช่องทางต่าง ๆ จะต้องมาซื้อคอนเทนต์จาก JKN เพื่อนำไปส่งต่อสู่สายตาประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตนเองอย่างแน่นอน เพราะทีวีจะต้องมีคอนเทนต์ จึงจะมีคนเปิดดู หากไม่มีคอนเทนต์ที่โดนจริตคนดู และไม่สามารถสร้าง “ยาเสพติดทางสายตา” ให้กับผู้ชม สุดท้ายทีวีก็เป็นแค่เครื่องประดับบ้านเท่านั้น


ตลาดคอนเทนต์ไทยเล็กไปแล้ว ติดปีกสู่ผู้นำคอนเทนต์ระดับโลก

แม้วันนี้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าคอนเทนต์รายใหญ่ของประเทศ แต่สำหรับคุณแอนแล้ว “ตลาดไทยคงไม่พอ” โดยเป้าหมายต่อไปของ JKN อยู่ที่การขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก โดยขณะนี้ได้เริ่มเดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการนำคอนเทนต์ไปขายให้กับลูกค้าในกลุ่ม CLMV แล้ว โดยจะมีคอนเทนต์ที่เป็นละครไทยจากช่อง 8 และช่อง 3 ในขณะเดียวกันซีรีส์ที่นำมาจากทั่วโลกไม่ได้ติดสัญญาขายเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถขายไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ทั้งหมด รวมไปถึงฮ่องกงและไต้หวันด้วย

โดยโรดโชว์แรกที่นำคอนเทนต์ไปเปิดตลาดที่ประเทศฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับดีมาก โดยสามารถขายลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดียได้หมด แต่ในส่วนละครไทย อาจจะต้องใช้เวลาสร้างตลาดและการรับรู้อีกระยะ เพราะในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ได้ซึมซับและรับอิทธิพลจากอินเดียมานานแล้ว

“ต้องยอมรับว่า ซีรีส์อินเดียสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วกว่าละครไทย เพราะมีวัฒนธรรมที่มีรากเหง้ามาจากอินเดียเหมือนกับประเทศไทยนั่นเอง”

คุณแอน ย้ำว่า สิ่งที่ทำให้ซีรีส์อินเดียในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามาแรง นอกจากคนไทยจะคุ้นชินกับเนื้อเรื่องและวัฒนธรรมของอินเดียแล้ว ยังมาจากคุณภาพของโปรดักส์ชั่นมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจคอนเทนต์ที่จะสามารถอยู่ได้ในระยะยาว นั้น คุณภาพจะต้องมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องหยุดไม่ได้

พร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่า ซีรีส์เกาหลี เริ่มจะหยุดอยู่กับที่ เพราะบทไม่มีอะไรใหม่ ที่ยังอยู่ได้เพราะตัวนักแสดง ในขณะที่ซีรีส์อินเดียเริ่มมาแรง และเชื่อว่าจะอยู่ได้อีกนาน นั่นเพราะ

  • ปัจจุบันมีคนอินเดียอยู่ทั่วโลกประมาณ 2,000 ล้านคนที่เป็นฐานผู้ชมภาพยนตร์อินเดีย
  • มีเงินทุนมหาศาลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์อินเดีย ทำให้ได้โปรดักชั่นระดับโลก
  • อินเดียนับได้ว่าเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องแต่งกาย และศาสนา ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้ง่าย

แน่นอนว่า ปัจจุบัน JKN ถือลิขสิทธิ์จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นสตูดิโอระดับโลก ทั้ง 4 รายของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น FOX India, Sony Pictures Networks India, ZEE และ VIACOM เรียกว่าปิดทางคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว

นอกจากการจองซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดียแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ทาง JKN ยังมีโปรเจ็กต์ใหญ่ที่จะเปิดตัวในปีนี้ คือ จะมีโปรดักชั่นร่วมกับทางอินเดีย โดยวางแผนการผลิตยาวไปถึงปี 2024 ด้วยคอนเทนต์ที่จะออกมานับสิบโปรดักชั่น ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ใหญ่มากสำหรับ JKN

“การเข้าไปทำ Co-Production ร่วมกับทางสตูดิโอที่ดินเดีย จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่จะทำให้ JKN ก้าวไปสู่ความเป็นเจ้าของคอนเทนต์เอง ด้วยการลงทุนสร้างเอง แล้วนำออกไปขายทั่วโลก ไม่เพียงแค่ในไทยหรือในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น”

สุดท้าย คุณแอน เชื่อมั่นว่า ธุรกิจขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์จะยังเป็นธุรกิจที่จะเติบโตได้ต่อไป เพราะคนจะยังเสพหรือบริโภคคอนเทนต์อยู่เช่นเดิมไม่ว่าแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์จากฮอลลีวูดที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขื้นทุกปี นั่นแสดงให้เห็นว่า ตลาดยังมีความต้องการ

และที่สำคัญภาพยนตร์จากฮอลลีวูดที่ได้รับการยอมรับ เพราะมาจากการเขียนบทและการสร้างที่ดี ซึ่งหากบทสนุก การถ่ายทำดี เชื่อว่าคนดูก็ยังจะติดตามดูต่อไป แต่หากไม่มีการพัฒนาเหมือนวงการภาพยนตร์ฮ่องกง ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย แต่ไม่มีการพัฒนา สุดท้ายคนดูก็จะเลิกติดตามและอุตสาหกรรมก็ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่น่าติดตามอีกต่อไป